Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ต่างชาติชี้โครงสร้างพื้นฐาน-ผังเมืองไม่เอื้อ ฝันไทย ‘เมืองจักรยาน’ ยังอีกไกล

ต่างชาติชี้โครงสร้างพื้นฐาน-ผังเมืองไม่เอื้อ ฝันไทย ‘เมืองจักรยาน’ ยังอีกไกล

เลขาธิการสหพันธ์ ECF ถอดบทเรียน ชี้ไทยติดปัญหาให้ความสำคัญใช้รถยนต์เป็นหลักในการคมนาคมมาตั้งแต่แรก บวกกับบังคับใช้กม.ผังเมือง-จัดระเบียบถนนไม่จริงจัง ‘เมืองจักรยาน’ จึงยังอยู่ในจุดเริ่มต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยจัด “การสัมมนาเชิงปฏิบัติการการเดินและจักรยาน : บทเรียนรู้และประสบการณ์จากสหพันธ์ผู้ใช้และนักจักรยานแห่งยุโรป (EUROPEAN CYCLISTS’ FEDERATION : ECF) ขึ้น ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ   เขตราชเทวี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย

ดร.เบอร์ฮาร์ด เอ็นซิงค์ เลขาธิการ ECF   ถ่ายทอดบทเรียนรู้และประสบการณ์จาก ECF ที่มีเป้าหมายส่งเสริมให้การขี่จักยานเป็นวิถีการคมนาคมขนส่งและนันทนาการที่ยั่งยืนและทำให้สุขภาพดี ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ หรือประเทศไทยแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยุโรปเป็นเมืองจักรยานคือการมีโครงสร้างพื้นฐาน หมายถึงถนนและการออกแบบผังเมืองอย่างเป็นระบบ โดยให้ความสำคัญต่อการเดินเท้าและการขี่จักรยานมากกว่าการใช้รถยนต์

“ปัญหาที่สำคัญอย่างมากของเมืองไทย คือ การให้ความสำคัญต่อการใช้รถยนต์เป็นหลักในการคมนาคมมาตั้งแต่แรก กับปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับผังเมืองและการจัดระเบียบถนนที่ไม่จริงจัง ขณะที่เมืองอย่างนิวยอร์ค หรือสิงคโปร์ ที่มีลักษณะทางกายภาพค่อนข้างโล่ง มีพื้นที่เปิดกว้าง การเดินและการขี่จักรยานทำได้ง่ายและสะดวกกว่าเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ทั้งที่ทั้งสองเมืองมีความหนาแน่นของประชากรมากกว่ากรุงเทพฯด้วยซ้ำ แต่เพราะเขาออกแบบเมืองให้ที่ผู้อยู่จุดใดจุดหนึ่งของเมืองสามารถทำงานและธุรกรรมที่สำคัญอื่น ๆ ได้ในรัศมีพื้นที่ 5 กิโลเมตร ต่างจากกรุงเทพฯ ที่คนซื้อบ้านอยู่ชานเมืองแล้วขับรถเข้ามาทำงานในตัวเมือง จึงเกิดปัญหารถติด” ดร.เบอร์ฮาร์ด กล่าว

เลขาธิการสหพันธ์ผู้ใช้และนักจักรยานแห่งยุโรป กล่าวต่อว่า การขี่จักรยานในที่นี้หมายถึงการใช้จักรยานในการเดินทางไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติ ไม่ใช่การรวมกลุ่มปั่นจักรยานเชิงกีฬาที่ต้องแต่งชุดกีฬาที่รัดกุม เพราะนั่นเป็นภาพที่คนไทยมักคิดว่าจะเป็นสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ ประเทศไทยในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงจุดเริ่มต้นของการไปสู่ความเป็นเมืองจักรยาน  ดังนั้นรัฐจึงควรเริ่มจากการสร้างถนนที่ดี ซึ่งหมายถึงถนนมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้จักรยาน และถนนต้องสามารถเชื่อมตรงไปยังจุดต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก เช่นระบบขนส่งมวลชน จากนั้นจึงค่อยทำการกระตุ้นชักจูงให้คนหันมาขี่จักรยานมากขึ้น โดยเชื่อว่า เมื่อมีถนนที่เอื้อต่อการเดินและการขี่จักรยานอย่างสะดวกปลอดภัยแล้ว คนก็จะอยากขี่จักรยานมากขึ้นเอง

ด้านนายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานบอร์ดรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ในฐานะผู้เข้าร่วมสัมมนา กล่าวถึงการนำความสำเร็จของยุโรปมาเป็นต้นแบบ เพื่อจะคิดผลักดันการใช้จักรยานให้เป็นนโยบายสาธารณะสำหรับประเทศไทย ต้องคำนึงถึงบริบททางสังคม วิถีชีวิตแบบเอเชียด้วย เช่น ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน สถานที่ทำงานควรมีที่อาบน้ำเพื่อรองรับผู้ที่ขี่จักรยานมาทำงาน ขณะเดียวกันการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ควรเอาความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง แล้วรัฐต้องสนองตอบความต้องการนั้น มิฉะนั้นนโยบายบางอย่างก็จะสูญเปล่า ไม่มีคนปฏิบัติตาม เพราะไม่ตรงกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ

คนพิการสะท้อนแก้หาบเร่แผงลอยก่อน

จากนั้น มีการจัดวงสัมมนากลุ่มย่อย ระดมความคิดหาแนวทางร่วมกันเพื่อผลักดันการเดินและจักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย โดยวงสัมมนากลุ่มหนึ่งที่มีผู้พิการร่วมอยู่ด้วยได้นำเสนอแนวคิดว่า การที่กรุงเทพฯหรือประเทศไทย จะเป็นเมืองจักรยานแบบยุโรปอาจยังดูเป็นเรื่องที่ไกลเกินไป เราควรหันมาจัดการกับปัญหาที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดก่อน  คือ ปัญหาทางเท้าถูกยึดครองโดยหาบเร่แผงลอย ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้การคมนาคมขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์คือการเดิน ต้องลำบาก โดยเฉพาะคนพิการจะลำบากมาก พร้อมกับยกตัวอย่างปัญหาหาบเร่แผงลอยบนทางเท้าสยามสแควร์ รวมถึงทางเท้ารอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่เริ่มมีหาบเร่แผงลอยหนาแน่นมากขึ้น เป็นปัญหาที่ควรจัดการอย่างเร่งด่วน ถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นต้นแบบสำหรับการแก้ปัญหาในพื้นที่อื่น ๆ

ชู ม.มหิดล สำเร็จส่งเสริมขี่จักรยาน

นอกจากนี้ ผ.ศ.ธิติพันธุ์ ตริตระการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นมหาวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการขี่จักรยาน เนื่องจากมีทางเท้าที่กว้างขวาง ถูกออกแบบมาสำหรับคนทุกประเภทตั้งแต่ต้น ทั้งคนเดิน คนพิการ และคนขี่จักรยาน

“เราต้องการทางขี่จักรยานหรือทางเท้าที่ดีขึ้นกันแน่ การจะทำให้คนจำนวนมากหันมาใช้จักรยานต้องมีวัตถุประสงค์ให้ชัด ต้องคิดให้ชัดเจนว่าสิ่งที่จะสร้างขึ้นจะเอาไปทำอะไร และใครต้องการมันจริง ๆ เราต้องคิดให้ครบถ้วนสำหรับคนทุก ๆ คน” ผ.ศ.ธิติพันธุ์กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา ,

วันจันทร์ที่ 08 ตุลาคม 2012 เวลา 07:05 น. เขียนโดย เสกสรร โรจนเมธากุล http://www.isranews.org/index.php?option=com_flexicontent&view

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น