โครงการศึกษาเพื่อจัดระบบการสัญจรในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์เริ่มดำเนินการแล้ว
หลังจากกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการทำช่องทางเดินรถสำหรับรถจักรยานบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ทั้งทำใหม่และปรับปรุงทางที่มีเดิม รวมทั้งหมด ๑๒ เส้นทาง เป็นระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตร, มีการออกประกาศเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดระเบียบการใช้ทางหรือช่องทางเดินรถสำหรับรถจักรยาน ออกมาเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้เส้นทางเหล่านี้ได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น และมีการเปิดอย่างเป็นทางการโดยนายกรัฐมนตรี พร้อมกับมีการขี่จักรยานนำขบวนไปตามทางจักรยานเหล่านี้ด้วย
ภาพแสดงตัวอย่างปัญหา-อุปสรรคที่ช่องทางเดินรถสำหรับรถจักรยานบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ประสบ (๒๑ ก.พ. ๕๘)
(ซ้าย) หลักกั้นทางบนถนนพระสุเมรุใกล้สี่แยกตัดถนนจักรพงษ์หักพัง (ขวา) น้ำเจิ่งนองทางบนถนนมหาไชยช่วงวัดราชนัดดา-ลานเจษฎาบดินทร์เป็นระยะ
(ซ้าย) ทางข้ามถนนตรงหน้ากรมการรักษาดินแดนค่อนข้างอันตราย (ขวา) ทางช่วงต้นถนนหน้าพระธาตุใช้ไม่ได้เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวขึ้น-ลงรถบัสตลอด
อย่างไรก็ตาม ต่อมาก็ได้มีเสียงแสดงความไม่เห็นด้วย-ไม่เอาทางจักรยานในลักษณะเช่นนั้นจากประชาชนบางส่วนในย่านบางลำพู และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้จักรยานถึงปัญหาและอุปสรรคหลายประการจากการใช้เส้นทางเหล่านี้ที่ทำให้ไม่อาจขี่จักรยานตลอดเส้นทางทั้งหมดในทุกเวลาอย่างสะดวกและปลอดภัย ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยจึงได้หารือกับ “กลุ่มเมืองเก่า” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านผังเมืองกลุ่มหนึ่งที่สนใจในการส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเมืองที่น่าอยู่และมีการเติบโตอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน ให้มาช่วยกันหาแนวทางในการปรับปรุงระบบการเดินทางทั้งหมดในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ จากโครงสร้างพื้นฐานส่วนหนึ่งที่ได้ทำไว้แล้ว เพื่อนำเสนอต่อ กทม. รัฐบาล นักผังเมือง และสาธารณชน จนอาจจะเป็นแบบอย่าง (model) ในการสร้างระบบการสัญจรในบริเวณอื่นของกรุงเทพมหานครและในเมืองอื่น เกิดเป็น “โครงการศึกษาเพื่อจัดระบบการสัญจรในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์” ขึ้น โดยมีกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาร่วมด้วย
พื้นที่ศึกษาของโครงการคือบริเวณหัวแหวนย่านชั้นในของเกาะรัตนโกสินทร์จากแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงคลองโอ่งอ่างและครอบคลุมไปถึงบริเวณฝั่งตรงข้ามคลองตามความเหมาะสม เช่นเดียวกับฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกี่ยวเนื่องกับการสัญจรในบริเวณย่านเกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่นี้ซ้อนทับกับเส้นทางจักรยานที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับปรุงดังที่กล่าวมาแล้วตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถจักรยานสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย และส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยขณะนี้มีเส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวระยะทาง ๘ กิโลเมตร รอบเกาะรัตนโกสินทร์ที่ผ่านสถาปัตยกรรมและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
โครงการศึกษานี้จะนำแนวการพิจารณาในเชิงสถาปัตยกรรมชุมชนเมืองเพื่อมาใช้พิจารณาออกแบบจัดระบบการสัญจรสำหรับแต่ละกลุ่มประชากรที่มีเป้าหมายการเดินทางและด้วยวิธีการใช้ยานพาหนะที่หลากหลาย พิจารณาลักษณะเงื่อนไขกายภาพของเส้นทางการสัญจรที่ใช้รองรับปริมาณการจราจรของพาหนะชนิดต่างๆ ปริมาณและเวลาของการเดินทางสัญจร รวมขั้นตอนที่ผู้มีส่วนได้และเสียประโยชน์ได้มีโอกาสเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาและนำเสนอข้อคิดเห็นความต้องการ เพื่อให้บังเกิดเป็นแนวทางการออกแบบแก้ปัญหาที่ยั่งยืนทั้งในเชิงกายภาพและการบริหารจัดการ สามารถนำไปใช้ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของแนวเส้นทางที่ได้ประกาศใช้ไปแล้ว ทั้งยังอาจนำผลแนวทางการศึกษาไปขยายผลแก้ปัญหาในบริเวณอื่นของกรุงเทพมหานคร หรือพื้นที่ในภูมิภาคส่วนอื่นของประเทศ ตามความเหมาะสม
โครงการเริ่มเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ โดยมีการนำเสนอผลการศึกษาขั้นต้นในรูปแบบการเสวนาในงานสมาคมสถาปนิกสยามฯประจำปี ๒๕๕๘ ในวันที่ ๑ พฤษภาคม ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี และทำต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ ในขั้นสรุปผล
โครงการนี้มุ่งหวังที่จะสร้างพื้นฐานความรู้เข้าใจต่อสภาพการคมนาคมสัญจรอันเกิดจากกิจกรรมหลากหลายของการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุมชนเมือง และยังหวังที่จะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการระดมความคิดความต้องการจากภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของภาครัฐ
(ซ้าย) ปรึกษาหารือก่อนขี่จักรยานออกสำรวจ (ขวา) ศึกษาแผนที่ที่ลงสีแสดงการใช้ประโยชน์พื้นที่แบบต่างๆ
เช้าวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา โครงการได้เริ่มการสำรวจพื้นที่ขั้นต้น มีการศึกษาแผนที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ที่แสดงการใช้ประโยชน์ต่างๆ อย่างคร่าวๆ จากนั้นก็ขี่จักรยานออกสำรวจเส้นทางจักรยานที่ กทม. ได้จัดทำไว้และพื้นที่เชื่อมโยง และกลับมาหารือกันถึงขั้นตอนการดำเนินการต่อไป มีการแบ่งงานกัน ทั้งการขอข้อมูลที่มีอยู่แล้วบางส่วนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงปริมาณ และการศึกษาเชิงคุณภาพ รวมทั้งการสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่
ชมรมฯ จะความคืบหน้าของโครงการมานำเสนอต่อไป
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย