ที่ จสท.044/2555
วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
เรื่อง ข้อคิดเห็น ต่อ ร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๙๓
เรียน คุณวิจารย์ สิมาฉายา
เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ตามที่สำนักประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดการประชุมรับฟังความเห็นต่อร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๙๓ ที่โรงแรมโซลทวินทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร ไปเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ส่งนายกวิน ชุติมา เลขาธิการ ชมรมฯ เป็นตัวแทนเข้าร่วมและแสดงความคิดเห็นแล้วนั้น คณะกรรมการชมรมฯ เห็นเป็นการสมควรที่จะเสนอความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานอีกทางหนึ่งด้วยดังนี้
โดยภาพรวม การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorized Transport – NMT) ในชีวิตประจำวันของประชาชน เป็นมาตรการที่สอดคล้องทุกประการกับสาระสำคัญของแผนแม่บทดังกล่าว เช่น
– เป็นการสอดคล้องกับพันธกิจข้อ ๒ “สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนและผล ประโยชน์ร่วมกัน (co-benefits)”
– เป็นการ “สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ดังที่ระบุในวิสัยทัศน์และเป้าหมาย
– เป็นการนำ‘แผนแม่บทไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่ต้องการการลงทุนต่ำในขณะที่มีประสิทธิภาพสูง (Low Investment, High Efficiency)’
– สามารถวัดความสำเร็จตามตัวชี้วัดข้อ ๒ “อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงของทุกภาคส่วน” ได้
ดังนั้นชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยจึงเสนอให้ปรับปรุงแผนแม่บทฯ ให้ส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน หรือการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ ดังนี้
๑) เพิ่มตัวชี้วัดความสำเร็จในยุทธศาสตร์ที่ ๒ คือ “ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งลงไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๕ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓” ควบคู่ไปกับตัวชี้วัดข้อที่ ๒ ที่ว่าด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน
๒) ในกรอบการดำเนินงานระยะเร่งด่วน ๕ ปี ข้อ ๗ ควรปรับปรุงข้อความจากเดิม “พัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งระบบราง และทางน้ำ รวมทั้ง เชื่อมต่อการขนส่งทางถนนให้มีประสิทธิภาพ” เป็น “พัฒนาระบบการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์(การเดินและการใช้จักรยาน)ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งที่เป็นระบบรางและไม่ใช่ระบบรางรวมทั้งการขนส่งทางน้ำ และการเชื่อมต่อการขนส่งที่ไม่ใช้เครื่องยนต์กับการขนส่งสาธารณะ รวมทั้งการขนส่งทางถนนทั่วไป ให้มีประสิทธิภาพ”
๓) ในกรอบการดำเนินงานระยะยาว ๑๐ ปีขึ้นไป ควรเพิ่มมาตรการดำเนินงาน “ส่งเสริมและสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางในระยะสั้นของประชาชนเป็นการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์และยั่งยืนด้วยการเดินและการใช้จักรยาน”
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาปรับปรุงแผนแม่บทฯ ดังกล่าวตามข้อเสนอข้างต้น และเมื่อได้ผลประการใด โปรดแจ้งกลับไปยังชมรมฯ ด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ
ศาสตราจารย์กิติคุณ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ผู้ก่อตั้งและประธาน
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย