Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / คสช. เห็นชอบดันเรื่องเดิน-จักรยาน เข้า ครม.

คสช. เห็นชอบดันเรื่องเดิน-จักรยาน เข้า ครม.

         คสช. เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่องเดิน-จักรยาน ให้นำเสนอ ครม. พิจารณา

มื่อวันศุกร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยมีนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม ได้เห็นชอบให้นำเรื่องการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ริเริ่มและผลักดันจนผ่านเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)

นายพงษ์เทพ  เทพกาญจนา รองนายกฯ
ประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)

ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอหลัก ๒ ข้อคือ (๑) ให้ คสช. เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพฯ ดังกล่าว และ (๒) เสนอมติสมัชชาสุขภาพฯ นี้ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป  ทั้งนี้ศาสตราจารย์กิติคุณ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” เป็นผู้นำเสนอเนื้อหาสาระของมติ (ดูมติสมัชชาสุขภาพฯนี้ได้ที่ http://www.thaicyclingclub.org/content/general/news/detail/1517)

จากนั้น กรรมการ คสช. หลายท่าน รวมทั้งประธาน ได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยที่บางท่านก็ยังใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ในปัจจุบัน  แม้สามสี่ท่านจะมีข้อกังวลในเรื่องกรอบเวลาจากที่ระบุให้ดำเนินการตามมตินี้ให้เสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยเกรงจะไม่เป็นจริง และเสนอให้ทบทวนก่อนนำเสนอ ครม.  กรรมการที่แสดงความเห็นทุกท่านต่างสนับสนุนอย่างเต็มที่เป็นเสียงเดียวกันว่า มติสมัชชาสุขภาพฯ นี้เป็นข้อเสนอที่ดีมาก เป็นนโยบายสำคัญ-เรื่องใหญ่ที่ครอบคลุมทุกด้าน และทำได้ โดยจะให้ประโยชน์ทั้งในด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม  สร้างสุขภาวะของประชาชนและชุมชนได้ทั่วประเทศ

กรรมการ คสช. หลายท่านได้ให้ข้อเสนอแนะที่มีคุณค่าในการนำมติสมัชชาสุขภาพฯ นี้ไปดำเนินการในทางปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจริง เช่น ในเมื่อจะมีมติคณะรัฐมนตรีเป็นนโยบายมหภาคแล้ว ก็ต้องมีการดำเนินงานในระดับจุลภาคหรือปฏิบัติการจริงควบคู่ไป ด้วยการประสานกับเครือข่ายต่างๆ ทำงานในระดับท้องถิ่น ซึ่ง สช. ควรใช้เครือข่ายของตนที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศ   การดำเนินงานควรจัดลำดับความสำคัญว่าเรื่องใดทำก่อนทำหลัง หน่วยงานใดเป็นหน่วยงานหลัก และทำแบบนำร่องขึ้น ซึ่งมีหลายแนวทาง เช่น ทำในระดับจังหวัดในจังหวัดที่อยากส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาขาดการสนับสนุน ขั้นต้น ๑๐-๒๐ จังหวัด   และให้มหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบ เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็กำลังแข่งกันในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว  เมื่อเกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้นบ้างก็จะ เป็นแรงขับเคลื่อนการดำเนินงานส่วนอื่นๆ ต่อไป

ในขณะที่ผู้แทน อปท. กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาเมื่อใด อปท. เอาด้วยเต็มที่ให้เป็นกลไกร่วมขับเคลื่อน แม้ว่าอาจจะไม่สำเร็จทุกเรื่องในปี ๒๕๕๘ แต่ก็จะมีรูปธรรมความสำเร็จให้เห็นทั่วประเทศแน่นอน สิ่งที่ทำได้อย่างเช่นการปรับปรุงทางให้ขี่จักรยานได้ปลอดภัยมากขึ้น จัดให้มีที่จอดจักรยาน และปลูกและดูแลต้นไม้ให้ทางร่มรื่น  

ทางด้านผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการก็ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่ากระทรวงสนับสนุนเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วนการดำเนินงานก็พิจารณาให้ความเหมาะสมตามสภาพของโรงเรียนและนักเรียน ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นว่าเป็นการบูรณาการด้านสุขภาพกับสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันอย่างดี   ผู้แทนองค์กรคนพิการชี้ว่า ถ้า ครม. เห็นชอบเรื่องนี้ก็จะสนับสนุนเต็มที่ เพราะหากที่ไหน คนทั่วไปเดินได้ ขี่จักรยานได้สะดวกปลอดภัย คนพิการก็ไปได้ ซึ่งตรงกับความเห็นผู้แทนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เสนอให้เน้นการออกแบบระบบและโครงสร้างให้คนสามกลุ่มคือ เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ สามารถใช้ได้ ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด

        สำหรับข้อเสนอที่ให้ขยับกรอบเวลาออกไปให้นานกว่าปี ๒๕๕๘ อาจารย์ธงชัยได้ชี้แจงว่า ไม่ได้มีความคาดหวังว่า ๒-๓ ปีจะทำได้เสร็จหมด มาตรการใดทำได้ก็ทำไปก่อน แต่ส่วนที่คาดหวังคือให้วิธีคิดของทุกหน่วยงานเปลี่ยนไปส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง  จากนั้นประธานจึงสรุปว่า เรา(คสช.)เห็นด้วยกับมติสมัชชาสุขภาพฯ และให้นำข้อสังเกตและความเห็นของกรรมการในวันนี้ประกอบ นำเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป

        เมื่อการประชุมสิ้นสุดลง เลขาธิการ คสช. และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพ (คมส.) ได้เข้ามาคุยกับอาจารย์ธงชัยว่า ทาง สช.กับชมรมฯ จะต้องมาหารือกันต่อเพื่อนำมติสมัชชาสุขภาพฯ ไปปฏิบัติให้ได้จริงในระดับจุลภาค(ปฏิบัติการ) โดยเฉพาะการใช้เครือข่ายของ สช. มาช่วยดำเนินการ ควบคู่ไปกับการผลักดันที่ ครม.

บรรยากาศการประชุม เพื่อพิจารณามติสช. การจัดระบบและโครงกสรร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

อนึ่ง  นายกวิน ชุติมา เลขานุการคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นฯ และกรรมการชมรมฯ กับนายอิทธิพล บารมีเกรียงไกร ประชาสัมพันธ์ชมรมฯ ได้ไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมครั้งนี้ด้วย  เราสังเกตเห็นว่า ในบริเวณทำเนียบรัฐบาลมีจักรยานจอดอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย แต่เนื่องจากไม่มีการจัดที่จอดให้เป็นระบบ จักรยานจึงจอดระเกะระกะหลบแดดหลบฝนตามชายคาตึกต่างๆ  ชมรมฯก็หวังว่า เมื่อมีการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพฯ แล้ว ทำเนียบรัฐบาลจะเป็นหน่วยราชการแห่งแรกๆ แห่งหนึ่งที่มีที่จอดจักรยานได้มาตรฐาน เอื้ออำนวยและส่งเสริมการใช้จักรยานของบุคลากรและผู้มาติดต่องาน

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น