Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชมรมร่วมสำรวจและกำหนดแนวทางการสร้างเส้นทางจักรยาน สจล. – สถานีรถไฟฟ้าลาดกระบัง

ชมรมร่วมสำรวจและกำหนดแนวทางการสร้างเส้นทางจักรยาน สจล. – สถานีรถไฟฟ้าลาดกระบัง

   วานนี้ (๓๐ มกรา ๕๖) ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย โดยคุณกวิน ชุติมา เป็นผู้แทน เข้าร่วมสำรวจและกำหนดแนวทางการสร้างเส้นทางจักรยานเชื่อมต่อระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระมงกุฎเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กับสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ลาดกระบัง ตามมติที่ประชุมกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ ๙ ม.ค. ที่ผ่านมา (ดูข่าวในเว็บไซต์นี้)

   ผู้เข้าร่วมการสำรวจและกำหนดแนวทางครั้งนี้ นอกจากผู้แทนชมรมฯแล้วก็ประกอบด้วยคุณอนุศักดิ์ จักรปั่น หัวหน้าหมวดการทางลาดกระบัง กรมทางหลวง, อาจารย์โสภณ ผู้แทน สจล., ดร.ประพัทธ์พงศ์ อุปลา ผู้แทนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล., คุณกฤช กุลสิงห์ จากทีมงานจัดทำคู่มือการสัญจรจักรยาน โครงการพัฒนารูปธรรมของพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ(ชุมชนจักรยาน) และคุณเพ็ญศรี เหลืองอร่ามศรี กับเจ้าหน้าที่อีกหนึ่งคนจากสำนักนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง (สนข.)

    การสำรวจเริ่มต้นที่บริเวณทางเข้า สจล. จากถนนคู่ขนาน(ฝั่งใต้)ของมอเตอร์เวย์ คณะสำรวจเห็นตรงกันว่าให้ทางจักรยานเป็นทางที่แยกออกเด็ดขาดจากการจราจรของยานยนต์โดยมีเครื่องกั้น (bike path หรือ segregated bike lane หรือที่ทางสากลนิยมเรียกกันว่า “แบบดัทช์” [Dutch Style] ซึ่งเป็นรูปแบบทางจักรยานที่ให้ความปลอดภัยสูงสุดกับผู้ใช้จักรยาน)แบบทางคู่ให้ขี่จักรยานสวนกันได้สะดวก โดยมีรูปแบบทั่วไป ๓ แบบคือ (๑) ในช่วงที่เขตทาง ๔ เมตรของกรมทางหลวงยังเป็นพื้นที่ว่างไม่มีการใช้ประโยชน์ สามารถใช้ได้เต็มที่ ก็จะทำเป็นทางแอสฟัลท์กว้าง ๒.๕๐ เมตร ติดไฟส่องสว่าง และปลูกต้นไม้เสริมให้มีร่มเงาในบริเวณที่ไม่มีต้นไม้ (๒) บริเวณที่มีสะพานอยู่เดิม จะทำเป็นสะพานของจักรยานโดยเฉพาะยื่นขนานไปกับสะพานเดิม กว้าง ๑.๕๐ เมตร หากสะพานจักรยานยังทำไม่เสร็จเมื่อทางจักรยานส่วนอื่นเสร็จแล้วก็จะปรับทำทางลาดให้ขี่จักรยานบนทางเท้าของสะพานไปพลางก่อน และ (๓) บริเวณที่เดิมมีทางเท้าอยู่ แต่ไม่มีคนใช้เนื่องจากโดยรอบเป็นพื้นที่ว่างเปล่าหรือเป็นทางเท้าบริเวณหน้าบ้านคน จะปรับพื้นผิวทางเท้าให้เป็นทางจักรยานที่ราบเรียบ กว้าง ๑.๕๐ เมตร เอาต้นไม้พุ่มเตี้ยหรือมีกิ่งต่ำออก ปลูกแทนด้วยไม้ต้นที่ให้ร่มเงา ส่วนป้ายต่างๆให้ย้ายออกหรือติดสูงขึ้นไปอย่างน้อยสองเมตร เสาต่างๆ ที่กีดขวางเส้นทางข้างต้นก็จะย้ายออกไป รวมทั้งเสาไฟฟ้าด้วย  นายช่างของกรมทางหลวงจะนำแนวทางทั้งหมดนี้ไปออกแบบในรายละเอียดและใช้งบประมาณของกรมทางหลวงในการก่อสร้าง

เริ่มต้นการหารือ จุดเริ่มต้นเส้นทางจักรยาน ทางเท้าที่จะเป็นทางจักรยาน
ทางจักรยานจะอยู่ระหว่างแนวต้นไม้ระหว่างไหล่ทาง ที่จอดจักรยานบริเวณสถานีรถไฟฟ้าลาดกระบัง ที่จอดจักรยานถูกจักรยานยนต์ยึดครอง

ในส่วนสุดท้ายเมื่อมาถึงสถานีรถไฟฟ้าลาดกระบัง จะมีการเปิดช่องทางให้เข้าบริเวณสถานีได้สองทาง โดยทางสถานีกำลังก่อสร้างอยู่แล้วช่องทางหนึ่ง สำหรับที่จอดจักรยานซึ่งมีอยู่เดิม แต่ปัจจุบันได้ปล่อยให้จักรยานยนต์เข้ามาจอดได้ ทำให้จักรยานต้องไปจอดกระจัดกระจาย ก็จะมีการจัดการใหม่ให้เป็นที่จอดจักรยานโดยเฉพาะและให้มีการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น (ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ รปภ.ได้ตั้งโต๊ะอยู่ตรงที่จอดจักรยานนี้อยู่แล้ว)

สำหรับทางจักรยานและที่จอดจักรยานใน สจล. นั้น ให้อยู่ในการพิจารณาของผู้บริหาร สจล. ในการตัดสินใจ ออกแบบและก่อสร้างเพิ่มเติมตามที่เหมาะสมจากที่มีอยู่แล้วส่วนหนึ่งในปัจจุบัน โดยใช้งบประมาณของ สจล.เอง

บริเวณคอสะพาน บริเวณสะพาน

    เมื่อทาง สนข. ได้ทำบันทึกการสำรวจครั้งนี้ส่งให้กรมทางหลวงเป็นทางการแล้ว หน่วยงานกรมที่รับผิดชอบพื้นที่คือสำนักบำรุงทางหลวงพิเศษและแขวงการทางกรุงเทพฯ จะนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป คาดว่าการออกแบบและก่อสร้างทางจักรยานเส้นนี้จะเริ่มได้ในอีกไม่นาน

หารือการทำทางจักรยานบริเวณที่เป็นสะพาน หารือการทำทางจักรยานบริเวณที่เป็นพื้นที่กว้าง ทางเข้าสถานีรถไฟฟ้าลาดกระบัง

รายงานโดย กวิน ชุติมา

30  มกราคม 2556

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น