ชมรมฯ ร่วมงานสัมมนาวิชาการ ปฏิรูปเมือง
เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้เข้าร่วมการสัมมนาวิชาการ “ปฏิรูปเมือง: บนเส้นทางการปฏิรูปประเทศและการก้าวสู่ประชาคมอาเซี่ยน” ซึ่งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้จัดขึ้นที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ การสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดกว่าสี่ร้อยคน
ในช่วงเช้า คณะนักวิจัยของสถาบันฯ ได้เสนอผลงานวิจัยสามเรื่องต่อเนื่องกันคือ “เมืองเปลี่ยน ร่วมเปลี่ยนเมือง”, “การเพิ่มศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” และ “ถอดรหัสเมืองน่าอยู่” หลังจากผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อคิดเห็นแล้วก็เปิดให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมแสดงความเห็นด้วย
นายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้กล่าวว่า เราปฏิรูปเมืองก็เพื่อให้เมืองน่าอยู่และยั่งยืน โดยอ้างถึงการประชุมสิ่งแวดล้อมโลก Rio+20 ที่บราซิลเมื่อปี ๒๕๕๕ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการขนส่งที่ยั่งยืน ซึ่งใช้การเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorised Transport) ได้แก่การเดินและการใช้จักรยานเป็นวิธีหลักสำหรับการเดินทางระยะสั้นในเมือง และใช้ระบบขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะระบบราง สำหรับการเดินทางในระยะที่ไกลออกไปหรือการเดินทางระหว่างเมือง นายกวินตั้งข้อสังเกตว่า ในการนำเสนอและเอกสารแจกเรื่อง “ถอดรหัสเมืองน่าอยู่” แม้จะมีภาพคนขี่จักรยานใหญ่ๆ สามภาพ แต่ไม่กล่าวถึงการเดินทางที่ยั่งยืนไว้เลย มีกล่าวถึง “เมืองแห่งการเดิน/เมืองแห่งจักรยาน” (Walkable Cities/Bike Cities) เอาไว้เพียง ๗ บรรทัดในหัวข้อ “บริบทอื่นๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่” ทั้งที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเคยผลิตหนังสือ “การจราจรและขนส่งเพื่อเมืองน่าอยู่และยั่งยืน:แนวทางและมาตรการสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ออกมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ มีบทหนึ่งกล่าวถึงการส่งเสริม-สนับสนุนการใช้จักรยานเป็นการเฉพาะ จึงเสนอให้สถาบันฯ ทำวิจัยในประเด็นนี้มากขึ้นในกรอบการปฏิรูปเมือง เพราะการเดินและใช้จักรยานเป็นวิธีสัญจรระยะสั้นในเมืองได้ประโยชน์ทุกด้าน ไม่เพียงแต่ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังได้ในด้านพลังงาน สุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม และทำให้ทุกคนในเมืองได้อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียมตามหลักการและเหตุผลของการสัมมนาครั้งนี้
จากนั้นนายสุรพล เทียนสูตร นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองน่าน ได้ลุกขึ้นแสดงความเห็นต่อไปในทันทีว่า เมืองน่าอยู่ต้องเป็นเมืองปลอดภัย มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ชาวเมืองอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ในเรื่องการใช้จักรยานอาจต้องดูบริบทของเมือง กรุงเทพฯ น่าใช้ขนส่งมวลชนร่วมกับการเดินในการสัญจร น่านมองการใช้จักรยานเป็นพาหนะหลัก แต่จักรยานเป็นพาหนะที่อ่อนแอที่สุดบนถนน จึงต้องหามาตรการมาสร้างความปลอดภัยและทำให้มีร่มเงา ประชาชนจึงจะตัดสินใจมาใช้จักรยาน ปัจจุบันกิจกรรมส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นการจัดรณรงค์กันมาก เอารถยนต์บรรทุกจักรยานมาขี่กัน ไม่ได้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ยังขับรถยนต์ไปทำงานกัน ถ้าใช้จักรยานแทนรถยนต์และจักรยานยนต์ เมืองจะน่าอยู่ เราต้องสร้างทางจักรยานตามเส้นทางที่ประชาชนใช้ขี่ไปที่ที่เขาต้องการจะไปในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เส้นทางที่ขี่ไปเฉพาะเพื่อความบันเทิงหรือนันทนาการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อจัดประชุมขอความเห็น ผู้มาออกความเห็นที่เป็นคนใช้รถยนต์ คนค้าขาย ก็มักจะไม่เห็นด้วยไม่อยากให้ทำทางจักรยาน เมื่อเทศบาลต้องตัดสินใจก็อาจจะเปลี่ยนถนนให้เป็นเดินรถทางเดียว ทำทางจักรยานที่ขี่สวนกันได้ข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งให้จอดรถ รถจะได้ไม่มาจอดทับทางจักรยาน เรื่องนี้เมื่อไปขอความร่วมมือตำรวจที่เป็นเจ้าพนักงานจราจร เขาก็ให้ไปรับฟังความเห็นประชาชนก่อน นายกเทศมนตรีมีข้อจำกัดในการตัดสินใจมาก ถูกบีบบังคับอย่างน้อยห้าด้าน จากกฎระเบียบต่างๆ ที่ออกมาควบคุมมากมายเพราะมองว่านักการเมืองท้องถิ่นคดโกง นายกเทศมนตรีอาจมีพวกน้อย มีฝ่ายค้านที่คอยแปรญัตติตัดงบประมาณ และถ้าข้าราชการไม่เอาด้วย “ใส่เกียร์ว่าง” ก็ทำอะไรไม่ได้ นายกเทศมนตรีไม่มีสิทธิย้ายเขา และอยู่ในตำแหน่งแค่สี่ปี ขณะที่ข้าราชการอยู่ไปตลอด นอกจากนั้นทีมของนายกฯเองบางทีก็ “แทงข้างหลัง” แกนนำชาวบ้าน/ชุมชนก็มีผลต่อการตัดสินใจเพราะเป็นคะแนนเสียงที่จะชี้ผลการเลือกตั้ง
เอกอัครราชทูตเดนมาร์กกล่าวถึงการส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้โคเปนเฮเกนเป็นเมืองน่าอยู่
ส่วนช่วงบ่ายเริ่มต้นด้วย ฯพณฯ มิคาเอล เฮ็มนิต วินเธอร์ (Mikael Hemniti Winther) เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย ขึ้นพูดในหัวข้อ “เมืองอนาคตที่เราต้องการ” (The Future Cities We Want)โดยยกตัวอย่างกรุงโคเปนเฮเกน นครหลวงของเดนมาร์กเป็นตัวอย่าง “เมืองที่เราทุกคนอยากไปอยู่” ท่านทูตเล่าให้ที่ประชุมฟังว่ามีหลายอย่างที่ทำให้โคเปนเฮเกนเป็นเมืองน่าอยู่ โคเปนเฮเกนจะเป็นเมืองหลวงเมืองแรกที่ “ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์” (Carbon Neutral) ในปี ๒๐๒๕ คือในอีกเพียงสิบปีข้างหน้า โดยมีแผนลดการปล่อยคาร์บอนอย่างละเอียดถี่ถ้วน ที่ตั้งเป้าให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ยังเพิ่มขึ้นตลอดในขณะที่การบริโภคพลังงานมวลรวม (Gross Energy Consumption) แทบคงที่และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ด้วยวิธีการต่างๆที่ทำให้ชาวเมืองสนุกและมีส่วนร่วม มีการจัดการน้ำเสียจนแม่น้ำสะอาดว่ายเล่นได้ ทำให้อากาศสะอาดด้วยการส่งเสริมการใช้จักรยาน (ท่านทูตฉายภาพ “ทางด่วนจักรยาน” (Super Bike Lane) ในโคเปนเฮเกน และบอกว่ากรุงเทพฯ ก็ทำได้ ตัวท่านทูตเองก็ขี่จักรยานในกรุงเทพฯมาแล้ว) จำกัดการใช้รถยนต์และรถบรรทุกควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงาน สร้างพื้นที่สีเขียว (Urban Green Spaces) ทั่วเมือง เป็นแนวทางสำคัญในการวางผังเมือง (ท่านทูตบอกว่า กรุงเทพฯ ก็มีบ้างเช่น สวนลุมพินี แต่ยังมีน้อย) ที่เดนมาร์ก ทุกโรงเรียนมีพื้นที่สีเขียว ที่เด็กนักเรียนออกมาใช้บ่อยให้เรียนรู้ที่จะรักธรรมชาติ
หลังจากนั้น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้พูดในหัวข้อ “เมืองในฝัน” และมีการสนทนาในหัวข้อ “เมืองตั้งรับ สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติไร้พรมแดน” โดย ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กับ นายพัชระ สารพิมพา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักข่าวสปริงนิวส์ โดยมีนายชัยรัตน์ ถมยา พิธีกรและผู้สื่อข่าวไทยรัฐทีวี เป็นผู้ดำเนินรายการ ปิดท้ายด้วยการปาฐกถาพิเศษของ ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ “การดำเนินงานด้านสังคมของรัฐบาล: ปฏิรูปเมือง ปฏิรูปประเทศ”
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษ ยกการส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นตัวอย่างกิจกรรมรณรงค์และการผลักดันนโยบายเพื่อปฏิรูปเมือง ปฏิรูปประเทศ
ดร. ยงยุทธ์ ได้ใช้เวลาเกือบครึ่งหนึ่งในการปาฐกถาประมาณสามสิบนาที ยกการส่งเสริมการใช้จักรยานมาเป็นตัวอย่างกิจกรรมรณรงค์และการผลักดันนโยบาย ด้วยสไลด์ ๑๔ จาก ๔๘ ภาพที่เจ้าหน้าที่ทำมาให้ ในจำนวนนี้หลายภาพเป็นภาพของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะสามเหลี่ยมหรือปิรามิดของคนขี่จักรยานซึ่งรองนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนทั้งสามระดับ คือ “ผู้ใช้จักรยานทั่วไปอย่างเรา”, นักจักรยานที่ปั่นรณรงค์ และนักแข่ง
ดร.ยงยุทธ์กล่าวว่านายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้มีเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัยทั้งในเมืองและในชนบท กทม.เองก็ให้ความร่วมมือ แต่ทำได้ลำบาก ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไข เช่น ถนนเล็ก เมื่อทำทางจักรยานก็ทำให้ผู้ใช้ถนนอื่นๆ อึดอัด ทางจักรยานนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดทำในหลายจังหวัด รองนายกฯ ยอมรับว่าเรื่องการใช้จักรยานนี้ ในยุโรปไปไกลกว่าเราเยอะ หลายแห่งจักรยาน “ใหญ่” กว่ารถยนต์ สำหรับการดำเนินงานของรัฐบาลมีกรอบว่าให้ครอบคลุมผู้ใช้จักรยานทั้งสามกลุ่ม นำร่องได้ในทุกจังหวัด ใช้งบประมาณไม่มาก และสามารถทำได้ทันที ใช้เวลาสั้น ทำให้เกิด “เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” มีสถานที่ให้ไปขี่จักรยานหรือเดิน พักผ่อน ออกกำลังกายได้ โดยรัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์ ๓ ส. คือ สวน เส้นทาง และสนาม รัฐบาลยังมีโครงการถนนคนเดินและปั่นจักรยานวันอาทิตย์ ร่วมกับ กทม. และมีโครงการเมืองเดินดีกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กทม. นอกจากนั้นในการปาฐกถาครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงโครงการทางด้านสังคมอีกหลายโครงการในการพัฒนาชุมชนและปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งแม้จะไม่ใช่เพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานโดยตรง ก็เอื้ออำนวยต่อการเดินและการใช้จักรยานด้วย
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย