Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชมรมฯ ร่วมแสดงความเห็นเรื่องการเดินทางในเมืองในเวทีวันที่อยู่อาศัยโลก ๒๐๑๓

ชมรมฯ ร่วมแสดงความเห็นเรื่องการเดินทางในเมืองในเวทีวันที่อยู่อาศัยโลก ๒๐๑๓

เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) และโครงการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Settlement Programme – UN-Habitat) ร่วมกันจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) ประจำปี ๒๐๑๓ ขึ้น ที่ห้องประชุม 4 ศูนย์การประชุมขององค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร

  ประเด็นของการจัดงานในปีนี้คือ “การเดินทางในเขตเมือง” (Urban Mobility) ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นชาวชุมชนเมืองจากทั่วประเทศไทย  นอกจากนั้นก็เป็นผู้แทนหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ

งานเริ่มต้นด้วยการอ่านสารวันที่อยู่อาศัยโลกจากเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติและจากผู้อำนวยการ UN-Habitat ตามด้วยการกล่าวเปิดโดยนางปวีณา หงสกุล รมต.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากนั้นก็เป็นการเปิดตัวรายงานสถานการณ์ที่อยู่อาศัยทั่วโลกของ UN-Habitat ในหัวข้อ “การวางแผนและการออกแบบสำหรับการเดินทางในเมืองอย่างยั่งยืน: ทิศทางนโยบาย” (Planning and Design for Sustainable Urban Mobility: Policy Directions) ตามมาด้วยการอภิปรายในหัวข้อ “การเดินทางในเขตเมือง: มุมมองจากกลุ่มสังคมต่างๆ” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายคือ อาจารย์กัญจนีย์ พุทธิเมธี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, คุณณัฐกมล รุ่งทิม ที่ปรึกษา Christian Blind Mission Central East Asia Regional Office, คุณเกียรติศักดิ์ มีสมพร จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, คุณวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคุณกวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย  ดำเนินรายการโดยคุณโอมาร์ ซิดดิก ผู้เชี่ยวชาญโครงการจากศูนย์ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ UNDP

ในการอภิปรายผู้เข้าร่วมให้ความสนใจแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามกันอย่างหลากหลาย พร้อมกันนี้ ผู้แทนชมรมฯได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีว่า อุปสรรคที่สำคัญต่อการเพิ่มวิธีการเดินทางที่เป็นทางเลือก เช่น การขี่จักรยานในกรุงเทพฯ คือการที่ผู้บริหารประเทศและผู้บริหารเมืองยังไม่มีวิสัยทัศน์และนโยบายที่เข้มแข็ง และบูรณาการในการส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์คือการเดินและการใช้จักรยาน  อีกทั้งระบบราชการยังเป็นแบบรวมศูนย์ไว้ที่รัฐบาลส่วนกลาง ไม่ได้กระจายอำนาจไปให้องค์กรบริหารในท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจและดำเนินการได้อย่างครอบคลุม ในขณะที่เป็นแนวดิ่ง ขาดการประสานงานอย่างเป็นเอกภาพระหว่างหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการการเดินทางในเมือง และไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและดำเนินการอย่างแท้จริงนัก  ทั้งนี้ความรู้และเทคนิคนั้นมีอยู่แล้ว งบประมาณก็สามารถจัดสรรได้ และมีผู้พร้อมจะสนับสนุนจะช่วยทำทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงไม่ใช่เป็นอุปสรรค

การประชุมสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของสหประชาชาติ Rio+20 ที่ประเทศบราซิลเมื่อปี ๒๕๕๕ ได้ข้อสรุปว่า เนื่องจากเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว จนอีกไม่กี่ปี ประชากรโลกครึ่งหนึ่งจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง การพัฒนาจะยั่งยืนและสอดคล้องกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้นั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการเดินทางขนส่งต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน การเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์คือ การเดินและการใช้จักรยาน จะต้องเป็นวิถีการเดินทางสำคัญในเมือง ไม่ใช่แค่เป็นทางเลือก ควบคู่กับการใช้ขนส่งสาธารณะ รวมทั้งระบบราง ซึ่งจะต้องเป็นวิธีการเดินทางหลักระหว่างเมือง

นอกจากนั้น ผู้แทนชมรมฯ ยังให้ความคิดเห็นในเวที เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในเมืองเป็นผู้มีรายได้น้อย การเดินและการใช้จักรยานจึงเป็นรูปแบบการเดินทางที่ทุกคน “เข้าถึง” ได้ ซึ่งตรงกับสิ่งที่องค์การสหประชาชาติเน้น  แต่จะให้ประชาชนเดินหรือใช้จักรยานมากขึ้น รัฐก็ต้องลงทุนในการสร้างระบบและโครงสร้างพื้นฐานให้เดินและขี่จักรยานได้สะดวกและปลอดภัย ซึ่งต้องดำเนินการหลายด้านควบคู่กันไปอย่างบูรณาการ เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงหลายกรมกอง  ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยกำลังทำงานเรื่องนี้ และที่ผ่านมาได้ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เป็นมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกำลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

– บรรยากาศบนเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น –

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น