Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชมรมฯ เข้าพบอธิบดีกรมโยธาธิการฯ และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ชมรมฯ เข้าพบอธิบดีกรมโยธาธิการฯ และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

หลังจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ เรื่องระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และให้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไปแล้ว   ทีมงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ได้มีการหารือกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยถึงการขับเคลื่อนมติดังกล่าว และแนวทางหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันคือ การเข้าพบทำความเข้าใจเกี่ยวกับมตินี้กับหัวหน้าหน่วยงานราชการที่มติระบุให้ดำเนินงานส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานเป็นการเฉพาะ

       บ่ายวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ คณะของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยที่ประกอบด้วย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ (ประธาน), นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม (ที่ปรึกษา), นายกวิน ชุติมา (กรรมการ), ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา (กรรมการ) และ นส.อัจจิมา มีพริ้ง (ผู้จัดการโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย) จึงได้เข้าพบกับนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ตามด้วยการพบกับ ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับหน่วยงานทั้งสอง

หลังจากเล่าความเป็นมาถึงการดำเนินงานของชมรมฯ ที่นำไปสู่มติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวแล้ว ในการเข้าพบอธิบดีกรมโยธาธิการฯนั้น ประธานชมรมฯ ได้กล่าวถึงข้อ ๑.๓ ของมติที่ระบุว่า “กระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารและข้อบัญญัติท้องถิ่นให้ผู้เป็นเจ้าของอาคารขนาดใหญ่และอาคารสาธารณะ รวมทั้งสถานีขนส่งสาธารณะ ต้องจัดให้มีที่จอดจักรยานที่สะดวก ปลอดภัย และเพียงพอ…” ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ พรบ.ควบคุมอาคารและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องคือกรมโยธาธิการและผังเมือง อันเป็นที่มาของการเข้าพบครั้งนี้  

           

จากนั้นคณะของชมรมฯ กับคณะของอธิบดีกรมโยธาธิการฯ ได้หารือถึงความเป็นไปได้และขั้นตอนแนวทางในการแก้ไขกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารให้เป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพฯ โดยชมรมฯ จะสนับสนุนข้อมูลความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการจัดพื้นที่จอดจักรยานในประเทศอื่นๆ ให้กับกรมฯในการแก้ไขกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นก็จะใช้เวลาประมาณหนึ่งปี (การแก้ไข พรบ. อาจใช้เวลาถึงห้าปีหรือนานกว่านั้น) อย่างไรก็ตามหากจะให้มีผลเร็วขึ้น ก็อาจจะออกเป็นมาตรฐานอาคารก่อน และในส่วนกฎกระทรวงฉบับแก้ไข ในขั้นต้นอาจกำหนดเขตในการบังคับใช้เป็นพื้นที่เฉพาะ เช่น กรุงเทพฯ ก่อน แล้วค่อยขยายออกไปพื้นที่อื่นก็กระทำได้

สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ประธานชมรมฯ ได้กล่าวถึงข้อ ๑.๖ ของมติที่ระบุว่า “กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและให้บริการที่เกี่ยวกับการเดินและการใช้จักรยาน และการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการในการเดินทาง ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และราคาที่เป็นธรรม”  และชี้แจงว่า ในทางปฏิบัติจึงมีสองส่วนคือ การมีจักรยานและอุปกรณ์เครื่องช่วยในการเดินทางของคนพิการที่ผลิตออกมาจำหน่ายได้มาตรฐาน กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตจักรยานและอุปกรณ์ดังกล่าวของไทย

            

การพบปะครั้งนี้ซึ่งมีเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) และรองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมอยู่ด้วยทำให้ได้ทราบว่า สมอ. คิดตั้งคณะกรรมการมาตรฐานจักรยาน ชมรมฯจึงปวารณาตัวเข้าร่วมคณะกรรมการชุดนี้ และทั้ง สมอ.และชมรมฯ เห็นตรงกันว่า การกำหนดมาตรฐานจักรยานควรเอาประเด็น “ความปลอดภัย” มาเป็นตัวตั้ง สมอ.และกระทรวงฯ สนับสนุนสินค้าที่ได้มาตรฐาน แต่ต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่าย และการกำหนดมาตรฐานต้องไม่ทำให้เป็นการกีดกัน ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเสียเปรียบผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบต่างประเทศ   สำหรับจักรยาน ปัจจุบันไทยมี “มาตรฐานทั่วไป” แต่ยังไม่มี “มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)”  การขอ มอก.ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องมีแรงจูงใจ นั่นคือมี มอก. แล้วขายสินค้าได้ดีขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องให้การศึกษาสาธารณะชนให้ซื้อสินค้าได้มาตรฐานแทนที่จะซื้อสินค้าที่ราคาถูกกว่าแต่ไม่ได้มาตรฐาน  ในเรื่องนี้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมจักรยานไทย ทางรองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมแสดงความเห็นว่าทางกรมฯ ยินดี ขอให้มีงบประมาณมาสนับสนุน

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น