เราคงได้ยินมากันบ่อยครั้งแล้วว่า หากเรายังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ปริมาณสะสมของก๊าซเหล่านี้จะทำให้อุณหภูมิของบรรยากาศโลกสูงขึ้น จนถึงจุดหนึ่ง สภาพภูมิอากาศก็จะเปลี่ยนแปลงไปจนไม่หวนกลับมาเป็นอย่างในปัจจุบันอีก แล้วจุดเปลี่ยนนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใดเล่า แน่นอนว่าจะเกิดไม่พร้อมกันทั่วโลก แต่ที่ไหนจะเกิดก่อนเกิดหลัง
ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวายได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Nature ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไปในวงการวิทยาศาสตร์ว่า ถ้าเราไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างมากในเร็ววัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไม่เคยมีมาก่อน(อย่างน้อยในช่วงประวัติศาสตร์ของอารยธรรมมนุษย์) และอย่างไม่หวนกลับคืน จะเกิดขึ้นได้ในอีกเพียง 6-7 ปีข้างหน้าคือปี 2020 และประเทศที่จะได้รับผลกระทบก่อนอื่นจะเป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่นอินโดนีเซีย ว่ากันตามจริง มหาสมุทรของโลกผ่านจุดเปลี่ยนถาวรนี้ไปแล้วตั้งแต่ห้าปีก่อนคือปี 2008 (พ.ศ. 2551) แต่ถ้าคิดเฉลี่ยทั่วโลก จุดเปลี่ยนถาวรนี้จะอยู่ในปี 2047 (พ.ศ. 2590) ถึงเวลานั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะมีผลกระทบกับประชากรโลกไปแล้วกว่า 1,000,000,000 (หนึ่งพันล้าน) คน ทั้งในด้านการขาดแคลนอาหาร น้ำ และทรัพยากร(ซึ่งจะทำให้มีความขัดแย้งมากขึ้น) ด้านสุขภาพกายและจิต(โดยเฉพาะผลจากความร้อน-อุณหภูมิที่สูงขึ้น) ด้านการระบาดของโรค และการไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ทีมวิจัยใช้ข้อมูลอุณหภูมิ 145 ปีย้อนไปถึงปี 1860 (พ.ศ. 2403 ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ไล่เรียงมาจนถึงปี 2005 และใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศ 39 แบบที่มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นอิสระต่อกันจาก 12 ประเทศ มาคาดการณ์อุณหภูมิของบรรยากาศโลกล่วงไปข้างหน้า 100 ปี ทีมวิจัยนำข้อมูลจากหลายแหล่งมารวมกัน ทำให้สามารถทำนายได้ถึงปีที่จุดหนึ่งจุดใดบนผิวโลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรนอกขอบเขตที่เคยเป็นมาในอดีต โดยเขตร้อนจะไปถึงจุดนั้นก่อน รู้สึกถึงผลกระทบได้ก่อนเขตอบอุ่นอย่างน้อย 10-15 ปี แม้การเปลี่ยนแปลงจะไม่มาก แต่ก็รวดเร็ว กระทบระบบนิเวศกับพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างๆ มากมาย เพราะเขตร้อนมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
ถ้ามาดูเมืองต่างๆทั่วโลกก็จะได้ปีที่ถึงจุดเปลี่ยนอย่างถาวรจากผลของการศึกษาเรียงตามลำดับดังนี้: (ปีเป็น ค.ศ.)
- 2029 – จาการ์ต้า (อินโดนีเซีย), ลากอส (ไนจีเรีย)
- 2031 – เม็กซิโกซิตี้ (เม็กซิโก)
- 2033 – โบโกต้า (โคลอมเบีย)
- 2034 – มุมไบ (อินเดีย)
- 2036 – ไคโร (อิยิปต์), แบกแดด (อิรัก), ไนโรบี (เคนยา)
- 2041 – โตเกียว (ญี่ปุ่น)
- 2042 – เพิร์ธ (ออสเตรเลีย)
- 2043 – โฮโนลูลู (ฮาวาย-สหรัฐอเมริกา), ซานติเอโก (ชิลี), พรีทอเรีย (อาฟริกาใต้)
- 2044 – โรม (อิตาลี)
- 2046 – ปักกิ่ง (จีน),กรุงเทพฯ (ไทย), ออร์แลนโด (สหรัฐอเมริกา)
- 2047 – วอชิงตัน ดีซี และ นิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา)
- 2048 – ลอสแอนเจลิส กับ เดนเวอร์ (สหรัฐอเมริกา)
- 2049 – ซานฟรานซิสโก (สหรัฐอเมริกา)
- 2050 – ริอูเดอจาเนรู (บราซิล)
- 2055 – ซีแอทเทิล (สหรัฐอเมริกา)
- 2056 – ลอนดอน (อังกฤษ)
- 2063 – มอสโคว์ (รัสเซีย)
- 2066 – เรยะวิก (ไอซแลนด์)
- 2071 – อังคอเรจ (อลาสกา-สหรัฐอเมริกา)
ศาสตราจารย์ ดร.คามิโล โมรา หัวหน้าทีมวิจัยฮาวายยืนยันว่าภูมิอากาศอย่างที่เราคุ้นเคยจะหายไปแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว เพราะถึงแม้เราจะสามารถหยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ระดับปัจจุบันได้ เราก็ไม่อาจหยุดยั้งการไปถึงจุดเปลี่ยนอย่างไม่หวนคืนนั้นได้ ทำได้ก็เพียงอาจทำให้มันเลื่อนช้าออกไปสัก 20 ปี และเมื่อไปถึงจุดนั้นแล้วก็มีทางเลือกสำหรับสิ่งมีชีวิต รวมทั้งคนเรา 3 ทางคือ ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในที่ที่อยู่ได้ ปรับตัว หรือไม่ก็ตาย
อ้าว ถ้าการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วนี้เกิดขึ้นแน่ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ถ้าอย่างนั้นจะไปสนใจทำอะไรทำไมกัน คำตอบง่ายๆคือ เราต้องไม่ยอมแพ้ แต่ทำทุกอย่างที่ทำได้อย่างเร่งด่วน เพราะอาจจะหมายถึงความอยู่รอดหรือการสูญพันธุ์ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะมีผลให้อัตราการเปลี่ยนแปลงลดลง เป็นการซื้อเวลาให้เราหาทางปรับตัวได้มากขึ้น
เมื่อมาดูตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเรา จะพบว่า ร้อยละ 29 มาจากการเดินทาง-ภาคขนส่ง แต่ถ้าคิดเฉพาะกรุงเทพฯ ก็จะมากถึงครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ทีเดียว ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ทันทีคือ หากยังใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือจักรยานยนต์ในการเดินทาง ก็เปลี่ยนมาเป็นเดินและขี่จักรยาน ซึ่งสองวิธีนี้แทบจะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย หรือใช้ขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าลอยฟ้า-ใต้ดิน หรือรถประจำทาง(ที่เรามักเรียกกันว่ารถเมล์) ซึ่งบรรทุกคนได้ครั้งละจำนวนมาก จึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนน้อย
กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
(ข้อมูลจากบทความชื่อ When Will Your City Reach the Point of No Return From Irreversible Climate Change?)
เขียนโดย Susan Bird October 2013