Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / เขาคุยกันอย่างไรเรื่องกฎหมายหมวกนิรภัยของออสเตรเลียใน Velo-city Global 2014

เขาคุยกันอย่างไรเรื่องกฎหมายหมวกนิรภัยของออสเตรเลียใน Velo-city Global 2014

ในการประชุมจักรยานโลก 2014 ที่เมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย (Velo-city Global 2014 Adelaide) ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมย่อยมากมายหลายหัวข้อดังการประชุมครั้งก่อนๆ  หัวข้อหนึ่งคือเรื่อง “กฎหมายที่บังคับให้ผู้ขี่จักรยานสวมหมวกนิรภัย” ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันมานานทั่วโลก  การประชุมเพื่อผลักดันส่งเสริมการใช้จักรยานจะไม่คุยกันในหัวข้อนี้ก็คงเป็นเรื่องแปลก โดยเฉพาะในออสเตรเลีย ที่ผู้คัดค้านการมีกฎหมายบังคับให้ผู้ขี่จักรยานสวมหมวกนิรภัยในส่วนอื่นของโลกหยิบยกเป็นกรณีศึกษาอยู่เสมอ  ลองมาฟังกันดูนะครับว่าเขาคุยกันว่าอย่างไรบ้าง โดยเก็บมาเรียบเรียงจากข่าว Velo-city session on helmets – Lifting the lid on Australia’s helmet lawsในจดหมายข่าวอิเล็คโทรนิคของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป(ECF)ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมนี้ ฉบับวันที่ 29 พฤษภาคม 2014

การประชุมย่อยในหัวข้อ “หมวกนิรภัย” ในการประชุม Velo-city Global 2014 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 นั้น โดยมีผู้นำเสนอสามคนที่มีมุมมองที่ต่างกันอย่างน่าสนใจต่อกฎหมายของออสเตรเลียที่บังคับให้ผู้ขี่จักรยานต้องสวมหมวกนิรภัยและผลของกฎหมายนี้ต่อการส่งเสริมให้คนใช้จักรยาน จำนวนผู้ใช้จักรยาน และความปลอดภัย

ไมเคิล บริดจ์ จากกลุ่มจักรยานออสเตรเลียใต้ (Bicycle SA) ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดการประชุม Velo-city Global 2014ด้วย เป็นผู้เปิดฉากการสนทนาด้วยมุมมองของคนใช้จักรยานที่อยากให้ชาวออสเตรเลียด้วยกันเปิดใจกับกฎหมายนี้ เขาบอกว่า อย่าไปสนใจเลยว่าคนที่อยู่นอกออสเตรเลียคิดอะไรทำอะไร ไหนๆ ก็มีแล้ว ยอมรับ เลิกบ่นและเอาแรงมาเถียงกันว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีช่วยให้ขี่จักรยานได้ดีขึ้นและปลอดภัยขึ้นได้อย่างไรจะดีกว่า  เขาเชื่อว่าถ้าทำเช่นนี้ ป่านนี้อะไรๆ ก็คงจะก้าวหน้าไปมากกว่านี้แล้ว  และหากจะยกเลิกกฎหมายนี้จริงๆ ก็ต้องมีสถิติและข้อมูลที่ดีกว่านี้มายืนยันเป็นข้อสรุปที่แน่นอนได้ว่ายกเลิกแล้วจะดีกว่า

น่าสนใจที่ความเห็นของไมเคิลถูกแย้งโดยคนที่ไม่ได้มาจากกลุ่มจักรยาน แต่เป็นคนที่มาจากบริษัทให้คำปรึกษาด้านการขนส่งและระบบการใช้ที่ดินชื่อ CATALYST   เอียน เคอร์เห็นด้วยกับไมเคิลว่ากฎหมายและนโยบายหมวกนิรภัยได้เบี่ยงเบนทรัพยากรต่างๆ ไปจากการเอามาทำให้ถนนปลอดภัย ซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่าจริง  แต่เขาเห็นต่างไปตรงที่ว่านี่เป็นสถานการณ์ที่ต้องแก้ไข ไม่ใช่ยอมรับเอาง่ายๆ แบบที่ไมเคิลเสนอ  เขาชี้ให้เห็นว่า หากกฎหมายนี้ทำให้จำนวนผู้ขี่จักรยานลดลงจริงๆ มันก็จะทำให้การขี่จักรยานมีอันตรายมากขึ้นสำหรับผู้ใช้จักรยานที่ยังเหลือขี่อยู่ ตามหลักการ “ความปลอดภัยตามจำนวน” (Safety in Numbers)นั่นคือ หากจำนวนผู้ใช้จักรยานเพิ่มขึ้น ความปลอดภัยก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว  ในทางตรงข้าม หากจำนวนผู้ใช้จักรยานลดลง ความปลอดภัยก็จะลดลง

เอียนคิดว่า ปัญหาใหญ่คือ การที่ผู้กำหนดนโยบายเอาแต่ผลเฉพาะเจาะจงแคบๆ ที่หมวกนิรภัยช่วยลดการบาดเจ็บที่ศีรษะ มาเป็นหลักในการพิจารณามากเกินไปในการออกกฎหมาย โดยไม่เอาผลทางสังคมที่กว้างกว่า การชดเชยความเสี่ยง ความปลอดภัยตามจำนวน อุปสรรคต่อการใช้จักรยาน และการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับผลประโยชน์ด้านสุขภาพ มาพิจารณาด้วย   เขาเอาตัวเลขมาแสดงว่า จำนวนผู้ใช้จักรยานที่หายไปจากการใช้กฎหมายบังคับให้ผู้ขี่จักรยานสวมหมวกนิรภัยยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเลยแม้เวลาจะล่วงเลยผ่านไปกว่ายี่สิบปีแล้ว นอกจากนั้นกฎหมายนี้ยังได้เปลี่ยนวัฒนธรรมการขี่จักรยานในออสเตรเลียไปด้วย โดยที่การขี่จักรยานมักจะเป็นกีฬาและกิจกรรมยามว่างมากกว่าเป็นการใช้ในชีวิตประจำวันของมวลมหาประชาชน  เขาคำนวณว่า ผลประโยชน์ต่างๆ ที่การขี่จักรยานนำมาราวร้อยละ 70ได้สูญเสียไปจากการห้ามขี่จักรยานโดยไม่สวมหมวกนิรภัย

ผู้แสดงความเห็นหลักคนที่สามออกจะเป็นนักวิชาการสักหน่อย  คริส ริสเซล มาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เขาเอาตัวเลขข้อมูลและหลักฐานจริงๆ มาดูว่ากฎหมายบังคับสวมหมวกนิรภัย (Mandatory Helmet Law – MHL) ทำให้เกิดผลอย่างไรในออสเตรเลีย   แรกเลย เขาดูไปที่ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการขี่จักรยานและพบว่า ชาวออสเตรเลียที่ขี่จักรยานไม่ได้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษต่างไปจากคนที่ขี่จักรยานในที่อื่นๆ ของโลกแต่อย่างใด โดยประโยชน์ที่ได้รับจากการขี่จักรยานมีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงเสมอ  ที่น่าสนใจมากๆ คือ คริสชี้ว่า ไม่มีหลักฐานแต่อย่างใดเลยว่าหมวกนิรภัยมีประสิทธิผลในการลดการบาดเจ็บที่ศีรษะ  การลดลงของการบาดเจ็บที่ศีรษะของผู้ใช้จักรยานหลังจากมีการนำกฎหมายบังคับสวมหมวกนิรภัยมาบังคับใช้ในออสเตรเลียในปี พ.ศ. 2534 เป็นไปในแนวเดียวกับการลดลงของการบาดเจ็บของคนเดินเท้าและผู้ใช้รถยนต์ คือไม่ได้ลดลงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่า หมวกนิรภัยมีผลน้อยต่อการลดการบาดเจ็บ  ในขณะที่จำนวนคนที่ขี่จักรยานลดลงอย่างฮวบฮาบหลังจากกฎหมายออกมา และแม้เวลาจะผ่านไป 23 ปีแล้ว ก็ไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาจริงๆ อีกเลย

————————————————————————————————————————————————-

หมายเหตุ

กวิน ชุติมา เป็นกรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC)

ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF)

และผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น