TCC กับกิจกรรม 2 วัน 5 งาน (10-11 พ.ค.57)
1. ประชุมพิจารณาคัดเลือกงานวิจัยเดิน-จักรยาน ปีนี้เน้นธีม “ความปลอดภัย” ของคนเดินเท้าและใช้จักรยาน นักวิจัยที่ผ่านรอบคัดเลือกมานำเสนอวิธีการให้ได้มาซึ่งงานวิจัยที่จะตอบโจทย์สังคมไทย (21 คน) วิชาการล้วนๆ
- การประชุมนำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยย่อย ณ โรงแรมกานต์มณี พาเลซ เพื่อให้นักวจัย/นักวิชการที่ข้อเสนอโครงการผ่านการพิจารณา(รอบผู้ทรงคุณวุฒิ) ได้มานำเสนอรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตอบข้อซักถาม ทั้งนี้ เพื่อให้ผลการดำเนินงานท้ายสุดตอบโจทย์ และช่วยแก้ปัญหาสังคมไทยเรื่องเดินและจักรยานได้เป็นรูปธรรม อีกทั้งนักวิจัยยังได้รู้จักชมรมฯ และเข้าใจวัตถุประสงค์ ผลลัพธ์และความต้องการของชมรมฯ ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายนักวิจัย งานวิชาการในอนาคต
- ข้อเสนอโครงการวิจัยฯ น่าสนใจอาทิ การใช้มาตรการแบบอ่อนเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางด้วยจักรยาน สำหรับนักเรียนในเมือง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความปลอดภัยบนทางในเขตเมือง กรณีศึกษา ทน.สุราษฏร์ธานี ความคาดหวังของคนเดินเท้าต่อความปลอดภัยในการใช้ทางเท้าสาธารณะ ภาพลักษณ์ของการเดินเท้าและการใช้จักรยานในมุมมองของสาธารณะ เป็นต้น
2. ขณะเดียวกันกลุ่มปฏิบัติการงาน “อาสาสอน อาสาซ่อม” ก็ลงพื้นที่ชุมชนสกุลทิพย์ เขตทวีวัฒนา นับเป็นชุมชนที่ 3 ที่แสดงความจำนงเข้ามาให้กลุ่มปฏิบัติการฯ TCC ลงพื้นที่ โอ…เดือนหน้ามีอีก 3 แห่ง หมู่บ้านอาริยา ติวานนท์ / เขตราชเทวี และ ราชบูรณะ พร้อมเสมอ แล้วเจอกัน
- เพื่อฟื้นฟูจักรยานที่เสียแล้วให้นำมาใช้ได้อีก เป็นอีกแนวทางในการกระตุ้นให้คนในชุมชนหันมาใช้จักรยานเพื่อเดินทางในชีวิตประจำวัน ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานอาสาสอน อาสาซ่อมขึ้น และค้นหาพื้นที่เป้าหมายเพื่อดำเนินกิจกรรม นั่นคือวัตถุประสงค์ของโครงการอาสาสอน อาสาซ่อม ที่ชมรมฯ กำหนดไว้
- และสิ่งที่ชมรมฯ คาดหวังให้เกิดหลังจากมีการลงพื้นที่ปฏิบัติการฯ คือ เราสามารถฟื้นฟูจักรยานที่เสื่อมสภาพให้ชาวชุมชนนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง และสร้างกระแส ปลุกความสนใจให้ชาวชุมชน เด็กและเยาวชนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร มีความสนใจ และเริ่มใช้จักรยานมากขึ้น รวมถึงชุมชนที่เราไปปฏิบัติภารกิจด้วยนั้น ได้รับความรู้เบื้องต้นในการซ่อมจักรยาน
3. อีกกิจกรรมที่เมืองทองธานี ออกบูธกับกลุ่มสว. (ฮา) ในงาน 50 Plus ชวนคนวัยนี้มาเดิน-ปั่น ก็คึกคักพอควร
