ข้อเรียกร้องในประเด็นการเดินทางของกลุ่มคนพิการต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการเลือกตั้ง ๓ มีนาคม ๒๕๕๖
๑. ข้อเสนอต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยสรุปคือทำให้ทางเท้าเป็น “ทางเท้า” ที่คนทุกกลุ่มในสังคมสามารถใช้ได้จริงๆ อย่างปลอดภัย โดย
- ให้ กทม.นำหลักการการออกแบบที่เป็นธรรม (Universal Design) มาใช้ในงานโยธาทั้งปวง และปรับปรุงสภาพแวดล้อมแก้ไขอุปสรรคที่มีอยู่ให้คนทุกกลุ่มสามารถเดินทาง เข้าถึงและใช้ประโยชน์สถานที่ต่างๆได้จริง
- จัดอบรมบุคลากรของ กทม. (และองค์กรที่ให้การบริการต่างๆ) ให้มีเจตคติที่ถูกต้องต่อคนพิการว่าคนทั่วไปกับคนพิการสามารถอยู่ร่วมกันได้ และให้ความรู้ในการปฏิบัติต่อคนพิการ เพื่อให้สามารถให้บริการที่เหมาะสมต่อคนพิการได้
- มีมาตรฐานการออกแบบและการสร้างทางเท้า โดยให้คนพิการมีส่วนร่วมในการกำหนด ทั้งในด้านความกว้าง ความเรียบ วัสดุก่อสร้าง ทางลาดเมื่อมีการเปลี่ยนระดับ มีสัญลักษณ์บอกว่าทางเท้าเส้นทางนี้จัดให้ใครใช้ตรงส่วนไหน ฯลฯ หากทางเท้าใดยังไม่ได้มาตรฐานก็ให้ปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานให้มากที่สุด ทางลาดควรกว้างเท่ากับความกว้างของทางเท้า หากจำเป็นต้องมีสิ่งกีดขวางบนพื้นทางเท้า ให้จัดระเบียบนำไปอยู่แนวเดียวกันทั้งหมดชิดด้านหนึ่งด้านใดของทางเท้า ในขณะที่จัดการให้สิ่งแขวนห้อยลงมาเหนือทางเท้าให้สูงในระดับที่ปลอดภัยต่อคนเดินเท้าและไม่ให้มีน้ำหยดไหลจากอาคารลงมาบนทางเท้า การรดน้ำต้นไม้หรือทำความสะอาดทางเท้าให้ทำในเวลาที่ไม่มีคนใช้ทางเท้า
- มี “จุดเชื่อมต่อ” ให้คนพิการสามารถเข้าถึงสถานที่ราชการและสถานที่สาธารณะทุกแห่ง โดยเฉพาะที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. และให้ กทม.ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือขอความร่วมมือสถานที่เอกชนให้ทำตามเช่นกัน และให้คนพิการได้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ(รถประจำทาง รถไฟ รถไฟฟ้า)สะดวก เช่น มีลิฟท์ให้บริการที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกแห่ง
- สำหรับการข้ามถนน หากเป็นทางม้าลายก็ให้มีสัญญาณตามมาตรฐานสากล ทั้งไฟ เสียง และตัวหนังสือ ถ้ามีเกาะกลางให้เจาะช่องผ่านในระดับเดียวกับถนน และให้มีช่องพักก่อนขึ้นทางลาดบนทางเท้า หากเป็นสะพานลอยข้ามถนน ให้มีทางลาดที่เรียบและไม่ลื่น ราวไม่ลื่นไม่ร้อนลวกมือตอนกลางวัน มีหลังคา เน้นจุดที่มีคนพิการใช้มาก และหากเป็นอุโมงค์ลอดถนนก็ให้มีทางลาดและราวเกาะ
- ทำห้องน้ำสาธารณะที่คนพิการสามารถใช้ได้ตรงจุดเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะหรือมาใช้ในการสัญจรมาก
- จัดให้คนพิการและผู้สูงอายุสามารถเดินทางทางน้ำได้
- ขอให้ผู้สมัคร(และผู้ที่ได้รับเลือก)เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครบอกคนทั่วไปว่า ในกรุงเทพฯ มีคนพิการอยู่และพวกเขาอยากออกมาใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับคนอื่นๆเช่นกัน
๒. ประเด็นเร่งด่วนที่ กทม.ควรทำทันทีในปี ๒๕๕๖
- ปรับปรุงทางเท้าให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการทำให้เรียบ การจัดระเบียบสิ่งกีดขวาง และการมีทางลาดที่เหมาะสมในบริเวณที่คนพิการใช้มากทันที เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พระโขนง คลองเตย ประตูน้ำ สยามสแควร์ จตุจักร เยาวราช และสถานีรถไฟฟ้าทุกแห่ง (สถานที่ที่ควรพิจารณาในปีต่อๆไปได้แก่ สถานที่ราชการ โรงพยาบาล ย่านเศรษฐกิจ และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ)
- บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วอย่างจริงจัง ไม่ให้จักรยานยนต์ขึ้นมาแล่นและรถยนต์ขึ้นมาจอดบนทางเท้า และการจัดระบบการขายสินค้าบนทางเท้าทั้งแผงที่ยื่นออกมาจากร้านและแผงลอย ให้มีพื้นที่ทางเท้าที่คนเดินได้-รถเข็นผ่านได้ อย่างสะดวกแน่นอน
๓. ประเด็นการศึกษาวิจัย
- ศึกษาพื้นที่ดำเนินการเร่งด่วนให้เป็นตัวอย่างในการปรับปรุงทางเท้าให้เหมาะสมและบังคับใช้กฎหมาย เสนอให้พิจารณาแยกตึกชัย ซึ่งมีโรงพยาบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับคนพิการ
- ศึกษาเพื่อจัดลำดับความสำคัญทางเท้าที่ต้องการการปรับปรุง
- ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำสาธารณูปโภคลงไปอยู่ใต้ดิน
- สำรวจจุดที่ควรจะมีและศึกษาความเป็นไปได้ในการทำจุดเชื่อมต่อทางเท้ากับพาหนะในการเดินทางและจุดเชื่อมต่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงย่านพาณิชย์ ย่านชุมชน สวนสาธารณะ เช่น ย่านปทุมวัน ย่านเยาวราช
- ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดแบ่งการใช้พื้นที่ทางเท้าร่วมกันระหว่างคนเดินเท้ากับผู้ค้าขาย
- สำรวจความพึงพอใจในการปรับปรุงทางเท้าเมื่อได้ดำเนินการแล้ว
- ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ กทม. ตามข้อเสนอของคนพิการ
(หมายเหตุ: ข้อเสนอข้างต้นนี้สรุปจากการประชุมระดมความเห็นจากตัวแทนกลุ่มคนพิการเมื่อวันที่๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ที่ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิค (APDC) ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนคนพิการจาก ๑๒ องค์กรคนพิการ ได้แก่ องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค, มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย, สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย, สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, มูลนิธิคนพิการไทย, สมาคมผู้พิการแห่งประเทศไทย, สมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ, มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย, สมาคมคนพิการพัฒนาตนเอง กรุงเทพมหานคร และชมรมคนพิการกรุงเทพมหานคร)
รายงานโดยกวิน ชุติมา
11 ก.พ.56
1 | 2 |
3 | 4 |
5 | 1. ก่อนเวทีจะเริ่ม…ชมวีดีทางเท้า…เล่าเรื่อง
2. แบ่งกลุ่มย่อยระดมความเห็น กลุ่ม 1 3. แบ่งกลุ่มย่อยระดมความเห็น กลุ่ม 2 4. สรุปกลุ่มย่อย นำเสนอประเด็นความเห็นจากกลุ่มคนพิการ 5. เสร็จกิจกรรม ถ่ายภาพร่วมกัน …. |
“ปั่น2ล้อ”วอนว่าที่ผู้ว่าฯ
ยกจักรยานเทียบรถยนต์
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าว “มติชน” ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากกลุ่มชมรม และเครือข่ายต่างๆว่าอยากให้ผู้ว่าฯกทม.ทำอะไรเพื่อคนกรุงเทพฯ ทั้งนี้พบว่าส่วนใหญ่อยากให้พัฒนาคุณภาพชีวิติ ……………………………..
(ติดตามภาพกิจกรรมการจัดระดมความเห็นจากกลุ่มคนพิการ http://www.thaicyclingclub.org/multimedia/album/detail/1646)
จากหนังสือมติชนรายวัน
ฉบับวันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556 ,คอลัมน์ การเมืองในประเทศ