การพัฒนาหลักสูตรเดินจักรยานในโรงเรียนคืบหน้าไปอีกขั้น
ช่วงเช้าวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ที่ห้องพวงชมพู อาคาร ๑ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต ๑ (สพป.๑)ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้จัดการประชุมหารือรับฟังกรอบแนวคิดและรายละเอียดการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนการเดินและการใช้จักรยานในโรงเรียน ใน “โครงการหลักสูตรบูรณาการความรู้และทักษะเกี่ยวกับการเดินและการใช้จักรยานในสถานศึกษา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ มติ ๕.๑ การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ข้อ ๑.๕ “กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้สถานศึกษามีหลักสูตรให้ความรู้และพัฒนาทักษะเกี่ยวกับการเดินและการใช้จักรยาน อาทิเช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะการใช้สัญญาณมือและไฟจักรยาน ให้ถูกต้องและปลอดภัย และสนับสนุนให้ใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง แก่นักเรียนนักศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้เดินหรือใช้จักรยานในการเดินทางมาเรียน ด้วยการมีส่วนร่วมของนักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนและจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินและการใช้จักรยานภายในสถานศึกษา”
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยศาสตราจารย์กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและประธาน, นายกวิน ชุติมา กรรมการ และ นส.อัจจิมา มีพริ้ง ผู้จัดการ จากชมรมฯ, อาจารย์จันทร์เพ็ญ พรมจันทร์ ที่ปรึกษาโครงการ, นายศีลพงษ์ วิชิต ศึกษานิเทศก์ สพป.๑ และครูจากโรงเรียนในจังหวัดเชียงรายที่กำลังพิจารณาเข้าร่วมนำร่องการนำหลักสูตรที่ยกร่างขึ้นไปทดลองใช้ ได้แก่ นายเดชา ประชุม รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านรวมมิตร อำเภอเมือง, นางสายทอง ธนสิทธิ์, นายศุภวัจน์ พรมตัน และนายณรงศักดิ์ ปัญญาโส จากโรงเรียนนครวิทยาคม อำเภอพาน และนางทัศนีย์ จากโรงเรียนชุมชนบ้านแม่ข้าวต้มหลวง อำเภอเมือง
ประธานชมรมฯ อธิบายถึงการส่งเสริมการใช้จักรยาน ผู้จัดการชมรมฯ, อาจารย์จันทร์เพ็ญ, นายศีลพงษ์ และครูจากโรงเรียนที่จะนำร่อง
อาจารย์จันทร์เพ็ญได้เสนอร่างหลักสูตรที่ได้ปรับปรุงจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาแนวทางการนำหลักสูตรความรู้และทักษะการเดินและการใช้จักรยานไปใช้ในสถานศึกษาและแนวทางการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมหลักสูตร” เมื่อวันที่ ๑๓-๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๗ ดังที่ชมรมฯได้รายงานไปก่อนหน้านี้แล้ว (http://www.thaicyclingclub.org/article/detail/2564) ให้มีรายละเอียดมากขึ้น จากนั้นครูจากโรงเรียนที่จะเข้าร่วมนำร่องนำหลักสูตรที่จะพัฒนาขึ้นไปใช้ได้ช่วยกันแสดงความคิดเห็น จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า เนื่องจากนอกจากสาระวิชาหลัก ๘ วิชา แล้วปัจจุบันรัฐบาลยังมีเพิ่มเข้าไปอีก ๓ วิชาคือ เศรษฐกิจพอเพียง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน(AEC) และหน้าที่ ๑๒ ประการ ดังนั้นในระยะแรกนี้จึงต้องบูรณาการเรื่องการใช้จักรยานเข้าไปในสาระวิชาหลัก และทำเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยจะมีการทำรายละเอียดการบูรณาการเข้าไปในแต่สารวิชาออกมาในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนปีนี้ เพื่อให้สามารถนำไปทดลองนำร่องใช้เมื่อเปิดภาคเรียนปีการศึกษาต่อไปในเดือนพฤษภาคม
ความคืบหน้าในโครงการนี้ โครงการจะนำมาเสนอต่อไป
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย