ตามที่ได้รายงานข่าวไปแล้วเกี่ยวกับการเยี่ยมชุมชนจักรยานนำร่องในกรุงเทพมหานครของรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ดู http://www.thaicyclingclub.org/article/detail/2102) ซึ่งชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนที่เข้าร่วม “โครงการสนับสนุนการเดินและการสร้างชุมชนจักรยานสู่กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิโอกาส
เป็นโครงการย่อยโครงการหนึ่งภายใต้โครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทยของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการนี้มุ่งให้การส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของชุมชนเป็นการประสานงานและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างชุมชน กรุงเทพมหานคร(กทม.) และมูลนิธิโอกาส และให้ผู้บริหาร กทม. ได้สัมผัสกับสภาพความเป็นจริง เรียนรู้จากชาวชุมชนโดยตรงด้วยตนเอง
เมื่อวันที่ 17 และ 20 กรกฎาคม 2557 ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรักษาการณ์ผู้ว่าฯ กทม.ได้ลงเยี่ยมชุมชนจักรยานนำร่องเพิ่มอีกสองชุมชนคือ ชุมชนวัดประชาระบือธรรม 4 เขตดุสิตและชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย โดยมีผู้อำนวยการเขตไปร่วมรับฟังด้วยทั้งสองชุมชน ในแต่ละชุมชน รองผู้ว่าฯ กทม.ได้รับฟังรายงานข้อมูลพื้นฐานของชุมชน โดยเฉพาะสภาพการใช้จักรยาน และกิจกรรมต่างๆ ที่ชุมชนได้ทำไปและกำลังจะทำ เช่น การใช้จักรยานในกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ การจัดซื้ออุปกรณ์ดูแลซ่อมแซมจักรยานมาตั้งเป็น “คลินิกจักรยาน” ให้ชาวชุมชนมีจักรยานที่อยู่ในสภาพดีใช้งานได้ต่อเนื่อง การอบรมวินัยจราจร การซ่อมและสอนการซ่อมจักรยาน เป็นต้น
จากนั้นก็ได้เล่าถึงปัญหาและสิ่งที่ชุมชนต้องการให้ กทม.ดำเนินการเพื่อให้พวกเขาสามารถใช้จักรยานได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งโดยพื้นฐานมี 2 เรื่องใหญ่คือการเพิ่มความปลอดภัยให้กับเส้นทางที่ชาวชุมชนขี่จักรยานไปประกอบกิจต่างๆ เป็นประจำ และการเพิ่มความปลอดภัยในการจอดจักรยาน ในกรณีของชุมชนวัดประชาระบือธรรม เส้นทางคือซอยวัดประชาระบือธรรมยาวประมาณ 3 กิโลเมตรที่เชื่อมชุมชนกับถนนสามเสนและถนนพระราม 5 กับที่จอดจักรยานบริเวณป้ายรถประจำทางที่ปากซอยทั้งสองบนถนนดังกล่าว ส่วนชุมชนวัดโพธิ์เรียงเป็นเส้นทางที่ชาวชุมชนใช้ขี่จักรยานไปตลาดพรานนก สำนักเขตบางกอกน้อย และสถานีตำรวจนครบาลบางกอกน้อย และที่จอดจักรยานที่สถานที่ดังกล่าว
รองผู้ว่าฯ กทม. และผู้อำนวยการได้กล่าวรับที่จะนำข้อเสนอของชาวชุมชนไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่ทำได้เองและประสานงานกับส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องในกรณีที่เกินขอบเขตอำนาจไป เช่น เอกชนที่เป็นเจ้าของที่ดินบริเวณตลาด รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า กทม.พยายามส่งเสริมให้ชุมชนทำกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ โดยเฉพาะที่เด็กและเยาวชนเข้าร่วมได้เพื่อนำพาไปในทางที่ดี ซึ่งการใช้จักรยานเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง และได้กล่าวย้ำดังเช่นที่กล่าวกับทุกชุมชนว่า แม้จะส่งเสริมการใช้จักรยาน แต่ผู้ใช้จักรยานก็ไม่ได้มีอภิสิทธิ์พิเศษ ต้องเคารพกฎจราจรเช่นเดียวกับผู้ใช้ถนนอื่นๆ และดูแลตนเองให้ขี่จักรยานอย่างปลอดภัยด้วย ส่วน ผอ.เขตบางกอกน้อยกล่าวว่าจะมาขี่จักรยานตามเส้นทางที่ชาวชุมชนเสนอจะได้ทราบปัญหาที่แท้จริงนำไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงต่อไป (ที่ชุมชนวัดโพธิ์เรียงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟังด้วย)
อนึ่ง ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย รองประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้ไปร่วมการพบปะที่ชุมชนวัดโพธิ์เรียงด้วย และกล่าวเสริมถึงการดำเนินงานของชมรมฯ และเสนอให้ทำเส้นทางจักรยานปลอดภัยด้วยการจำกัดความเร็วไว้ที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นแนวทางที่กำลังใช้กันอยู่กว้างขวางทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปยุโรป
ชุมชนวัดโพธิ์เรียง จรัญ 18 : ที่เก็บอุปกรณ์จักรยานและออกกำลังกายของชุมชน | ชุมชนวัดโพธิ์เรียง จริญ 18: ดร.ผุสดี /ทพ.อนุศักดิ์ /คุณกวิน และชาวชุมชนที่มาครบ “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ถ่ายภาพร่วมกันหลังเสร็จภารกิจ(ในห้องประชุม) ต่อด้วยลงพื้นที่ชุมชน |
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย