ทั่วประเทศจะรวมพลังปั่นมาขอนายกฯ หยุดคนเมาขับรถ
เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเมาไม่จับได้ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้จักรยานจัดเวทีเสวนา “รวมพลังนักปั่น หยุดความตายบนถนน” โดยมีผู้เข้าร่วมจากมูลนิธิเมาไม่ขับ และตัวแทนกลุ่ม/ชมรมจักรยานจาก ๙ จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน นครสวรรค์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุดรธานี และนครปฐม รวมทั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งมีนายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ เป็นตัวแทน, สมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย และเครือข่ายผู้ใช้จักรยานประเทศไทย โดยมีไทยรัฐและสยามรัฐเป็นสื่อมวลชนมาติดตามรายงานข่าว
นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวเปิดการเสวนาว่า เราจะมาร่วมกันหยุดความตายบนท้องถนน ไม่ใช่ต่อเฉพาะนักปั่นจักรยาน แต่ต่อทุกคน คนเมาแล้วขับรถก่อการสูญเสียโดยไม่เลือกไม่ละเว้นว่าเป็นใคร ปัจจุบันรถชนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่ป้องกันได้อันดับ ๑ ของไทย คืออย่างต่ำปีละ ๒๔,๐๐๐ คน คือเฉลี่ยวันละ ๖๐ คน ทั้งเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คือกลุ่มใหญ่ที่สุดอายุต่ำกว่า ๓๐ ปี แต่ทุกคนมีโอกาสเป็น “เหยื่อ” เท่ากัน ทั้งที่ป้องกันได้ ไม่ใช่ “ซวย” “ดวงไม่ดี” “ถึงที่” “เป็นชะตาลิขิต” หรือ “กรรมเก่าตามทัน” ดังที่บางคนชอบพูด เราสามารถป้องกันไม่ให้คนเมาออกไปขับรถเป็น “มลพิษ” บนท้องถนนได้ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่ทำไม่ได้ และหากทำขึ้นมาก็ต้องลงโทษคนที่เมาแล้วขับรถทันทีด้วยการจำคุกเพียงอย่างเดียวจึงจะได้ผล
(รูปซ้าย) จากซ้ายไปขวา:คุณมงคล งานขยัน นักปั่นที่อยู่ในเหตุการณ์, คุณเอกชัย แก้วเกษ ประธานชมรมเสือสันทราย จ.เชียงใหม่, นพ.แท้จริง ศิริพานิช และคุณกฤษดา กำแพงแก้ว (รูปขวา) ตัวแทนกลุ่มจักรยานต่างๆ ร่วมเสวนาอย่างคึกคัก
จากนั้นผู้เข้าร่วมได้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นในการเคลื่อนไหว โดยเห็นตรงกันว่า จะเน้น “เมาไม่ขับ” และเรียกร้องให้ “เอาคนเมาออกจากถนน” ซึ่งจะสร้างความปลอดภัยให้ทุกคน ไม่เฉพาะคนใช้จักรยาน ในขณะที่คุณกฤษดา กำแพงแก้ว ที่ช่วยประสานงานการดำเนินงานเกี่ยวกับกรณีนี้ทางเชียงใหม่และภาคเหนือได้เล่าให้ฟังถึงแง่มุมและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดำเนินการในด้านการรับเงินประกันและคดีความ ซึ่งตัวแทนชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้แนะนำให้บันทึกข้อมูลความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับไว้อย่างละเอียด นำมาทำเป็นคู่มือแจกให้กลุ่ม-ชมรม-เครือข่ายจักรยานทุกจังหวัดใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานหากเกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้ขึ้นอีก หลังจากหารือกันอย่างคึกคักทั้งวันจากเดิมที่กำหนดไว้เพียงครึ่งวัน ในที่สุด ที่ประชุมก็ได้ข้อสรุปเป็นแนวทางการดำเนินงานหลักๆ ๒ ประการคือ
๑) ประสานงานให้ชมรมและเครือข่ายจักรยานในจังหวัดต่างๆ ช่วยกันระดมขอการสนับสนุนจากประชาชนให้ร่วมลงนามในหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดจริงจังกับผู้กระทำผิดกรณีเมาแล้วขับ บังคับตรวจแอลกอฮอล์ทันทีเมื่อเกิดการชน และขอให้ศาลให้ความร่วมมือลงโทษผู้กระทำผิดโดยไม่รอลงอาญา
๒) จัดขี่จักรยานจากเชียงใหม่ในวันที่ ๓ มิถุนายน มายื่นหนังสือเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาเมาแล้วขับ พร้อมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนในวันอังคารที่ ๙ มิถุนายน ในเบื้องต้นกลุ่มเชียงใหม่ราว ๒๐ คน รวมทั้งลูกสาวของผู้เสียชีวิต จะเป็นแกน สมทบด้วยผู้ใช้จักรยานจังหวัดต่างๆ ตามเส้นทาง มีจุดพักค้างคืนที่ลำปาง ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอยุธยา ถึงกรุงเทพฯ วันที่ ๘ มิ.ย. โดยหวังจะให้มีตัวแทนผู้ใช้จักรยานจากทุกจังหวัดร่วมยื่นหนังสือ ทางนักจักรยานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมาร่วมขบวนในช่วงอยุธยา-กรุงเทพฯ
คุณกฤษดา กำแพงแก้ว รับมอบเงินบริจาคจากเครือข่ายขอนแก่น ในนามของครอบครัวผู้เสียชีวิต
ในโอกาสนี้ เครือข่ายชมรมจักรยานจังหวัดขอนแก่นได้ทำไวนิลขนาดใหญ่มาให้ผู้เข้าร่วมเสวนาลงนามไว้อาลัยและประกาศเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันสร้างความปลอดภัยบนถนนจากคนเมา นอกจากนั้นตัวแทนเครือข่ายฯ ยังได้มอบเงินที่นักจักรยานในจังหวัดขอนแก่นกว่า ๗๐๐ คนร่วมกันบริจาคสนับสนุนให้กำลังใจแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตคนละ ๒,๐๐๐ บาท และผู้บาดเจ็บคนละ ๑,๐๐๐ บาทอีกด้วย
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย