เช้าวันที่ 27 มิถุนายน 2557 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดการเสวนา “นั่งรถไฟไปปั่น” ขึ้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร บอกเล่าพัฒนาการของการรถไฟฯในปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้จักรยานเดินทางไปกับรถไฟ และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้จักรยานได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าฯ การรถไฟฯเปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังจัดซื้อหัวรถจักรและตู้โดยสารใหม่ ในไม่ช้าทางรถไฟจะปรับปรุงเป็นทางคู่และภายใน 10-15 ปีจะเปลี่ยนไปใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหมด
คุณประภัสร์และคุณกานต์รวี(ตรงกลาง)จากการรถไฟ
ทางด้านคุณกานต์รวี ทองพูล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์และบริการท่องเที่ยวของการรถไฟฯ ได้บอกเล่าว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถไฟในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น การรถไฟฯ จึงได้เอาตู้โดยสารรถนั่งชั้น 3 ชนิดโถงมาดัดแปลงเป็นรถสำหรับบรรทุกจักรยาน โดยตั้งแต่เปิดตัวในงาน 117 ปีรถไฟไทย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2557 พานักจักรยานไปขี่เที่ยวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงขณะนี้ก็มีผู้ใช้บริการแล้ว 7 ครั้ง ส่วนผู้โดยสารที่ใช้จักรยานพับขนาดล้อไม่เกิน 20 นิ้ว สามารถพับรถนำขึ้นตู้โดยสารได้เลยโดยไม่เสียค่าระวางอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นช่วงเช้าหรือเย็นที่มีผู้เดินทางจำนวนมาก คนก็อาจหนาแน่นจนเอาจักรยานขึ้นไม่ได้เหมือนกัน การรถไฟฯกำลังจะศึกษาพฤติกรรมของคนที่ใช้จักรยานเดินทางด้วยรถไฟไปทำงานหรือประกอบธุรกิจต่างๆ (commuters) เพื่อนำมาปรับปรุงให้รองรับส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยานร่วมกับรถไฟทุกรูปแบบได้มากขึ้นด้วย คนของการรถไฟฯส่วนหนึ่งก็เดินทางด้วยวิธีนี้เช่นกัน
ตามข้อมูลประชาสัมพันธ์ที่แจกในงานที่ผู้ใช้จักรยานสามารถใช้อ้างอิงได้นั้น อัตราค่าเช่าเหมาตู้รถไฟบรรทุกจักรยาน ซึ่งรวมค่าโดยสารบุคคล 30 คน, ค่าระวางจักรยาน 30 คัน และค่าธรรมเนียมขบวนรถแล้ว แบ่งเป็นสามอัตราตามระยะทางที่เดินทางแต่ละเที่ยวคือ ไม่เกิน 150 กิโลเมตร เก็บ 4,350 บาท, 151-300 กิโลเมตร เก็บ 5,580 บาท และ 301 กิโลเมตรขึ้นไป เก็บ 8,370 บาท ซึ่งการรถไฟฯได้แนะนำให้ผู้เดินทางพร้อมจักรยานเกิน 15 คันใช้บริการนี้ เพราะตู้สัมภาระไม่อาจบรรทุกจักรยานจำนวนมากได้ สำหรับบุคคลที่เดินทางคนเดียวหรือเป็นกลุ่มเล็กๆ ต้องการนำจักรยานขึ้นรถไฟ สามารถใช้บริการได้กับขบวนรถที่มีตู้สัมภาระ โดยมีค่าระวางจักรยานที่นำติดตัวไปอยู่ที่คันละ 90 บาท แต่ถ้าชำระบนขบวนรถจะเป็น 100 บาท เรื่องนี้ทางผู้ว่าฯ ประภัสร์ได้เสริมว่า เนื่องจากตู้สัมภาระมีจำนวนจำกัด รถไฟบางขบวนจึงไม่มี ต่อไปเมื่อได้ตู้โดยสารใหม่มาก็จะดัดแปลงให้มีที่บรรทุกจักรยานได้มากขึ้น ต่อข้อเสนอให้รถไฟแต่ละขบวนมีตู้โดยสารตู้หนึ่งที่ดัดแปลงส่วนหนึ่งให้บรรทุกจักรยานได้บ้างนั้น คงต้องพิจารณาไปตามความเหมาะสมพอดี เพราะหากทำไปแล้วมีจักรยานมาใช้น้อย ปล่อยว่างไว้ ประชาชนที่ต้องเบียดเสียดก็จะไม่พอใจ
ภายในตู้รถไฟที่ดัดแปลงมาบรรทุกจักรยาน สังเกตการแขวนจักรยาน | ภายนอกตู้รถไฟที่ดัดแปลงมาบรรทุกจักรยาน |
ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้ขอให้ปรับปรุงตู้รถไฟบรรทุกจักรยานเนื่องจากขณะนี้ประตูแคบมากและบันไดขึ้นชัน ยกจักรยานขึ้นลงยากโดยเฉพาะผู้หญิง (ซึ่งฝ่ายโยธา การรถไฟฯ ได้ขอความเห็นใจว่าขนาดประตูเป็นมาตรฐานของตู้โดยสารเก่า) ส่วนเรื่องค่าระวาง ผู้เข้าร่วมการเสวนาว่ายังมีความลักลั่น บางครั้งบางขบวนรถ พนักงานรถไฟยังเรียกเก็บค่ายกจักรยานขึ้น-ลงตู้สัมภาระอีกต่างหาก
ในเรื่องการเดินทางด้วยการใช้จักรยานร่วมกับการโดยสารรถไฟนั้น ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้มีข้อเสนอเบื้องต้นไปถึงการรถไฟฯ โดยได้มอบไปในการเสวนาครั้งนี้ดังนี้
เพื่อการส่งเสริมการเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorised Transport – NMT) คือการเดินและการใช้จักรยาน โดยเฉพาะเพื่อมาเชื่อมต่อกับระบบรางสำหรับการเดินทางในระยะไกล อันเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคม และมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 มติ 5.1 “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 รับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ การรถไฟแห่งประเทศไทยควรจัดอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานและรองรับผู้ใช้จักรยานที่จะมีมากขึ้นเป็นลำดับต่อไปดังนี้
1) จัดให้มีที่จอดรถจักรยานที่สะดวกและน่าใช้ เช่น มีหลังคากันแดด-ฝน และอยู่ติดหรือใกล้ที่สุดกับอาคารสถานี และจอดได้ปลอดภัยเช่น มีที่ให้สามารถล็อคจักรยานติดไว้ได้ และหากทำได้ ก็ควรพิจารณาให้มีระบบรักษาความปลอดภัยเสริม ทำนองเดียวกับที่จอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่น มีเจ้าหน้าที่ รปภ.ดูแล, มีบัตรสำหรับจอดซึ่งต้องแลกคืนเมื่อจะนำรถจักรยานออก, มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมป้ายเตือน ฯลฯ ตามความเหมาะสมและเป็นไปได้ ซึ่งสามารถเก็บค่าจอดในส่วนที่ให้ความปลอดภัยสูงนี้ได้ มีป้ายบอกบริเวณที่จอดและทางไปที่จอดรถจักรยานอย่างชัดเจน และขนาดของที่จอดเหมาะสมรองรับกับจำนวนรถจักรยานที่จะมีผู้มาใช้ ที่จอดรถจักรยานดังกล่าวควรจัดให้มีทุกสถานีรถไฟ รวมทั้งรถไฟชานเมืองและ Airport Rail Link
2) มีพื้นที่บนขบวนรถไฟให้สามารถนำรถจักรยานทุกประเภทไปกับรถไฟได้ทุกขบวน ที่เหมาะสมที่สุดคือเป็นตู้ระวาง ซึ่งควรติดที่แขวนรถจักรยานเพื่อให้ขนส่งรถจักรยานได้สะดวก ไม่เปลืองพื้นที่ และรถจักรยานไม่เสียหาย มีบันไดให้ขึ้น-ลงได้สะดวก และหากเป็นไปได้(เช่นในเส้นทางที่ไม่ไกลมาก) ควรพิจารณาให้ผู้ใช้จักรยาน(1-2 คน)เดินทางไปกับตู้ระวางพร้อมรถจักรยานของตนได้โดยเสียค่าโดยสารเท่าชั้น 3 สำหรับค่าระวางสำหรับรถจักรยานตามที่จัดเก็บในปัจจุบันเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว สำหรับรถไฟชานเมืองที่ไม่มีตู้ระวางสำหรับขนส่งสิ่งของเป็นการเฉพาะ ในช่วงเร่งด่วนที่มีผู้โดยสารหนาแน่น(6.00-9.00 น. และ 16.00-19.00 น.) ควรอนุญาตให้นำขึ้นได้แต่รถจักรยานที่พับจนมีขนาดเล็กได้เท่านั้นเช่นเดียวกับ Airport Rail Link และไม่เก็บค่าระวางดังเช่นที่การรถไฟฯ ได้มีประกาศอนุญาตไว้แล้ว
3) สำหรับสถานีรถไฟในเมืองรวมทั้งสถานี Airport Rail Link ต่อไปการรถไฟฯ ควรพิจารณาให้มีระบบจักรยานสาธารณะ (Bike sharing system) ในทำนองเดียวกับ “จักรยานปัน-ปั่น ของ กทม. ที่สถานีที่มีผู้โดยสารทั่วไปที่เดินทางไปทำงานเช้า-เย็นหรือนักท่องเที่ยวใช้บริการจำนวนมาก เช่น สถานีอยุธยา สถานีหัวหิน เป็นต้น ตามความต้องการและความเหมาะสม
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
————————————————————————————————————————————————————————
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) เป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) และผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)