ชมรมฯ ร่วมการประชุมพิจารณาเส้นทางจักรยานชุมชนในเขตทวีวัฒนา
เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ที่ห้องประชุม สำนักงานเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร โครงการปรับปรุงเส้นทางจักรยานชุมชนของกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ-เขตทวีวัฒนา ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๑ ขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นางรัตนธร รัตนสกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา, ที่ปรึกษาประธานฝ่ายปกครอง สภา กทม., ตัวแทนสำนักงานตลาด กทม., สมาชิกสภาเขต, ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตทวีวัฒนา, สารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลธรรมศาลา, รองสารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลศาลาแดง, ประธานชุมชนที่เกี่ยวข้องได้แก่ชุมชนกอแก้ว ชุมชนวัดปุรวาตร ชุมชนราชมนตรี ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ ชุมชนหลังสถานีรถไฟธรรมสพน์ ชุมชนหมู่บ้านสุขกวี และชุมชนสกุลทิพย์ และตัวแทนองค์กรจักรยานได้แก่สมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย, ชมรมจักรยานทวีธาภิเษก, ชมรมนักปั่นธนบุรี และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (นายกวิน ชุติมา) และคณะผู้ดำเนินโครงการฯ จากมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผศ.ดร.กิตติโชค จักไพวงศ์ หัวหน้าโครงการฯ
ผช.ผอ.เขตทวีวัฒนา ได้กล่าวเปิดประชุมเน้นว่า ในการทำเส้นทางจักรยาน สิ่งที่ต้องคำนึงสูงสุดคือความปลอดภัย รองลงมาความเหมาะสมของเส้นทางที่ให้ประโยชน์สูงสุด
จากนั้นผู้ดำเนินโครงการได้เล่าความเป็นมาของโครงการว่า เกิดจากการที่ กทม.ต้องการทำเส้นทางจักรยาน แต่การดำเนินงานที่ผ่านมาประสบปัญหาหลายด้าน โฆษก กทม. ได้หารือกับสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย แล้วชวนมหาวิทยาลัย ๗ แห่งมาร่วมในการศึกษาหาเส้นทางที่เหมาะสมในทั้งห้าสิบเขตของกรุงเทพฯ แนวทางการดำเนินงานคือมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งแบ่งรับงานไปแห่งละ ๗ เขต เมื่อศึกษาและออกแบบแล้วก็นำผลมาหารือกับทางสำนักงานเขตโดยเฉพาะฝ่ายโยธา ร่วมกันเลือกเส้นทาง ๓ เส้นเป็นการนำร่อง และจัดการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ นักจักรยาน สำนักงานเขต ส่วนงานของ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานีตำรวจในพื้นที่ เมื่อทุกฝ่ายเห็นชอบก็เสนอ กทม. ตั้งงบประมาณมาก่อสร้าง จาก ๕๐ เขตในปี ๒๕๕๗ มี ๒ เขตที่ถึงขั้นตั้งงบแล้ว จากนั้นก็ได้เสนอเส้นทางจักรยาน ๓ เส้นทางพร้อมรูปแบบให้เลือก ได้แก่ (๑) ถนนศาลาธรรมสพน์ (๒) ถนนสวนผัก และ (๓) ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก ทั้งสามเส้นทางนี้มีคนใช้จักรยานอยู่มากพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตามที่ประชุมสามารถเสนอความเห็นได้เต็มที่ รวมทั้งการเปลี่ยนไปเลือกเส้นทางสายอื่นด้วย
ดร.ภัทรียา และ ดร.กิตติโชค ตัวแทนคณะผู้ดำเนินโครงการจากมหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เช่น สำนักงานตลาดต้องการส่งเสริมตลาดสนามหลวง ๒ จึงเสนอให้ทำทางจักรยานเข้าไปเชื่อมต่อ ทางด้านตำรวจเห็นว่า ถนนศาลาธรรมสพน์ไม่ปลอดภัยกับการขี่จักรยานเพราะแคบ มีรถบรรทุกมากและใช้ความสูงเร็ว ๘๐-๑๐๐ ถ้าจะทำต้องขยายถนน ช่องทางจักรยานควรทำบนถนน ทาสี มีหลักกั้นและไปทางสองข้างถนน การทำทางให้ขี่สวนกันมีโอกาสจักรยานชนกันเองสูง ทางจักรยานบนทางเท้าจะใช้ไม่สะดวก ส่วนประธานชุมชนมีความเห็นในแนวเดียวกันว่า ความจริงก็มีคนขี่จักรยานในเส้นทางนี้มากอยู่แล้วโดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ขี่ผ่านออกไปท่องเที่ยวเขตนครปฐม เขาไม่กลัวที่จะใช้ แต่ถ้าจะทำทางจักรยานก็เห็นด้วย
ทางด้านนายมานพ ปรางทิพย์ ประธานชุมชนสกุลทิพย์ หนึ่งใน ๑๒ ชุมชนนำร่องส่งเสริมการใช้จักรยานในโครงการสนับสนุนการเดินและการสร้างชุมชนจักรยานสู่กรุงเทพฯเมืองน่าอยู่ ที่ดำเนินงานโดยมูลนิธิโอกาสด้วยการสนับสนุนของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้เล่าจึงการดำเนินงานของชุมชนที่ได้มีการประสานงานกับเขตและ กทม.อย่างใกล้ชิด ซึ่งทาง ผช.ผอ.เขต ก็ได้เสริมว่า ในเขตทวีวัฒนานี้ ชุมชนสกุลทิพย์เป็นชุมชนหลักในเรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยาน ชาวชุมชนใช้ในชีวิตประจำวัน ไปตลาด ไปโรงเรียน ในระยะใกล้ ๑-๒ กิโลเมตร มีการคิดรอบด้าน เช่น การให้มีที่จอดจักรยาน การซ่อมจักรยาน ฯลฯ ทางเขตช่วยปรับปรุงทางเท้าให้ใช้ขี่จักรยานได้ดีพอสมควรและมีเส้นทางหลายเส้น
ส่วนตัวแทนชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้แสดงความเห็นว่า เนื่องจากเป็นโครงการปรับปรุงเส้นทางจักรยานชุมชน จึงควรเป็นเส้นทางที่ชาวชุมชนใช้ในชีวิตประจำวันจึงจะได้ประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน และเมื่อคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ หากมีเขตทางทำได้ ควรทำเป็นทางจักรยานแยกต่างหากจากถนน แบบที่ที่ประชุมของเขตภาษีเจริญเลือกทำตามถนนพุทธมณฑลสาย ๑ หากทำไม่ได้ก็ควรมีมาตรการอื่นเสริมการทาสีตีเส้นเป็นช่องทางรถจักรยาน เช่น การจำกัดความเร็ว
ในการอภิปรายกันนั้น ผู้เข้าร่วมหลายคนได้เสนอและแสดงความเห็นให้ทำทางจักรยานตามถนนเลียบคลองทวีวัฒนา ซึ่ง ดร.กิตติโชค ก็ได้แสดงความเห็นด้วยว่าหากทำให้ร่มรื่น ขี่ได้ต่อเนื่อง ก็จะมีคนขี่กันมาก ทั้งทำทางแยกเข้าเชื่อมสนามหลวง ๒ ได้สะดวก และในอนาคตเส้นทางนี้ยังใช้ขี่จักรยานไปต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดง(เมื่อสร้างเสร็จ)เข้าไปในกรุงเทพฯได้สะดวกอีกด้วย ทาง ผช.ผอ. เขตจึงสรุปว่า เส้นทางตามถนนเลียบคลองทวีวัฒนาน่าจะเป็นเส้นทางดีที่สุด เชื่อมกับชุมชนได้จำนวนมาก ให้ทางคณะมหาวิทยาลัยมหิดลผู้ดำเนินโครงการรีบออกแบบเสนอมา
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย