Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ซ่อมมาราธอนที่ทุ่งสองห้อง (อาสาซ่อมอาสาสอนครั้งที่ ๑๒)

ซ่อมมาราธอนที่ทุ่งสองห้อง (อาสาซ่อมอาสาสอนครั้งที่ ๑๒)

“ยอมรับตรงๆครับว่าเหนื่อย แต่ก็มีความสุขที่เห็นเจ้าของจักรยานดีใจเมื่อรถจักรยานของเขากลับมาใช้ได้ดีอีกครั้งหนึ่ง” นี่เป็นความรู้สึกของผมและคิดว่าน้องๆ อาสาสมัครที่ไปช่วยกันก็คงคิดในทำนองเดียวกัน

ป้ายโครงการซ่อมจักรยานของชมรมผุ้สูงอายุ

ป้ายโครงการจักรยานชุมชนนำร่องที่ชมรมฯสนับสนุนในชุมชนติดกัน

โครงการอาสาซ่อม อาสาสอน ครั้งที่ ๑๒ เราไปกันที่ชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง ๓๐๒ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ไม่ไกลจากชุมชนโกสุมสามัคคีที่เราเคยไปมา ที่มีเลข ๓๐๒ ต่อท้ายชื่อชุมชนก็เพราะในบริเวณมีชุมชนที่การเคหะแห่งชาติสร้างอยู่ติดกันเป็นกลุ่มรวม ๒๘ ชุมชนมีผู้อยู่อาศัยกว่า ๑๐,๐๐๐ คน  ชุมชนนี้เก่าแก่เป็นอันดับสองตามชื่อและอยู่สุดถนนที่เข้าจากทางรถไฟสายเหนือไปทางตะวันตกกว่าหนึ่งกิโลเมตร กลุ่มชุมชนเรียงรายอยู่สองข้างทางนี้ มีโรงเรียนสองโรงเรียน ตลาดใหญ่อย่างน้อยสองแห่ง เหมาะกับการใช้จักรยานมากที่สุด  กลุ่มผู้สูงอายุเคหะทุ่งสองห้องที่ก่อตั้งมาแต่ปี ๒๕๓๓ เป็นผู้เชิญเราไป จักรยานที่ซ่อมครั้งนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นของผู้สูงอายุ แต่ก็มีจักรยานเด็กและคนวัยกลางคนในครอบครัวด้วย

ส่วนหนึ่งอาสาสมัครกับป้าแหวว ผู้ประสานงาน, คุณบรรลือ(แจ็คเก็ตขาว), แกนนำชุมชน และ คุณมิตรชัย(เสื้อเขียว)

บรรยากาศการสอนดูแลและซ่อมจักรยาน

คุณบรรลือคุยกับชาวบ้านหลังช่างวีช่างโอ๊ตสอนเสร็จ

เราให้เวลากับการสอนซ่อมดังสองสามครั้งหลังที่ผ่านมา มีคนเข้าร่วมสักสามสิบคน กว่าจะได้ลงมือซ่อมจริงจังก็เกือบสิบเอ็ดโมงเช้าเข้าไปแล้ว ในช่วงสอน เราได้รับเกียรติจากคุณบรรลือ สุกใส ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และคุณมิตรชัย คำพิณ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชน ของเขตหลักสี่ ไปสังเกตการณ์และพูดคุยกับชาวชุมชนด้วย ทำให้ทราบความตั้งใจของเขตที่จะส่งเสริมการใช้จักรยานและตอบรับความต้องการของชาวชุมชน แต่ติดขัดเนื่องจากพื้นที่เมืองอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการหลายหน่วย  ทางฝ่ายเราก็ได้เล่างานของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยในการผลักดันนโยบายให้มีการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะมาช่วยชุมชนโดยตรงและเอื้ออำนวยให้องค์กรปกครองท้องถิ่นสนับสนุนชาวบ้านได้ดีขึ้นมากขึ้นด้วย

การซ่อมทำเป็นระบบ เรียงลำดับตามการลงทะเบียนล่วงหน้าที่ทางกลุ่มทำไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๖-๒๗ เราจึงเตรียมอะไหล่มาอย่างพอเพียงกับชนิดและสภาพของจักรยานที่ต้องการซ่อม เมื่อเราซ่อมจักรยานให้ผู้สูงอายุ เราจึงได้พบ “จักรยานแม่บ้าน” อายุ ๒๐ ปีขึ้นไปหลายคัน รวมทั้งสองคันที่อายุ ๓๑ ปีที่โดยทั่วไปยังอยู่ในสภาพดีทั้งที่ใช้ทุกวัน เมื่อซ่อมแซมเล็กน้อยเปลี่ยนอะไหล่บางชิ้นก็ใช้การได้ดี จักรยานที่กลายเป็นซากจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี ๒๕๕๔ ก็มีมา คุณป้าเจ้าของดีใจออกอาการชัดเจนเมื่อจักรยานคันนี้กลับมาใช้ได้อีก “เหมือนจักรยานใหม่เลย” พร้อมรอยยิ้มแทบปริบนใบหน้า  ที่ชุมชนนี้เราเน้นให้เจ้าของจักรยานมาช่วยซ่อมจักรยานตนเองด้วย จึงมีชาวบ้านเข้ามาร่วมทำคึกคัก มีเด็กสองคนที่เมื่อฟังการสอนแล้วมาช่วยซ่อมด้วยอย่างแข็งขันทั้งวันจนทำเป็นหลายอย่าง ในชุมชนเองมีช่างคนหนึ่งที่มาช่วยอย่างแข็งขันทั้งวันเช่นกัน ทำให้มีความหวังยิ่งขึ้นว่า หากมีอุปกรณ์ซ่อมพื้นฐาน ชุมชนก็น่าจะดูแลการซ่อมจักรยานกันเองได้

วันนั้นเราซ่อมไป ๔๓ คัน ความจริงก็ยังมีอีก เมื่อซ่อมคันที่ลงทะเบียนเสร็จแล้ว คันที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ก่อนและต้องการซ่อมไม่มาก เราก็ทำให้ไปบ้างโดยขอเก็บค่าอะไหล่ตามราคาซึ่งก็ไม่แพง คันสุดท้ายก็แทบจะมืดจนมองไม่เห็น เป็นการซ่อมที่ยาวนานมาราธอนที่สุดนับแต่จัดกิจกรรมนี้มา ๑๒ ครั้ง โชคดีที่ลานสุขภาพของชุมชนอันเป็นสถานที่ซ่อมมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ทั้งยังมีลมพัดพอสบาย ทางกลุ่มผู้สูงอายุก็ใจดีนำอาหารเครื่องดื่มมาเลี้ยงทั้งวัน รวมทั้งอาหารค่ำมื้อพิเศษ กว่าเราจะลาชุมชนเดินทางกลับก็เลยทุ่มครึ่งไปแล้ว

หลังอาหารค่ำก่อนลากลับ (คุณป้าสองคนขี่จักรยานนำทางไปส่งเราเกือบถึงถนนใหญ่)

ขอขอบคุณน้องๆอาสาสมัครทุกคน ทั้งเจ้าประจำ ช่างโอ๊ต ช่างวี น้องไฮ้ หัวหน้าโครงการ และน้องบาส(ชัยชน มีแสง) และขาจรที่มาช่วยคือน้องกะปิ(Kapi Tourbike) น้องหนุ่ม(เฉลิมชัย แก้วชมพู) และน้องพิศ(พิศนุช ลัลน์ลลิตสกุล)  เชื่อว่าทุกคนคงได้รับความสุขทั่วหน้าไปจากการแบ่งปันเวลา แรงกาย แรงใจ ทักษะประสบการณ์ทำให้เพื่อนร่วมสังคมมีความสุขซึ่งเห็นได้จากใบหน้าของพวกเขาทุกคน และช่วยส่งเสริมการใช้จักรยานซึ่งเป็นการช่วยรักษาโลกนี้ให้เราทุกคน

                                                                                                                                                                                                                             

                                                                                                                                                             รายงานโดย  กวิน ชุติมา 

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น