Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชมรมฯ ลงพื้นที่เรียนรู้และส่งเสริมการใช้จักรยานในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ชมรมฯ ลงพื้นที่เรียนรู้และส่งเสริมการใช้จักรยานในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

      ประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดหนึ่งที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานหลายโครงการ ทั้งโครงการของเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและโครงการชุมชนจักรยาน ทีมงานของชมรมฯ จึงได้ลงพื้นที่เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๑๒-๑๓ กันยายน ๒๕๕๗ เพื่อเยี่ยมเยียน เรียนรู้ ทำความรู้จัก และหาช่องทางที่จะสนับสนุนต่อไป โดยได้รับความช่วยเหลือประสานงานจากเรือตรีกฤษฏ์ ศรีเพ็ญ เลขานุการ สมัชชาสุขภาพจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการเชื่อมร้อยเครือข่าย เดิน ปั่น ที่ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานและการเดินในชีวิตประจำวัน

ทางจักรยานแยกจากถนนเลียบอ่าวประจวบฯ คุณกฤษณ์พาทีมงานชมรมเข้าพูดคุยกับนายสุนทร อุษาบริสุทธิ์ พลังงาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

      ช่วงเช้าวันที่ ๑๒ เมื่อไปถึง คุณกฤษณ์พาทีมงานชมรมฯไปดูทางจักรยานตามแนวชายหาดอ่าวประจวบฯ ซึ่งมีตั้งแต่อย่างดีเยี่ยมแยกจากถนนไปจนถึงการ “ทาสีตีเส้น” ซึ่งก็พบปัญหาแบบเดียวกับที่อื่นๆส่วนใหญ่ในไทยคือถูกรถยนต์จอดทับเป็นระยะ  จากนั้นก็พาทีมงานเข้าพบนายสุนทร อุษาบริสุทธิ์ พลังงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่สำนักงานพลังงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายในศาลากลางจังหวัด  คุณสุนทรเปิดเผยว่าเป็นนโยบายของกระทรวงพลังงานลงมาสู่จังหวัดให้หน่วยงานราชการลดการใช้พลังงานลง เนื่องจากตนเองเป็นคนที่ชอบขี่จักรยานอยู่แล้ว จึงได้พยายามสังเกตการใช้จักรยานและพฤติกรรมการเดินทางโดยรวมของข้าราชการในศาลากลาง เห็นว่าแม้แต่การเดินทางระยะสั้นๆ เช่น ไปร้านสะดวกซื้อ หรือไปร้านอาหาร ข้าราชการก็ยังใช้จักรยานยนต์หรือรถยนต์ จึงได้คิด “โครงการยืมจักรยานปั่นไปทานข้าวกลางวัน” ขึ้น โดยมีชื่อเท่ๆ เป็นภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นด้วยว่า ‘Meal Bike’ และ “มุ จิเตงฉะ เดะ รันจินิ อิโค” มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ข้าราชการ พนักงานหน่วยงานภาครัฐ และนักศึกษาฝึกงานในศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตระหนักถึงความสำคัญของการลดใช้พลังงาน และเชิญชวนให้ใช้จักรยานที่สำนักงานพลังงานจะจัดหามาให้ใช้โดยไม่คิดค่าบริการ เพียงแต่ทำบัตรสมาชิกเท่านั้น โดยจะเริ่มโครงการด้วยการสำรวจความต้องการและความคิดเห็นในเดือนนี้ คาดว่าขั้นต้นจะมีจักรยานให้ใช้ ๑๐ คันจากสถานีจักรยานที่ลานจอดรถของศาลากลาง แต่ละคันสามารถติดร่มกันแดดได้ด้วย

บรรยากาศเวทีพัฒนาการจัดทำแผนพัฒนาเมืองประจวบคีรีขันธ์ ทีมงานเข้าพบนายอร่าม ศรีปรางค์ ผอ.ทสจ.

      จากนั้น ทีมงานได้ไปร่วมสังเกตการณ์เวทีพัฒนาการจัดทำแผนพัฒนาผังเมืองประจวบคีรีขันธ์ที่ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์  แผนนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์, สำนักโยบายและแผน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สมัชชาสุขภาพ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  และองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาชนได้จัดทำแผนพัฒนาผังเมืองประจวบคีรีขันธ์ โดยได้รับความร่วมมือจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้สำรวจและจัดทำแบบแปลน  ก่อนหน้านี้นิสิตของคณะฯ ได้ทำการสำรวจพื้นที่ไปครั้งหนึ่งแล้ว และนำผลมาทำเป็นแผนมาเสนอคณะผู้บริหารและประชาชนในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ให้ได้แสดงความคิดเห็นต่อแผนในวันนี้เพื่อนำไปพัฒนาแผนผังเมืองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  แผนมีแนวคิดหลักที่จะทำให้เมืองประจวบฯน่าอยู่อย่างยั่งยืนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จึงมีข้อเสนอให้มีพื้นที่สาธารณะของชุมชน มีการปลูกต้นไม้มากๆตามแนวถนน และการทำทางจักรยานและปรับปรุงหรือสร้างทางเท้าด้วย  หลังจากเสร็จการประชุม ทีมงานได้เดินทางมาพบนายอร่าม ศรีปรางค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ทสจ.) ที่สำนักงาน ทำให้ได้ทราบและเข้าใจแนวคิดการทำสิ่งแวดล้อมในจังหวัดนี้มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งนำไปสู่การที่สำนักงานแห่งนี้ เป็นกำลังสำคัญในการจัดทำแผนพัฒนาผังเมืองประจวบคีรีขันธ์ครั้งนี้ รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานด้วย

วงสนทนาประสาจักรยาน – จารย์ไก่, คุณหน่อย, คุณกวิน, คุณกฤษฏ์, คุณจิน, คุณนงเยาว์ และคุณบี

      ช่วงค่ำ ทีมงานได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนกับกลุ่มคนที่มีบทบาทในการส่งเสริมการใช้จักรยานในประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ “(อา)จารย์ไก่” ผู้กำลังรวบรวมข้อมูลจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ชุมชนบ้านเก่า โดยเฉพาะบนถนนสู้ศึก สร้างเสน่ห์ให้กับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ-วัฒนธรรม ซึ่งวิธีที่ดีสุดในการท่องเที่ยวแบบนี้คือการเดินและใช้จักรยาน, “คุณหน่อย” เจ้าของร้านกาแฟและจักรยาน HACHI แกนนำกลุ่มจักรยานคนหนึ่ง, คุณกฤษฏ์ผู้เชื่อมร้อยเครือข่ายในพื้นที่ ตั้งแต่ผู้ว่าฯ เทศบาล หน่วยงานราชการด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม พลังงาน การท่องเที่ยว ตำรวจ ฯลฯ และภาคประชาชน เพื่อผลักดันให้ประจวบคีรีขันธ์เป็นเมืองจักรยาน, คุณนงเยาว์ ผู้ดำเนินงานโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะผู้สูงวัย อีกหนึ่งในกำลังสำคัญในการเติมเต็มให้ประจวบคีรีขันธ์เป็นเมืองจักรยาน และคุณบีเจ้าหน้าที่ที่แข็งขันอีกคนจากสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ เป็นการคุยกันที่ได้ทั้งรสชาติและเนื้อหาสาระ ตลอดเวลาที่คุยกันก็มีนักจักรยานแวะเวียนมาทักทาย บ้างก็มารวมตัวขี่ออกกำลังกายบ้างก็ขี่เสร็จผ่านมาหยุดพักก่อนแยกย้ายกลับบ้าน

ขบวนจักรยานสำรวจเมืองหยุดถวายต้นพะยูงให้วัดเกาะหลัก

      วันที่ ๑๓ ทีมงานไปร่วมการขี่จักรยานตามเส้นทางในตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ที่เป็นพื้นที่ทำแผนพัฒนาผังเมืองเพื่อให้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อให้เห็นภาพรวมและความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ย่อยที่นิสิตแบ่งกลุ่มลงสำรวจ โดยมีชาวเมืองรวมทั้งคุณอร่าม ผอ.ทสจ. ร่วมขี่ไปด้วย  ขบวนได้ไปหยุดที่วัดเกาะหลัก ซึ่งเป็นอารามหลวงและวัดสำคัญที่สุดในตัวเมือง เพื่อถวายต้นพะยูงที่ทางสำนักงาน ทสจ. จัดเตรียมมาให้ทางวัดตามนโยบายส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในวัด ก่อนจะขี่เป็นวงกลมเลียบพื้นที่กองบิน ๕ ซึ่งมีโครงการชุมชนจักรยานข้าราชการกองบิน ๕ อยู่ กลับมาสิ้นสุดที่จุดเริ่มต้นบริเวณสะพานปลา

คุณกฤษณ์, คุณจินตนา (เจ้าหน้าที่เครือข่ายของชมรมฯ), นายวีระ ศรีวัฒนะตระกูล ผู้ว่าฯ ประจวบฯ, คุณกวิน และผู้ใหญ่บ้านด่านสิงขร

      หลังจากเสร็จกิจกรรมในเมือง ก่อนเดินทางกลับ ทีมงานได้เดินทางไปที่ด่านสิงขร ด่านชายแดนไทย-พม่าที่กำลังมีการก่อสร้างเพื่อเตรียมเปิดเป็นด่านถาวร และจะเป็นจุดท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน ที่น่าสนใจต่อไป เนื่องจากอยู่ห่างจากเมืองเพียง ๒๒ กิโลเมตรถนนดี ข้ามพรมแดนเข้าไปในเที่ยวในพม่าได้  บริเวณนี้ยังเป็นส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทย มีความกว้างเป็นเส้นตรงจากอ่าวไทยถึงพรมแดนไทย-พม่าเพียง ๑๐ กิโลเมตร (จากพรมแดนในพม่าไปถึงทะเลอันดามันยังมีระยะทางอีกราว ๒๐๐ กิโลเมตร) จากที่สูงบริเวณใกล้ด่านสามารถมองเห็นอ่าวไทยได้ชัดเจน  ที่นี่ทีมงานมีโอกาสดี ได้พบและพูดคุยถึงการส่งเสริมการใช้จักรยานกับนายวีระ ศรีวัฒนะตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งกำลังออกตรวจเยี่ยมเยียนพื้นที่อีกด้วย

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (Thailand Cycling Club – TCC) เป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) และผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการใช้จักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น