Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชมรมฯ จับมือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มความปลอดภัยบนถนน

ชมรมฯ จับมือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มความปลอดภัยบนถนน

ท่านรู้จัก ๑๖๖๙ หรือไม่?  ท่านที่เคยใช้บริการมาแล้วคงรู้ว่าคืออะไร  แต่หลายท่านก็ยังไม่ทราบ

๑๖๖๙ เป็นหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินสายด่วนสำหรับขอความช่วยเหลือเมื่อมีการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือพบอุบัติเหตุ สามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือได้ตลอด ๒๔ชั่วโมง  การขอความช่วยเหลือจะเข้าไปที่ศูนย์รับของแต่ละจังหวัด ซึ่งมีทุกจังหวัดๆ ละ ๑ แห่ง จะมีหน่วยบริการช่วยเหลือฉุกเฉินไปถึงที่เกิดเหตุภายใน ๑๐นาที

หมายเลขโทรศัพท์ ๑๖๖๙ บริหารจัดการโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตาม พรบ.การแพทย์ฉุกเฉิน ปี ๒๕๕๑ มาเป็นองค์กรรับผิดชอบการบริหารจัดการ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะการช่วยเหลือตรงจุดที่เกิดเหตุ ก่อนนำส่งโรงพยาบาล  หลังดำเนินการมาเข้าปีที่ ๗ ผู้ใช้บริการ ๑๖๖๙ ได้เพิ่มจำนวนขึ้น และการให้บริการก็ได้ยกระดับมีคุณภาพและความรวดเร็วสูงขึ้นตามลำดับ  แต่ก็ยังต่ำเมื่อคิดตามจำนวนประชากรเทียบกับหลายประเทศ  สพฉ.จึงได้พยายามขยายการประสานงานออกไปยังกลุ่มองค์กรต่างๆ ให้กว้างขวางมากขึ้น และเล็งเห็นว่า ขณะนี้มีผู้ใช้จักรยาน โดยเฉพาะนักจักรยาน เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และนักจักรยานก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางไปตามเส้นทางและสถานที่ต่างๆ อย่างกว้างขวางมากกว่าผู้ใช้ยานพาหนะประเภทอื่น  จึงน่าจะมีบทบาทในการช่วยยกระดับบริการการแพทย์ฉุกเฉินและเพิ่มความปลอดภัยตามถนนได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. พร้อมกับนายแพทย์อุกฤษฎ์ มิลินทางกูร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้มาหารือกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ที่สำนักงานชมรมฯ โดยมีศาสตราจารย์กิติคุณ ธงชัย พรรณสวัสดิ์ (ประธาน), คุณจำรูญ ตั้งกิจไพศาล (ที่ปรึกษา) และคุณกวิน ชุติมา (กรรมการ)  เข้าร่วมการสนทนาในนามชมรมฯ

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. (เสื้อฟ้า) และ
นพ.อุกฤษฎ์ มิลินทางกูร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) (เสื้อลายสก๊อตเขียว)

อ.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ คุณจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ และคุณกวิน ชุติมา ร่วมหารือ

การหารือทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนแนวคิดเป็นไปอย่างคึกคัก ได้ข้อสรุปเป็นชิ้นเป็นอันว่า ความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานในอันที่ชักชวนผู้ใช้จักรยานเข้ามาเสริมเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินจะมี ๔-๕ เรื่องใหญ่ๆ คือ

๑.การเผยแพร่หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินสายด่วน ๑๖๖๙ ให้เป็นที่รู้จักและใช้แพร่หลายมากขึ้น ผ่านสื่อ โดยเฉพาะที่มีผู้ใช้จักรยานเป็นผู้เผยแพร่-ผู้นำสาร

๒.การจัดรณรงค์ประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่ที่มีผู้ใช้จักรยานเป็นผู้เข้าร่วมหลัก และมีผู้ให้บริการฉุกเฉินที่ใช้จักรยานเป็นพาหนะอยู่แล้ว (เช่น “น้องอิ่ม”) เป็นตัวชูโรง

๓.การสร้างนักสืบสวนอุบัติเหตุ(Accidental Investigation) จัดฝึกอบรมให้ผู้ใช้จักรยานรู้จักสังเกต บันทึก และรายงาน “จุดเสียว” (จุดที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย”), “จุดเสี่ยง” (การเกิดอุบัติเหตุเบาๆ ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต) และ “จุดสูญเสีย” (การเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต) โดยใช้กล้องถ่ายรูปหรือสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือ เพื่อให้ได้ข้อมูลรูปธรรมนำไปปรับปรุงป้องกันลดความเสี่ยงและความร้ายแรงของอุบัติเหตุต่อไป  อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการเตือนสติผู้ใช้จักรยานให้ระมัดระวังมากขึ้นด้วย

๔.การรับ คัดเลือก และฝึกอบรมอาสาสมัครให้สามารถช่วยเหลือทางการแพทย์เบื้องต้นทันทีตรงจุดเกิดเหตุหลังจากโทร. ๑๖๖๙ แจ้งเหตุแล้ว ก่อนที่หน่วยบริการพร้อมรถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือบาดเจ็บที่มีอุปกรณ์พร้อมจะมาถึง ซึ่งสำคัญมากถึงขั้นเป็นตายในกรณีการที่หัวใจหยุดเต้นหรือมีการบาดเจ็บสาหัส

๕.การฝึกใช้และมีเครื่องปั๊มป์หัวใจขนาดพกพา (Automated External Defibrillator – AED) ติดไปพร้อมจักรยาน เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการปั๊มป์หัวใจของผู้ป่วยหรือประสบอุบัติเหตุที่หยุดเต้นให้กลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่งมากกว่าการใช้มือ

กิจกรรมห้าเรื่องนี้อาจจะสลับกันไปตามความเหมาะสมและอาจจะจัดซ้ำหลายครั้งหากมีผู้ใช้จักรยานให้ความสนใจเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมจำนวนมาก โดยครั้งแรกคาดว่าจะจัดในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ นี้  โดยชมรมฯ จะประกาศให้ทราบต่อไป

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC)

TCC เป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF)

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น