ทำทางจักรยานให้ชุมชนที่ต้องการ
บรรยากาศการประชุม “ทางรถจักรยานปลอดภัย” |
เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา โครงงานกฎหมายบริการสังคมเรื่อง “ทางรถจักรยานปลอดภัย” (Safe Bikes Safe Lane) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพิจารณาหลักเกณฑ์และข้อจำกัดในการจัดทำทางเฉพาะสำหรับรถจักรยาน ในเขตกรุงเทพมหานคร” ขึ้นที่ห้องประชุม อาคารกิจกรรมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ผู้เข้าร่วมการประชุมมาจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยได้เชิญศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเข้าร่วมด้วย แต่เนื่องจาก ดร.ธงชัยติดภาระกิจ ชมรมฯจึงได้มอบหมายให้นายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ ไปร่วมประชุมแทน
แม้หัวข้อการประชุม วัตถุประสงค์ และผลที่คาดจะได้รับ จะกล่าวถึง “ช่องทางเดินรถสำหรับรถจักรยานในเขตกรุงเทพมหานคร” โดยทั่วไป การอภิปรายในที่ประชุมได้เน้นไปที่ช่องทางเดินรถสำหรับรถจักรยานบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ทั้งที่มีอยู่เดิมไม่ว่าจะเป็นแค่เพียง “การทาสีตีเส้น” กับที่มีการออก “ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานครว่าด้วยการกำหนดช่องทางเดินรถสำหรับรถจักรยาน” แล้ว ๕ เส้นทาง และที่กรุงเทพมหานครมีแผนจะทำเพิ่มเติมให้ขี่วนได้ครบรอบในฝั่งพระนครและเส้นทางในฝั่งธนบุรีด้วย
ตัวแทนสำนักงานนโบายและแผนการจราจรและขนส่ง และตัวแทนกทม. |
ตัวแทนจากกองบังคับการตำรวจจราจรและสถานีตำรวจในพื้นที่ |
ผู้แทนชมรมฯ จึงได้เสนอว่าให้พิจารณาทำทางจักรยานที่ชาวชุมชน ๑๒ ชุมชนในกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วม “โครงการสนับสนุนการสร้างชุมชนจักรยานสู่กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” ได้เสนอขอให้ กทม.ทำ พร้อมกับที่จอดจักรยานด้วย เพราะเป็นความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ชุมชนได้เสนอเส้นทางและสถานที่ชัดเจนไปที่ ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการ กทม. ในขณะที่เป็นรักษาการผู้ว่าราชการ กทม. ซึ่งได้ลงไปเยี่ยมบางชุมชนและดูสถานที่จริง พร้อมกับผู้อำนวยการเขตหรือตัวแทน และฝ่ายพัฒนาของเขตที่ชุมชนตั้งอยู่ด้วยในช่วงกลางปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา หาก กทม.ทำให้ตามที่ชาวชุมชนขอและทางตำรวจให้การสนับสนุนก็จะได้ทางจักรยานที่มีคนใช้แน่นอน แต่ได้รับคำตอบจากผู้ดำเนินการประชุมว่า “เอาไว้ทำในเฟสต่อไป ขอทำในส่วนที่เริ่มไว้แล้วก่อน” โดยไม่ได้ให้ข้อมูลว่าจะเป็นเมื่อใด
นางอรศรี ศิลปี ประธานประชาคมบางลำพู และตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วมประชุม |
นางอรศรี ศิลปี ประธานประชาคมบางลำพู ที่เข้าร่วมประชุมด้วย จึงได้พูดขึ้นว่า “ดิฉันเห็นว่าควรทำ เพราะสิ่งที่ชุมชนอยากให้เกิด ถ้าได้รับการสนับสนุน เกิดจากเขามีใจรัก จะไปได้ดีและยั่งยืน ดิฉันทำงานชุมชนเห็นจริงตามนี้”
หวังว่าความเห็นของคุณอรศรีจะเป็นอีกแรงหนึ่งที่เสริมให้ กทม. นำข้อเสนอเรื่องทางจักรยานและที่จอดจักรยานของชาวชุมชนที่ได้เสนอไปหลายเดือนแล้วไปทำให้เป็นจริงด้วยการสนับสนุนจากทางฝ่ายตำรวจโดยเร็ว เพิ่มจากช่องทางเดินรถสำหรับรถจักรยานบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ที่เป็นประเด็นการหารือในการประชุมครั้งนี้
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ: โครงการสนับสนุนการสร้างชุมชนจักรยานสู่กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ ดำเนินการโดยมูลนิธิโอกาส เป็นโครงการสร้างชุมชนจักรยานโครงการหนึ่งในหลายโครงการทั่วประเทศไทยที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนผ่านทางโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทยที่ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อ่านข่าวโครงการนี้และการลงเยี่ยมชุมชนต่างๆ ที่ร่วมโครงการของ ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการ กทม. ได้ในห้องข่าวของเว็บไซต์ www.thaicyclingclub.org