หน่วยงานราชการตอบรับมติสมัชชาสุขภาพเรื่องเดิน-จักรยาน
เมื่อเวลา ๑๓:๓๐ – ๑๖:๐๐ น. ของวันศุกร์ที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ ภายในกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ได้มีการประชุมหารือระหว่างหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ที่ได้ผ่านการรับรองจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ดังที่เคยแจ้งให้ทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว
ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยผู้แทนจากหลากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี, กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานนโยบายและแผนการจราจรขนส่ง กระทรวงคมนาคม, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง, สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร, ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยมี นพ. ณรงศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพ (คมส.) เป็นประธานในที่ประชุม
นพ.ณรงศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพ (คมส.) เป็นประธานในที่ประชุม |
ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากหลากหลายหน่วยงาน |
จากการปรึกษาหารือ ตัวแทนหน่วยงานราชการต่างๆที่เข้าประชุมส่วนใหญ่ต่างได้ตอบรับในเชิงบวก ทั้งนี้ บางประเด็นของมติเป็นเรื่องที่หน่วยงานได้ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การส่งเสริมการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยการเดินและการใช้จักรยานกับระบบขนส่งสาธารณะ และการสนับสนุนการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน
กุญแจสำคัญ คือ การทำความเข้าใจกับคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับมติสมัชชาสุขภาพฯ หน่วยงานราชการจักสามารถรับไปปฏิบัติ และมีแผนรวมทั้งงบประมาณรองรับได้ เช่น การให้ความรู้ที่เน้นให้ความสำคัญต่อผู้เดินเท้าและผู้ใช้จักรยานในการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับขี่ยานยนต์ทุกชนิด, การแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงออกตามความใน พรบ.ควบคุมอาคาร ให้ผู้เป็นเจ้าของอาคารขนาดใหญ่และอาคารสาธารณะ รวมทั้งสถานีขนส่งสาธารณะ ต้องจัดให้มีที่จอดจักรยานที่สะดวก ปลอดภัย และเพียงพอ, และการให้สถานศึกษามีหลักสูตรให้ความรู้และพัฒนาทักษะเกี่ยวกับการเดินและการใช้จักรยาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนหน่วยราชการ ผู้เข้าร่วมประชุมบางคนชี้แจงว่าหน่วยงานราชการของตนไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพฯที่ได้รับรองไว้ และได้เสนอชื่อหน่วยงานอื่นที่เหมาะสมกว่า เช่น ในส่วนของการประสานงานและจัดทำยุทธศาสตร์หรือนโยบายสาธารณะนั้น หน่วยงานที่เหมาะสมควรเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มากกว่าสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีตามที่ปรากฏในมติของสมัชชาฯ
ข่าวคืบหน้าเป็นประการใด เราจะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อไป
“งาน คสช. เป็นงานประสานนโยบาย ไม่ใช่งานของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง ทิศทางการทำงานพัฒนาแผนหรือยุทธศาสตร์ ต้องข้ามหน่วยงาน ต้องเป็นการทำงานทางนโยบายที่สำคัญ ไม่เช่นนั้น คสช. จะกลายเป็นเหมือนหน่วยปฏิบัติการเสียเอง ซึ่งไม่ใช่ภารกิจของคสช. เรื่องเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการภาวะผู้นำการขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานนโยบายข้ามสาขา เพราะมีหลายกระทรวง หลายองค์กรเขาเป็นเจ้าของงาน เป็นเจ้าของเรื่องอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการร่วมทำงานระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ร่วมกัน ถ้าทำได้เช่นนั้นก็จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีมากในการทำงานสุขภาวะระดับชาติ” ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว กรรมการสุขภาพแห่งชาติผู้ทรงคุณวุฒิ |
กวิน ชุติมา
ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรม
โครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย
รายงาน
12 มีนาคม 2556