- การออกบูธเพื่อร่วมกับองค์กรภาคธุรกิจหรือหน่วยงานอื่นๆนั้น ชมรมฯ ให้ความร่วมมือมาตลอด เพราะถือว่าได้ไปบอกกล่าวต่อกลุ่มเป้าหมายนั้นของแต่ละกิจกรรม ว่าชมรมฯ ดำเนินงานผลักดันเรื่องเดิน-จักรยาน ซึ่งก้าวไปถึงขั้นครม. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวรับไปปฏิบัติแล้ว ชมรมฯ เป็นเพียงหน่วยงานเหนึ่งที่มีตั้งเป้าหมายในการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของของสาธารณะ และเราทำเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้งานใหญ่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทุกคน ทุกกลุ่มในสังคม การร่วมออกบูธในงาน 50 Plus กับกลุ่มผู้สูงวัย ก็เป็นอีกช่องหนึ่งในการให้ความรู้ และประชาสัมพันธ์กิจกรรม
4. การลงพื้นที่ชุมชนจักรยานในเขตกรุงเทพฯ กิจกรรมภายใต้โครงการสนับสนุนการเดินและการสร้างชุมชนจักรยานสู่กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ ที่ดำเนินงานโดยมูลนิธิโอกาสซึ่งสนับสนุนโดยโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย วัตถุประสงค์หลักเพื่อรณรงค์ ผลักดัน และติดตามให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครนำนโยบายที่เสนอต่อประชาชนและสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนในกทม. หันมาใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวันให้เพิ่มขึ้นและยกระดับชุมชนจักรยานเป็นเครือข่ายชุมชนจักรยานรวมไปถึงประสานความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นดำเนินการให้เกิดชุมชนจักรยานเป็นพื้นที่พื้นที่ตัวอย่างในระดับเขตโดยผ่านการจัดทำบันทึกความร่วมมือ และปฏิบัติการให้เป็นรูปธรรมในอนาคต 12 ชุมชนในเขตกทม. ที่โครงการฯ ดำเนินงาน เช่น ชุมชนหลังวัดบุดรอด เขตพระโขนง ชุมชนสกุลทิพย์ เขตทวีวัฒนา ชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ ชุมชนโกสุมสามัคคี เขตดอนเมือง เป็นต้น
- การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกรุงเทพฯ โดย อ.ผุสดี ตามไท รักษาการผู้ว่าฯ ร่วมสำรวจ รับฟังปัญหา และความต้องการของชุมชนที่ต้องการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เมืองใหญ่อย่างกทม.ผู้บริหารท้องที่เห็นความสำคัญของผู้ใช้จักรยานและคนเดินเท้า
5. เจ้าหน้าที่โครงการฯ ร่วมประชุมการนำเสนอผลการสำรวจข้อมูลชุมชนจักรยานในชีวิตประจำวัน ที่สำนักงานเทศบาลเมืองปทุมธานี อ.เมือง จ.ปทุมธานี
- กิจกรรมประชุมนี้ได้รับความสนใจจากผู้แทนชุมชน เครือข่ายจักรยานใกล้เคียง สมาชิกเทศบาลเมืองปทุมธานี และผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยน ชุมชนในเขตทม. ปทุมธานี มีทั้งหมด 25 ชุมชน กว่า 720 หลังคาเรือน (ประชากรประมาณ 22,000) ปัจจุบันมีคนใช้จักรยานประมาณ 12 % มีร้านซ่อมในชุมชน 12 ร้าน จักรยานแบบธรรมแม่บ้าน (City Bike) คือประเภทที่ใช้กันโดยทั่วไป ระยะทางที่ใช้จักรยานประมาณ 1 กิโลเมตร คือ ปั่นไปธุระใกล้ๆบ้าน เช่น ตลาด เทศบาล วัด เป็นต้น ปัญหาที่ชุมชนพบ คือ ยังไม่มีที่จอด ยังไม่มีร้านซ่อมจักรยานที่ใกล้บ้านหรือพอเพียง ฯลฯ ที่ประชุมได้มีข้อเสนอร่วมกันว่า จะจัดให้มีการสอนซ่อมจักรยานสำหรับชาวชุมชน สร้างกิจกรรม หรือสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนหันมาใช้จักรยาน