Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ทางเท้าจะเล่าเรื่องที่ชุมชนพึงหรือไม่พึงปรารถนา

ทางเท้าจะเล่าเรื่องที่ชุมชนพึงหรือไม่พึงปรารถนา

แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ประกวดภาพถ่าย “ทางเท้า…เล่าเรื่อง”

ทางเท้าจะเล่าเรื่องที่ชุมชนพึงหรือไม่พึงปรารถนา

รายงานโดย กวิน ชุติมา เลขาธิการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

เช้าวันอังคารที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) ร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, กรุงเทพมหานคร, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรมประกวดภาพถ่ายทางเท้าเล่าเรื่องและแนวคิดต่อทางเท้าและสภาพแวดล้อมที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนาของชุมชน ขึ้นที่ลานกิจกรรม สสส. ชั้น 35 อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย ที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินงานมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ด้วยการสนับสนุนทุนจาก สสส.

ช่วงต้นเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประกวดภาพถ่ายทางเท้าครั้งนี้ โดย ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย คุณกวิน ชุติมา รองประธานและเลขาธิการชมรมฯ และอาจารย์กฤษณะพล วัฒนวันยู เจ้าของโครงการ ซึ่งมีการอธิบายว่า แม้ภาพที่ส่งเข้าประกวดจะเป็นภาพทางเท้าที่ใดก็ได้ในประเทศไทย และจะเป็นทางเท้าที่มีการใช้ประโยชน์หลายด้าน ไม่เพียงแต่ใช้เดิน ก็ได้ แต่ก็จำกัดเฉพาะทางเท้าที่คนสร้างขึ้นและให้ความสำคัญถึงร้อยละ ๗๐ กับเรื่องราวความเป็นมาและความสัมพันธ์ของทางเท้าในภาพถ่ายนั้นกับผู้ใช้งานหรือชุมชนที่ทางเท้านั้นตั้งอยู่

กติกาของการประกวดครั้งนี้มีง่ายๆ คือ ผู้สนใจแต่ละคนสามารถส่งภาพถ่ายในรูปแบบ digital file JPEG ขนาด ๗๒ dpi เพื่อใช้ในการคัดเลือกเบื้องต้น เข้าประกวดได้ ๒ ประเภทคือ ทางเท้าที่ทำให้เกิด “ความประทับใจ” และทางเท้าที่ทำให้เกิด “ความสะเทือนใจ” ประเภทละ ๒ ภาพ พร้อมคำบรรยายภาพละ ๕๐ คำ โดยบอกด้วยว่าสถานที่ในภาพเป็นที่ใด ส่งภาพเข้าประกวด(รวมทั้งดูรายละเอียดเพิ่มเติม)ได้ที่ www.thaicyclingclub.org จนถึงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๕ กรรมการจะตัดสินและมอบรางวัลในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๕ ในขั้นต้นนี้มีเงินรางวัลรวมทั้งสิ้น ๕๔,๐๐๐ บาท และผู้จัดกำลังหารางวัลอื่นๆมาเพิ่มเติมอีก

จากนั้นเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดมุมมอง “ทางเท้าในฝันของเราทุกคน” โดย ดร.วรสิทธิ์ ตันตินิพันธ์กุล จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. เล่าประสบการณ์การเป็นหนึ่งในคณะผู้ออกแบบทางเท้าย่านพหลโยธิน ซึ่งว่ากันว่าเป็น “ทางเท้าต้นแบบของกรุงเทพฯ” ตามมาด้วยนายสมนึก นิ่มเคี่ยม นายช่างโยธาชำนาญงาน หัวหน้ากลุ่มงานโครงการก่อสร้างและบูรณะ ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตพญาไท ที่เล่าถึงความพยายามของเขตพญาไทในการจัดการทางเท้าให้เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ของทุกคน ปิดท้ายด้วย ผศ.กรินทร์ กลิ่นขจร จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งพูดถึงทางเท้าในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะในเมืองที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้

อาจารย์กรินทร์บอกว่า เรามองเมืองอย่างไร ให้ความสำคัญกับอะไร การออกแบบและการสร้างทางเท้าก็จะเป็นอย่างนั้น เดิมนั้นเมืองเป็นที่อยู่ของคน ทางที่มีอยู่ก็มีไว้ให้คนใช้ ถนนทั้งหมดก็คือทางเท้า แต่พอมีรถยนต์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทางก็ถูกเอาไปให้รถ คนถูกกันไปอยู่ริมถนนเกิดเป็นทางเท้าเฉพาะขึ้น ถนนที่เคยเป็นพื้นที่สาธารณะของคนเมืองถูกเปลี่ยนไปเป็นของยานยนต์ การออกแบบทางคือถนนและองค์ประกอบต่างๆ รวมทั้งทางเท้าก็เลยคิดถึงยานยนต์เป็นหลัก ไม่ได้คิดถึงคน แนวคิดนี้พัฒนาการมาเรื่อยจนเป็นกระแสที่ครอบงำ ดูอย่าง พ.ร.บ.จราจรทางบกก็กลัวรถยนต์มาก

อาจารย์บอกว่าตนเองรู้สึกสะเทือนใจมากที่ยังมีการประกวดการออกแบบทางเท้า (ไม่ใช่การประกวดภาพถ่ายอย่างในกิจกรรมนี้) เพราะมันเป็นตลกร้าย “ป่านนี้ยังไม่รู้เลยหรือว่าทางเท้าที่ดีเป็นอย่างไร” ทางเท้าไม่ได้มีไว้ให้เดินอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่สาธารณะของคนทุกผู้ทุกวัย ช่วง ค.ศ. ๑๙๕๐-๑๙๗๐ มีหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อ Blaming the Victims แปลว่าการโทษความผิดไปที่เหยื่อ ซึ่งเป็นโยบายที่เมืองไทยใช้มากที่สุด เช่น เมื่อผู้หญิงถูกข่มขื่นก็โทษความผิดไปที่ผู้หญิงว่าแต่งตัวล่อแหลม ไปเดินที่เปลี่ยว ฯลฯ ทั้งที่ควรจะไปโทษคนที่ข่มขืน ฯลฯ หรือเมื่อจัดการทางเท้าไม่ได้ก็ไปไล่หาบเร่แผงลอย “มีปัญหาอะไร ราชการจะไปออกฤทธิ์กับชาวบ้านคนเล็กคนน้อย” ดังนั้นไม่อยากให้การประกวดภาพถ่ายทางเท้าครั้งนี้เป็นการโทษความผิดไปที่เหยื่ออย่างที่ราชการการมักทำ

อาจารย์กรินทร์สรุปว่า รัฐไม่มีนโยบายทางเท้า ไม่มีมาตรฐานทางเท้า มีแต่มาตรฐานในด้านวัสดุก่อสร้าง วิธีการสร้าง ส่วนแบบให้ผู้รับเหมาคิดเอาเอง สถาปนิกที่ออกแบบถ้าไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนที่ใช้ทางเท้าก็จะออกแบบมาแย่ การสำรวจความพึงพอใจและความต้องการของคนเดินเท้าได้ผลออกมาต่างไปจากที่คิดไว้ เช่น เขาต้องการไฟส่องสว่างมากกว่ากล้องโทรทัศน์วงจรปิด เพราะไฟส่องสว่างจะช่วยป้องกันอาชญากรรม ทำให้ปลอดภัย ส่วนกล้องโทรทัศน์เอาไว้ติดตามคนร้ายเมื่อเกิดอาชญากรรมแล้ว, เขาอยากได้ทางม้าลายมากกว่าสะพานลอย ฯลฯ ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องทางเท้าแก้ไม่ยาก ขอให้ผู้ใหญ่ที่เป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะทำอะไรมาใช้ทางเท้าดูบ้าง และผู้ปฏิบัติมีหลักคิดสามประการคือ ขอให้ใส่ใจ เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจ “ถ้าคิดเช่นนี้คุณจะสร้างทางเท้าที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ไม่เป็น” เช่น ทางเท้าที่ทางลาดชันเกินไป หรือลื่น หรือไม่เรียบ

ในช่วงปิดท้ายการเสวนา อาจารย์วรสิทธิ์แสดงความคิดเห็นว่า ทางเท้า(และถนน)เป็นพื้นที่สาธารณะที่ต้องให้บริการทุกคน ต้องเป็นพื้นที่ที่มีชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของชุมชน ในเมืองไทยคิดเป็นโปรเจ็ค(โครงการ) ไม่ได้คิดว่าคนใช้เป็นอย่างไร ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการ ทางเท้าในต่างประเทศก็มีสิ่งที่จะเป็นปัญหาเยอะแยะ ทำไมเขาจัดการได้ เมืองไทยจัดการไม่ได้ ที่เมืองไทยทำไม่ได้นั้นเป็นเพราะวิธีคิด(Mindset)ของส่วนงานราชการที่ไม่เห็นความสำคัญของคน ข้าราชการก็ต้องทำตามไป ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดของส่วนงานราชการ ก็เปลี่ยนการปฏิบัติของข้าราชการไม่ได้…

หลังการเสวนา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนหนึ่งได้ลงมาดูสภาพทางเท้าริมถนนพหลโยธินจากอาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ไปสถานีรถไฟฟ้าสนามเป้า อาจารย์กรินทร์ได้ชี้ให้ดูปัญหาของทางเท้าที่สร้างอันตรายให้กับคนเดินเท้าได้และมีอยู่มากมายแม้เพียงในระยะสั้นๆ รวมทั้งสาเหตุ ในขณะที่เดินดูกันอยู่นั้น คุณลุงคนหนึ่งที่ใช้ไม้เท้าช่วยเดินผ่านมา ได้บอกกับเราด้วยว่า ทางเท้าไม่เรียบเลย อันตรายมาก… นี่คือเสียงของคนเดินเท้าที่ส่วนงานราชการจะไม่ฟังบ้างหรือ?

อย่างไรก็ตาม ขอเชิญทุกท่านส่งภาพถ่ายเข้าประกวดเพื่อสะท้อนประสบการณ์ของท่านทั้งด้านบวก(ประทับใจ)และด้านลบ(สะเทือนใจ) มาแบ่งปันให้คนในสังคมนี้ทราบ ช่วยกันกระตุ้นความสนใจต่อพื้นที่สาธารณะที่เป็นของเราทุกคนนี้และทำให้ “ทางเท้าในฝัน” เป็นจริงขึ้นมาในประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น