ชมรมฯ เข้าพบสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หารือการส่งเสริมการใช้จักรยาน
การประชุมที่ห้องประชุม ก่อ สวัสดิพาณิชย์, สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม ก่อ สวัสดิพาณิชย์ อาคารรัชมังคลาภิเษก ๑ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) คณะของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ๔ คน ประกอบด้วย ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ (ประธาน), นายกวิน ชุติมา (กรรมการ), นส.อัจจิมา มีพริ้ง (ผู้จัดการ) และนายพีระ เนตรวีระ (ผู้ประสานงาน) ได้เข้าพบหารือกับผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการเรื่องบทบาทของกระทรวงฯ ในการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ มติ ๕.๑ โดยคณะของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่เข้าร่วมการหารือ ๕ คน ประกอบด้วยนางนิตย์ โรจน์รัตนวาณิชย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง, นายวิวัฒน์พงศ์ เจริญนิธิปัญญา หัวหน้ากลุ่มพัฒนานโยบายเร่งด่วน, นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ๒ คนคือนางชลธิชา พยัคฆ์พงศ์ กับนางปุญญ์พัชชาณัฏฐ์ ใจสถาน และนางสุธีรา ไชยถา นักวิเคราะห์นโยบายและแผน
คณะของกระทรวงฯ ได้ให้ข้อมูลว่า กระทรวงฯ ให้ความสนใจและความสำคัญในการส่งเสริมการใช้จักรยาน และจัดให้มีการประชุมในเรื่องนี้ไปเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ โดยผู้ร่วมประชุมมีรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย และผู้บริหารหน่วยงานในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น สนย. สป., สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (ศอศ.), สภาการศึกษาฯ เป็นต้น ประเด็นที่หารือมี ๔ ประเด็นได้แก่ (๑) การบูรณาการเรียนการสอนการใช้จักรยานในหลักสูตรของสถานศึกษา (๒) การรณรงค์ให้มีการส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างปลอดภัย (๓) โครงการจักรยานยืมเรียน และ (๔) การสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นเขตการใช้จักรยาน โดยรัฐมนตรีได้สรุปเป็นมติของที่ประชุมว่า กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมการใช้จักรยาน โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่แต่ละโรงเรียน
ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นิตย์ โรจน์รัตนวาณิชย์ กับ ศาสตราจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ในด้านการบูรณาการเรื่องการใช้จักรยานเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้มีทำอยู่บ้างแล้ว, ในด้านโครงการจักรยานยืมเรียนได้ทำไปเมื่อปี ๒๕๔๘ โดย สพฐ.ใช้งบประมาณ ๔๐๐ กว่าล้าน ซื้อจักรยาน ๓๐๐,๐๐๐ คัน (คันละ ๑,๑๗๒) ให้โรงเรียนนำไปให้นักเรียนยืมใช้ขี่มาโรงเรียน ที่ประชุมเห็นด้วยกับการทำโครงการนี้อีก แต่ติดขัดที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ อย่างไรก็ตามหากเป็นประโยชน์จริงๆ และชมรมฯ ช่วยผลักดัน ก็สามารถใช้งบกลางของกระทรวงฯ ได้ โดยมีแนวคิดว่า ในเบื้องต้นน่าจะเป็นโรงเรียนในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพฯ ๗๐๐ กว่าโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนในชนบทห่างไกล นักเรียนเดินทางมาโรงเรียนลำบาก
ทางชมรมฯ ได้เสนอแนวทางการร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับชมรมฯ เป็น ๖ ด้านคือ (๑) การจัดตั้งคณะทำงานส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานเพื่อสถานศึกษา (๒) การพัฒนาหลักสูตรบูรณาการเดินการใช้จักรยานในสถานศึกษา (๓) โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ (๔) โครงการรณรงค์เดิน-ขี่จักรยานไปโรงเรียน (๕) โครงการอาสาสอนอาสาซ่อม (๖) งานเปิดตัว ศธ. หนุนเด็กไทยเดินปั่นโดยชมรมฯ ยินดีเข้าร่วมและสนับสนุนอย่างเต็มที่เพราะเป็นบทบาทหน้าที่โดยตรง
(จากซ้ายไปขวา) นางสุธีรา, นายวิวัฒน์พงศ์, ผู้ช่วยปลัดฯ นิตย์, ศ.ธงชัย, นายกวิน และ นส.อัจจิมา
ทางผู้ช่วยปลัดกระทรวงและคณะรับจะนำข้อแรกไปเสนอปลัดกระทรวงเพื่อพิจารณานำเสนอรัฐมนตรีให้ตั้งคณะทำงานดังกล่าว ในระดับนโยบาย ส่วนการดำเนินงานตามข้อ ๒ ถึงข้อ ๕ นั้นจะเป็นบทบาทของหน่วยงานระดับกรมแต่ละหน่วยซึ่งในกระทรวงศึกษาธิการมีอยู่ ๙ หน่วย แต่ละหน่วยมีอำนาจตัดสินใจดำเนินงานและจัดสรรงบประมาณด้วยตนเอง ชมรมฯ ควรประสานเข้าพบหารือกับผู้บริหารแต่ละหน่วยงานโดยตรง เช่น
– โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ คือการใช้เวลาช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการใช้จักรยาน เช่น การจัดค่ายจักรยาน หน่วยงานดำเนินการจะเป็น สป. และ สพฐ.
– โครงการส่งเสริมให้เด็กนักเรียน (รวมทั้งครูและบุคลากรของโรงเรียน) ขี่จักรยานหรือเดินไปโรงเรียน หน่วยงานดำเนินการจะเป็น สพฐ. ซึ่งจะต้องมีข้อมูลการใช้จักรยานของบุคคลดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งข้อมูลนี้จะได้มาจากการวิจัย ในเรื่องนี้ สป.สนใจและสามารถทำได้เลย โดยออกแบบเก็บข้อมูลให้ทุกโรงเรียน
– โครงการอาสาสอนอาสาซ่อม จัดหาอาสาสมัครจากนักเรียนช่างไปซ่อมจักรยานให้ชุมชน และมีการเรียนการสอนการดูแลและซ่อมแซมจักรยาน หน่วยงานดำเนินการจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.)
ทางชมรมฯ จึงจะติดต่อประสานงานขอเข้าพบหารือกับผู้บริหารหน่วยงานเหล่านี้ต่อไป
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย