เรื่องยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน ตามนโยบายของรัฐบาล คงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเหมาะสม (เช่น การใช้งบประมาณสร้างเด็กที่มีพื้นฐานการศึกษาดี เทียบกับการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ทำรถไฟความเร็วสูง) ความเดือดร้อนทางสังคม (พ่อแม่ต้องส่งเด็กไปเรียนไกลบ้าน ในขณะที่โรงพยาบาลบางแห่งส่งหมอและพยาบาลไปรักษาคนไข้ถึงชุมชน แทนที่จะให้ชาวบ้านเดินทางมาโรงพยาบาล) ความคุ้มทุน (งบประมาณพัฒนาโรงเรียนเล็กเทียบกับงบประมาณสำหรับโครงการรถคันแรก) ฯลฯ
ผลของการถกเถียงไม่ว่าจะออกมาอย่างไร รัฐบาลก็คงเดินหน้าโดยไม่จำเป็นต้องฟังเสียงทักท้วง ดังโครงการต่างๆที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการจำนำข้าว โครงการ 3.5 แสนล้านสำหรับการจัดการน้ำใน 5 ปี ฯลฯ
ผมจึงขออนุญาตคิดเอาเองไปก่อนว่า โครงการนี้เดินหน้าต่อไปแน่ เพราะอย่างไรเสียพรรคฝ่ายค้านก็มีเสียงไม่มากพอที่จะคานหรือค้านได้อย่างมีเนื้อมีหนัง
เมื่อจะเดินหน้าต่อ รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ได้วางแผนจัดการกับปัญหาการขนเด็กไปเรียนที่ต่างถิ่นเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะคิดได้ครบถ้วนกระบวนการ โดยไม่รอให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยมาหาวิธีการแก้ไขในภายหลัง
มาตรการที่ว่าคือเตรียมงบประมาณสำหรับจัดหารถตู้ไว้รับส่งเด็กจำนวน 1,000 คัน (ข้อความดังปรากฏในหนังสือพิมพ์ประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2556) และเรื่องนี้แหละเป็นเรื่องที่ผมอยากจะขอพูดถึง
รัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าจะให้เอกชนเข้าประมูลรับไปจัดการแทนรัฐ ซึ่งจะประหยัดงบประมาณรัฐได้มาก ไม่ต้องเสียเงินไปกับรายจ่ายต่างๆ โดยเฉพาะค่าซ่อมบำรุงรถ ผมฟังแล้วก็รู้สึกแปลกๆ เพราะในเชิงวิศวกรรมแล้วรถ
ทุกคันต้องมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และเมื่อมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เกิดขึ้น อย่างไรเสียก็ต้องมีคนจ่าย เมื่อเอกชนรับไปดูแลและต้องจ่ายเงินไปกับการนี้ มีหรือที่เขาจะไม่มาเก็บเอาจากรัฐ การประหยัดที่ว่าจึงมองไม่ออกจริงๆ ว่าประหยัดได้อย่างไร ถ้าพูดถึงหากให้รัฐบาลซ่อมเองจะรั่วไหลได้มากกว่า นั่นก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องจ่ายเกินจริง ไม่ใช่ประหยัดค่าใช้จ่าย
เรื่องที่สอง รัฐมนตรีกล่าวเสริมด้วยว่า อาจจัดงบประมาณจัดซื้อจักรยานให้เด็กขี่ไปโรงเรียนและขี่กลับบ้านด้วย ซึ่งเรื่องนี้ผมในฐานะผู้ก่อตั้งและประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ที่ได้รณรงค์ให้เกิดการใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวันของชุมชน ซึ่งรวมถึงนักเรียนมาโดยตลอด ขอแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เป็นอย่างยิ่ง แต่รัฐมนตรีไม่ควรใช้เพียงคำว่า ‘อาจ’แต่หากต้องใช้คำว่า ‘ต้อง’จัดหาจักรยานให้เด็กนักเรียนในจำนวนที่มากพอ และด้วยคุณภาพที่ดีพอ
ขอเสียทีเถิด อย่าได้ซื้อจักรยานคุณภาพต่ำ ราคา 700 – 800 บาท ไปให้เด็กนักเรียนใช้เลย ยกเว้นท่านมีแผนจะจัดซื้อทดแทนใหม่ทุก 6 หรือ 8 เดือน เพราะจักรยานคุณภาพต่ำนั้นใช้แล้วไม่คุ้มทุน ชำรุดเสียหายง่าย และเมื่อชำรุดเสียหายก็กลายเป็นเศษซากเหล็กกองอยู่ตามมุมต่างๆของชุมชน ดังที่เห็นได้อยู่ทั่วประเทศ
ถ้าจะซื้อให้ใช้ได้ไปอีกอย่างน้อย 5-7 ปี ขอให้ซื้อในราคาไม่ต่ำกว่า 2 พันบาท เพื่อให้ได้จักรยานคุณภาพดีมากพอที่จะใช้งานได้จริง มิใช่ใช้ไป ทิ้งไปแบบ ‘จักรยานยืมเรียน’ที่สมัยก่อนๆได้ทำเอาไว้
คราวนี้ผมขอมาวิเคราะห์ความคุ้มทุนให้ดู
จากตารางที่ผมคำนวณมาให้ดูจะเห็นว่า หากใช้รถตู้ 1,000 คัน จะใช้งบจัดซื้อ 1,000 ล้านบาท เสียค่าซ่อม + ค่าประกัน + ค่าน้ำมัน ปีละ 85ล้านบาท และรถ 1,000 คันนี้ต้องวิ่งไปกลับถึงวันละ 12เที่ยว สำหรับขนนักเรียนประมาณ 225,000 คน ที่ต้องย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอื่นๆ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ที่จะทำให้นักเรียนที่ขึ้นรถเที่ยวสุดท้ายไปโรงเรียนได้ทันเวลาเคารพธงชาติ พูดง่ายๆก็คือไปโรงเรียนสายนั่นเอง
แต่หากเราจัดหาจักรยานคุณภาพดีมากให้กับนักเรียนทุกคนที่ต้องย้ายไปเรียนที่โรงเรียนใหม่ จำนวน 225,000 คนนั้น รัฐจะสิ้นเปลืองงบประมาณไปเพียง 450 ล้านบาท ถูกกว่ารถตู้กว่าครึ่ง แถมไม่เสียค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง จะมีก็แต่ค่าบำรุงรักษา ที่ผมได้คิดเผื่อไว้แบบเวอร์ๆ ก็ได้ราคาเพียง 45 ล้านบาท/ปี ซึ่งถูกมากกว่ากรณีรถตู้อีกเกือบเท่าตัว แถมการซ่อมจักรยานโดยคนในพื้นที่ยังจะเป็นการสร้างอาชีพและก่อรายได้ให้ชุมชนอีกด้วย
นอกจากนี้เด็กนักเรียนยังสามารถมีเวลารดน้ำ พรวนดิน ให้อาหารไก่-ปลา ก่อนไปโรงเรียน เพราะเด็กจะสามารถเลือกกำหนดเวลาที่จะออกจากบ้านได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องไปยืนตากแดดรอรถตู้มารับ ซึ่งจะว่าไปก็เป็นการสอนไม่ให้เด็กรู้จักการพึ่งตัวเองไปเสียด้วยซ้ำ
ระยะทางที่เด็กจะขี่จักรยานไปโรงเรียน สมมุติให้สูงสุดเฉลี่ยไม่เกิน 5 กิโลเมตร ซึ่งเด็กจะใช้เวลาประมาณ 4 นาทีต่อ 1 กิโลเมตร (ซึ่งถือว่าไม่เร็วเลย เด็ก 8 ขวบ 10 ขวบก็ทำได้) หรือประมาณ 5x 4 =20นาทีต่อเที่ยว หรือ 20×5 =100 นาทีต่อสัปดาห์ ถ้าคิดไปกลับก็ 200 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ 150 นาทีต่อสัปดาห์สำหรับการออกกำลังกายให้มีสุขภาพดีเสียด้วยซ้ำ
สรุป คือหากใช้วิธีจัดหาจักรยานให้เด็กนักเรียน รัฐใช้งบน้อยกว่าซื้อรถตู้ครึ่งหนึ่ง ค่าซ่อมถูกกว่า 1 เท่า เด็กมีสุขภาพดีกว่า ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพได้ดีกว่า รู้จักการจัดการเวลาได้ดีกว่า มีเวลากับครอบครัวมากกว่า วิถีชีวิตชุมชนดีกว่า สร้างวัฒนธรรมการพึ่งพาตนเองได้ดีกว่า ฯลฯ
เรียกว่าดีกว่าในแทบทุกมุมมอง จึงไม่ควรเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะไปจัดหารถตู้มารับนักเรียน(ที่โชคร้ายอยู่แล้ว ที่ต้องไปเรียนที่โรงเรียนต่างถิ่น) แล้วทำให้เด็กนักเรียนเสียโอกาสในการเรียน ‘ชีวิต‘ ไปพร้อมๆกัน แต่ควรจัดหาจักรยานให้กับเด็กๆ ซึ่งจะดีแก่สังคมและชุมชนท้องถิ่นได้มากกว่า
ภาพจาก facebook คุณบัณฑิต ปิ่นมงคลกุล ภาพจากโรงเรียนบ้านหินโหง่น จ.อุทัยธานี ตัดต่อภาพโดย webmaster
(โครงการ Bike to School: บ้านไม่ไกลปั่นจักรยานไปโรงเรียนกันเถอะ)
ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ผู้ก่อตั้งและประธาน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
10 พฤษภาคม 2556