TCC โกอินเตอร์ไปอีกก้าว
ทีซีซีจะนำผลงานส่วนหนึ่งที่ได้จากงานวิจัยที่ชมรมฯได้ทำมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไปนำเสนอที่ที่ประชุมนานาชาติด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในระหว่างวันที่ 25-29 สิงหาคม 2556
การประชุมที่ว่านี้มีชื่อเป็นทางการว่า The International Union for Health Promotion and Education (IUHPE) ครั้งที่ 21 โดยมีผู้นำด้านสุขภาพจากทั่วโลกมาเข้าร่วมประชุมกันอย่างล้นหลาม และเป็นการประชุมทั้งด้านวิชาการและการเสวนา ซึ่งรูปแบบคล้ายกับการประชุม Thai Bike and Walk Forum ครั้งที่ 1 ที่ชมรมฯได้จัดขึ้นที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา
นักวิจัยได้ร่วมกับชมรมฯส่งบทคัดย่อไปให้กรรรมการคัดเลือกว่ามีคุณภาพเพียงพอต่อการนำไปเสนอต่อที่ประชุมระดับโลกแบบนี้หรือไม่ จำนวน 5 ชิ้น ซึ่งจากการคัดเลือกถึง 2 รอบ โดยกรรมการนานาชาติ ผลปรากฏว่า ผลงานของชมรมฯและนักวิจัยได้รับคัดเลือกจำนวนทั้งหมด 5 ชิ้น ซึ่งเท่ากับผลสัมฤทธิ์สูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม
ผลงานชิ้นแรกที่จะขอกล่าวถึง คือ Public Policy Movement on Cycling and Walking in Thailand หรือการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะว่าด้วยการเดินและจักรยานในประเทศไทยโดยเน้นถึงกระบวนการที่ชมรมฯได้ดำเนินการผ่านสมัชชาสุขภาพจนสามารถผลักดันให้เป็นมติออกมา ซึ่งจะได้นำไปสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป ผู้นำเสนอผลงานคือคุณกวิน ชุติมา
ผลงานชิ้นที่ 2 คือ Preferred Choice of Pedestrian Road Crossing in Bangkokซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติของคนกทม.ในการเลือกใช้อุโมงค์ลอดถนน เมื่อเทียบกับการเดินข้ามสะพานลอย หรือเดินข้ามทางม้าลาย ผลสรุปขั้นต้น ชี้ให้เห็นว่าคนกทม.ชอบที่จะใช้อุโมงค์มากกว่าอีก 2 ทางเลือก ผู้นำเสนอคือ
รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลงานชิ้นที่ 3 ได้แก่ Factors Affecting Decisions on Bicycle Use of Non-Bike Users in Thailandซึ่งเป็นผลจากการวิจัยกับคนที่ยังไม่ได้ใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวันใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ ว่าปัจจัยใดที่จะมีผลต่อการตัดสินใจหันมาใช้จักรยาน ผู้นำเสนอคือคุณวิยดา ทรงกิตติภักดี จากกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งจะเป็นตัวแทนของนักวิจัยทั้งหมดที่มีรวมกันถึง 11 คน
ผลงานชิ้นที่ 4 คล้ายๆกับงานชิ้นที่ 3 คือ นำเสนอเรื่อง Factors Affecting the Decisions on Bicycle Daily Uses in Thailand of Bike Usersโดยได้ศึกษาประเด็นเกี่ยวกับปัจจัยใดที่ทำให้ใช้จักรยานอยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวัน แต่ในงานวิจัยนี้ นักวิจัยได้ศึกษากับเฉพาะคน 9 จังหวัดที่ใช้จักรยานอยู่แล้วในวิถีชีวิต ผิดกับงานวิจัยชิ้นที่ 3 ที่ได้ศึกษาเฉพาะกับคนที่ยังไม่ได้ใช้จักรยาน ผู้นำเสนอคือคุณวิยดา ทรงกิตติภักดี เช่นกัน
ผลงานที่ชิ้นที่ 5 เป็นไปในทำนองเดียวกันกับผลงานชิ้นที่ 4 แต่เจาะลึกลงเฉพาะไปในพื้นที่ธนบุรีของกทม. โดยใช้บทความว่า Motivations, Constraints,and Behaviors of Bicyclist in Thonburi , Thailand หรือแรงกระตุ้น ขีดจำกัด และพฤติกรรมของคนใช้จักรยานในเขตธนบุรี ประเทศไทยผู้นำเสนอได้แก่ อาจารย์ศิริก้อย ชุตาทวีสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี