วันที่สองของทริป อาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2557 ก่อนเริ่มเดินทาง อ.แชล่มนำเรายืดเส้นยืดสายกันอย่างจริงจังแต่สนุกสนาน ความจริงนี่เป็นสิ่งที่ควรทำก่อนเริ่มการเดินทางไกลทุกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นตะคริวหรือบาดเจ็บของนักจักรยาน ควบคู่ไปและสำคัญทัดเทียมกับการตรวจสภาพรถจักรยานให้พร้อมเผชิญกับการลุยทุกสภาพภูมิประเทศ
เมื่อทั้งคนทั้งรถพร้อมแล้ว อ.แชล่มก็พาเราปั่นไปตาม “ทางลัด” ที่วันนี้พวกเรารู้แล้วว่าเป็นเส้นทางที่ “ลัดเลาะ” ออกจากถนนลาดยางไปตามไร่ตามสวนตามนา ซึ่งแม้จะทำให้เราขี่ไกลขึ้นยากขึ้น แต่ก็ได้เห็นชนบทอันสวยงามของอำเภอจอมบึงที่ผู้เดินทางสบายๆ ตามถนนดีๆ จะไม่ได้เห็น ปั่นจักรยานชมทุ่งจอมบึงอย่างเพลิดเพลินแผล็บเดียวก็ไปถึงวัดเขารังเสือ ที่นี่เราได้ไปกราบพระครูประทีปธรรมสถิต หรือหลวงปู่ชอบ ปทีโป หลวงปู่มรณภาพไปเมื่อปี 2546 สิริอายุ 94 ปี แต่ร่างของท่านไม่เน่าเปื่อย ชาวบ้านจึงนำมาบรรจุในโลงแก้วให้ชาวจังหวัดราชบุรีและพุทธศาสนิกชนทั่วไปกราบไหว้บูชา จากนั้นก็เข้าไปชมถ้ำเขารังเสือที่หลวงปู่ชอบเคยใช้ปฏิบัติภาวนาอยู่นานถึง 20 ปี มีเรื่องตลกๆว่าเคยมีนักข่าวถามท่านว่าออกมาจากถ้ำบ้างไหม ท่านก็ตอบตรงไปตรงมาว่า “ไม่ออกมาก็อดตายสิ” ถ้ำนี้แม้จะไม่ใหญ่เท่าถ้ำจอมพล แต่ก็มีพระพุทธรูปหลายองค์เช่นกัน และมีภาพเขียนบนฝาผนังด้วย อีกทั้งยังสะอาดสะอ้านเป็นอย่างยิ่ง
ร่างหลวงปู่ชอบ ปทีโป | ถ้ำเขารังเสือ (ภายใน) | ถ้ำเขารังเสือ (ภายนอก) |
จากวัดเขารังเสือปั่น เราปั่นต่อไปวัดถ้ำสิงโตทอง ผ่านไร่มันสำปะหลังที่เวิ้งว้างมองเห็นสายไฟฟ้าแรงสูงที่ทอดข้ามและเทือกเขาอยู่ไกลๆ สุดสายตา ยังไม่ทันร้อนก็มาพบกับบรรยากาศร่มรื่นของวัด เราตรงเข้าไปสักการะอัฐธาตุและหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่โต๊ะ (พระราชสังวราภิมณฑ์) ในที่เจดีย์แปดเหลี่ยม หลวงปู่มรณภาพไปนานแล้วตั้งแต่ปี 2524 สิริอายุใกล้เคียงกับหลวงปู่ชอบคือ 95 ปี ข้างเจดีย์มีสระน้ำรูปหัวใจ แต่น่าเสียดายที่เราไม่เวลาเดินไปดูถ้ำและขึ้นยอดเขาชมทิวทัศน์สวยงามด้วย
รูปปั้นหลวงปู่โต๊ะ | สระรูปหัวใจ วัดถ้ำสิงโตทอง |
จากวัดถ้ำสิงโตทอง ปั่นไปนิดเดียวก็ถึงสำนักปฏิบัติธรรมสวนแก้วซึ่งอยู่ติดกัน สำนักปฏิบัติธรรมสวนแก้วเป็นสาขาของวัดปากน้ำภาษีเจริญ เริ่มสร้างเมื่อปี 2526บนเนื้อที่ร้อยกว่าไร่ที่เดิมเป็นไร่อ้อยไร่มันให้เป็นศูนย์กลางการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่นี่เราได้รับความกรุณาอย่างสูงจากพระคุณเจ้าท่านหนึ่งมานำชมและบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างต่างๆ เริ่มแต่พระพุทธมงคลรัตนนิมิต พระพุทธยืนปางห้ามพยาธิที่อยู่กลางแจ้งและเป็นพระประธาน ภายในวิหารบนอาคารใต้องค์พระมีพระพุทธบาทคู่ทำจากทองคำ 7 กิโลกรัม รอบอาคารมีศาลารายที่มีรูปปั้นจำลองเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ตามพุทธประวัติ 8 ศาลา จากนั้นท่านพาเราเดินต่อไปชมธัมเมกขสถูป สารนาถ จำลองสถานที่แสดงปฐมเทศนา, มหาเจดีย์พุทธคยาที่กำลังก่อสร้างอยู่ ซึ่งข้างๆมีพระพุทธรัตนโพธิญาณ พระพุทธรูปปางตรัสรู้ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จำลองสถานที่ตรัสรู้ที่พุทธคยา และไปสิ้นสุดที่มหาปรินิพานสถูป กุสินารา จำลองสถานที่ดับขันธ์ปรินิพพาน การมีสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวพุทธที่ไม่มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศอินเดียสามารถศึกษาเรียนรู้พุทธสถานและสังเวชนียสถานได้ ความจริงที่เล่ามานี้ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นของสิ่งที่ได้ไปชมและพระคุณเจ้าบรรยายให้ความรู้มา และยังมีสถานที่อีกมากในสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ที่เราไม่มีโอกาสไปดูเพราะมีเวลาจำกัดไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง หากจะดูและรับความรู้ให้ครบถ้วนย่อมต้องใช้เวลาทั้งวัน
พระพุทธมงคลรัตนนิมิต | พระพุทธบาททองคำคู่ | ธัมเมกขสถูปสารนาถ | มหาเจดีย์พุทธคยา | พระรัตนโพธิญาณ |
จากสถานปฏิบัติธรรม เรายังคงใช้ “เส้นทางลัด” อีก ทั้งปั่นทั้งเข็นลุยทรายกันตามความสามารถผ่านไร่หญ้าหมอน้อย พืชสมุนไพรสำคัญที่ถูกจัดเข้าบัญชียาหลักแล้ว โดยเฉพาะสรรพคุณพิเศษในการช่วยเลิกบุหรี่ เราผ่านไปพอดีกับหญ้าหมอน้อยกำลังออกดอกสวยงามมาก ซึ่งถ้าปั่นไปตามถนนลาดยางก็จะไม่มีทางได้เห็น พวกเราจึงหยุดถ่ายรูปกันจนหนำใจ
ทุ่งหญ้าหมอน้อย
ปั่นมาออกถนนใหญ่ไม่นานก็ไปถึงสวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง จังหวัดราชบุรี เรากินอาหารกลางวันกันที่นี่ในสวนป่าที่แสนจะร่มรื่น เสร็จแล้วเข้าไปฟังการฉายวิดิทัศน์และการบรรยายของนายสมหมาย งามสว่าง หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ฯแห่งนี้ ทำให้ทราบความเป็นมาว่าสวนพฤกษศาสตร์นี้มีเนื้อที่ 1,287 ไร่ มีเขาประทับช้างซึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เคยเสด็จ อยู่ตรงกลาง และเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติเขาบิน (ถ้ำเขาบินอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนสายราชบุรี-จอมบึงกับสวนนี้เอง) เปิดมาตั้งแต่ปี 2531ให้เป็นที่รวบรวมพรรณไม้ พักผ่อนหย่อนใจ และเรียนรู้ ดูและฟังในห้องจบแล้วก็ออกมาเดินจูงจักรยานไปชมสวนพรรณไม้ของจริงที่จัดแยกไว้เป็นหมวดหมู่ชัดเจนโดยมีเจ้าหน้าที่นำชมและบรรยาย เช่น พรรณไม้ในวรรณคดี 11 เรื่อง, ไม้ในบทเพลง “อุทยานดอกไม้”, ไม้ในพุทธประวัติ, ไม้มงคลประจำจังหวัด, ไม้มงคลประจำวัน, ไม้สมุนไพรรักษาโรค ฯลฯ
เดินชมและฟังบรรยายพรรณไม้ต่างๆ | คุณอัมพร ผจก.ทริปกับคุณสมหมาย หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ |
ชมสวนพรรณไม้แล้วก็ถึงเวลาผจญภัยอีกครั้ง เราออกปั่นจักรยานไปด้านหลังของเขาประทับช้าง เป็นเส้นทางเข้าไปในป่าซึ่งเมื่อลึกเข้าไปป่าก็เปลี่ยนเป็นป่าไผ่ล้วนๆ เราจึงเหมือนได้เข้าไปปั่นจักรยานในอุโมงค์ต้นไผ่ เส้นทางวกวนไปมาที่ อ.แชล่มใช้คำว่า “เหมือนหีบเพลง” เส้นทางที่เราขี่กันประมาณสี่กิโลเมตร แต่ความจริงขี่ได้มากกว่าสิบกิโลเมตร แม้จะไม่มีการสำรวจกันอย่างจริงจังก็เป็นไปได้ว่านี่เป็นอุโมงค์ป่าไผ่ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย หรืออาจจะยาวที่สุดในโลกตามคำของ อ.แชล่ม เมื่อครั้งที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยมาจัดค่ายจักรยานเยาวชนที่มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง อ.แชล่มก็พาเด็กมาฝึกขี่จักรยานที่นี่ ที่นี่ยังถูกใช้เป็นสถานที่จัดแข่งจักรยานมาแล้วหลายครั้ง จึงมีการกั้นและติดเครื่องหมายบอกทางให้เห็นเป็นระยะ เส้นทางอุโมงค์ป่าไผ่นี้ร่มรื่นเย็นสบายอย่างบอกไม่ถูก บางแห่งป่าบางลงก็มีแสงแดดยามบ่ายลอดลงมาให้สวยงามไปอีกแบบ ปั่นไปปั่นมา(รวมทั้งจูง) เจ้าหน้าที่ผู้นำทางก็พาเรามาออกที่สวนสัตว์เปิดของสถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง สัตว์ที่มีมากที่สุดที่นี่เป็นพวกนก แต่ก็มีสัตว์ใหญ่ด้วย เช่น อูฐ นกกระจอกเทศ กวาง เสือโคร่ง และหมี
ให้หญ้าอูฐในสวนสัตว์เปิดเขาประทับช้าง
จากสวนสัตว์เปิด ขี่จักรยานมานิดเดียวก็วนย้อนเป็นวงกลมกลับมาที่สวนพรรณไม้และที่ทำการสวนพฤกษศาสตร์ ที่พวกเราได้อาศัยอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วเดินทางกลับกรุงเทพฯ
ระยะทางวันนี้ก็เช่นเดียวกับเมื่อวานที่เพิ่มจากประมาณ 25 กิโลเมตรตามเส้นทางถนนลาดยางที่สำรวจไว้เป็นเกือบ 42 กิโลเมตรตาม “เส้นทางลัด” ที่ อ.แชล่มพาเราออกไปผจญภัยกันซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตของหลายคน ทำให้ได้ความประทับใจกันมิรู้ลืม ได้ทั้งทักษะการขี่จักรยานในหลายสภาพภูมิประเทศ และได้ชมความงามของชนบทที่ซ่อนตัวจากถนนแม้จะไม่ไกลเมืองเลย โดยที่ทุกคนปลอดภัย แม้จะมีล้มกันบ้างก็ไม่ร้ายแรงอะไร ที่ได้กันมาแน่ๆ คือรูปถ่ายมากมาย รวมทุกกล้องแล้วอาจถึงพันรูป !!!
(อ่านรายงานทริปนี้ของวันแรก 28 มิถุนายน 2557ได้ใน “รายงานทริปสะอาด 15 ไปลุยจอมบึง ราชบุรี ตอนที่ 1”)
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย