อาสาซ่อม อาสาสอน นัดพิเศษ คืนความสุขให้ทหารและครอบครัวที่กองพล 9 กาญจนบุรี
ที่ผ่านมา เราทำกิจกรรม “อาสาซ่อม อาสาสอน” กันที่ชุมชนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยความจำกัดของงบประมาณและความสะดวกในการเดินทางของอาสาสมัคร ในขณะที่ชมรมหรือเครือข่ายจักรยานในบางจังหวัดก็ได้เริ่มทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ในจังหวัดของตนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวของโครงการนี้ได้แพร่หลายออกไป และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้รับการติดต่อจากกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร. 9) ให้ไปซ่อมจักรยานเสือภูเขาที่จัดไว้บริการนักท่องเที่ยว โดยรับผิดชอบการเดินทางและดูแลเรื่องอาหารการกินให้ ชมรมฯ ได้ตอบรับโดยขอดำเนินการให้เข้ากับแนวทางของโครงการอาสาซ่อมอาสาสอน คือจัดให้มีการซ่อมจักรยาน และมีการสอนการดูแลการซ่อมจักรยานให้กำลังพลและครอบครัวด้วย โดยคุณศักดา อาสาสมัครหัวหน้าโครงการ และคุณกิตติพงษ์ ช่างหลักของโครงการ ได้เดินทางไปดูสภาพจักรยานก่อนล่วงหน้าเพื่อเตรียมอะไหล่ไปจากกรุงเทพฯ ให้เหมาะสมและเพียงพอ
ในวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน2557 คณะของชมรมฯ พร้อมอะไหล่และอุปกรณ์ซ่อมจักรยาน ออกเดินทางแต่เช้าตรู่ด้วยรถตู้และรถบรรทุกของพล.ร. 9 ไปยังที่ตั้งที่อำเภอลาดหญ้า ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีราว 20 กิโลเมตร พล.ร.9 มีพื้นที่กว้างขวาง และมีหน่วยทหารตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก (ได้ทราบว่ามีกำลังพลกว่า 20,000 คน) เขาชนไก่อันเป็นที่ฝึกนักศึกษาวิชาทหารก็ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันนี้ การสอนและการซ่อมได้จัดขึ้นที่โรงเก็บจักรยานเสือภูเขาในบริเวณสวนสาธารณะของ พล.ร. 9 เริ่มต้นด้วยการลงนามบนไวนิลแสดงความร่วมมือระหว่างชมรมฯ โดยมีนายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ เป็นผู้แทน กับกองพล 9 ที่มีนายทหารจากกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 29 (ร.29 พัน.3) เป็นผู้แทน จากนั้นก็นายทหารได้กล่าวต้อนรับ เปิดงาน และชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ และผู้แทนชมรมฯ ได้ชี้แจงความเป็นมาของโครงการ ความยินดีของชมรมฯ ที่ได้มาทำกิจกรรมนี้ที่ พล.ร.9 รวมทั้งเล่าถึงการส่งเสริมการใช้จักรยานของกองพลทหารราบที่ 6 จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่ง พล.ร.9 ก็สามารถทำได้ และหวังว่าการมาสอน-ซ่อมจักรยานครั้งนี้จะจุดประกายให้ พล.ร.9 มีนโยบายและดำเนินงานส่งเสริมการใช้จักรยานมากยิ่งขึ้น ชมรมฯจะรอฟังข่าวดีและยินดีให้การสนับสนุนทุกทางเท่าที่จะทำได้
จากนั้นก็เริ่มการสอนพื้นฐานการซ่อมจักรยานเช่นเดียวกับที่เราทำในชุมชนในกรุงเทพฯ โดยมีสมาชิกครอบครัวทหารในค่ายราว 20 คนมาร่วมเรียนรู้ ขณะเดียวกันก็เริ่มการซ่อมไปพร้อมๆกัน เนื่องจากมีอาสาสมัครพอจะแบ่งงานกันได้ ส่วนหนึ่งที่ชำนาญการซ่อมจักรยานเสือภูเขาก็ไปซ่อมจักรยานของ พล.ร.9ส่วนที่คุ้นเคยกับการซ่อมจักรยานทั่วไปก็ไปซ่อมจักรยานของกำลังพลกับครอบครัว ซึ่งมีเข้ามาเรื่อยๆทั้งวัน เพิ่มจากที่สำรวจและจัดรอไว้ เมื่อข่าวแพร่ออกไป จากจักรยานเสือภูเขาที่พล.ร. 9 มีไว้บริการนักท่องเที่ยว 35 คันซึ่งเสียทั้งหมด (ทราบว่ากองทิ้งไว้มาราว 5 ปีแล้ว) ซ่อมได้ 100% 17คัน ราว 80% 5 คัน อีก 13 คัน ไม่เกินฝีมือช่างจะซ่อม แต่เกินกำลังที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยจะสนับสนุน คือมีเสียตรงชิ้นส่วนที่ราคาสูง เราไม่อาจให้บริการได้ นอกจากนั้นยังซ่อมจักรยานของครอบครัวกำลังพล มีทั้งจักรยานเสือภูเขา จักรยานแม่บ้าน จักรยานพับ จักรยานเด็ก อีกรวม 32
จักรยานเสือภูเขาของกองพล 9ก่อนซ่อม และหลังซ่อม
ด้วยจำนวนกว่าห้าสิบคัน เราก็เลยทำงานกันจนมืดสนิทอีกครั้งหนึ่ง เลิกงานเก็บของเสร็จก็ราวทุ่มหนึ่ง มีหยุดก็พักกินอาหารกลางวันอร่อยๆ เติมพลังจากฝีมือแม่บ้านทหาร และอาหารค่ำอีกมื้อก่อนกลับ กว่าจะถึงกรุงเทพฯก็สี่ทุ่มไปแล้ว
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยขอขอบคุณน้องๆอาสาสมัครทุกคน ทั้งเจ้าประจำ ช่างโอ๊ต ช่างวี น้องไฮ้ หัวหน้าโครงการ และน้องบาส(ชัยชน มีแสง) และขาจรที่มาช่วยคือน้องหนุ่ย และช่างเจ็ง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการซ่อมจักรยานเสือภูเขาอย่างยิ่ง ทำให้งานส่วนนี้เป็นไปอย่างราบรื่นรวดเร็ว ผลงานเยี่ยม นอกจากนั้นยังมีช่างอีกคนที่ทางชมรมจักรยานชุมชนกัลปพฤกษ์ 4 เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ พามาสมทบต่างหากอยู่ระยะหนึ่ง และทาง ร.29 พัน 3 ยังจัดทหารเกณฑ์จำนวนหนึ่งมาช่วยงานด้วย มีน้องโบมาช่วยถ่ายภาพเก็บความทรงจำที่ดีและความรื่นเริงของเด็กๆ เมื่อมีจักรยานขี่ได้ดีอีกครั้ง น้องอัจ ผู้จัดการชมรมฯ ที่ช่วยประสานงานต่างๆและดูแลความเรียบร้อยลื่นไหลของการทำงาน รวมทั้งไปซื้ออะไหล่ที่ไม่พอ(เนื่องจากมีจักรยานเข้ามากกว่าที่เตรียมไว้)มาด้วย ส่วนทางเด็กๆ ก็มีสองสามคนที่ช่างวีดึงมาช่วยจนพัฒนาทักษะขึ้นมาได้ เชื่อว่าทุกคนคงได้รับความสุขกันไปทั่วหน้า จากการได้แบ่งปันเวลา แรงกาย แรงใจ ทักษะประสบการณ์ทำให้สังคมมีความสุข ซึ่งเห็นได้จากใบหน้าของเขาทุกคน
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย