Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ตำรวจรับทดลองใช้ข้อเสนอการปรับปรุงระบบสัญจรในเกาะรัตนโกสินทร์

ตำรวจรับทดลองใช้ข้อเสนอการปรับปรุงระบบสัญจรในเกาะรัตนโกสินทร์

ตำรวจรับทดลองใช้ข้อเสนอการปรับปรุงระบบสัญจรในเกาะรัตนโกสินทร์

                ตามที่รายงานข่าวมาเป็นระยะๆ ถึงความคืบหน้าของ โครงการศึกษาเพื่อจัดระบบการสัญจรในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา คณะผู้ทำการศึกษาได้ไปเสนอผลการศึกษาเป็นครั้งแรกในการเสวนาที่งานสถาปนิก 58 (ดูข่าวที่  http://www.thaicyclingclub.org/article/detail/6871) โดยโครงการฯ มีข้อเสนอ 9 ข้อ ได้แก่

1.         การจำกัดปริมาณรถเข้าสู่พื้นที่ชั้นในของเมือง

2.         การจัดระบบการจราจรเดินรถทางเดียว

3.         การจัดระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อลดจำนวนสายรถประจำทางที่วิ่งวนหรือผ่านบนพื้นที่

4.         การปรับเส้นทางการท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่

5.         การขยายเพิ่มเส้นทางจักรยานและทางคนเดินเท้า

6.         ถนนที่คนเดินเป็นประธาน

7.         การส่งเสริมการออกแบบถนนที่เหมาะสมต่อการสัญจรทุกรูปแบบหรือถนนที่สมบูรณ์

8.         การทดลองปฏิบัติ (จัดให้รถเดินทางเดียว / ทดลองควบคุมความเร็วของรถยนต์ / แบ่งพื้นที่ถนนมาเป็นทางเดินเท้า และทางเดินจักรยาน / จัดช่องจอดรถสำหรับธุรกิจ/ แก้ปัญหาเฉพาะทางจักรยานกรณีมีการจอดทับเส้นทางจักรยาน/ปรับปรุงสภาพแวดล้อม /ใช้เป็นตัวอย่างกับพื้นที่อื่นๆ) และ

9.         กระบวนการสาธารณะเพื่อปฏิรูปความคิดของสังคม

ล่าสุดโครงการฯ ได้ก้าวไปถึงขั้นขับเคลื่อนให้มีการนำข้อเสนอที่เป็นผลจากการศึกษาไปทดลองปฏิบัติเป็นการนำร่องแล้ว

(จากซ้าย) อ.ฉันทฤทธิ์, อ.ฉัตรสิริ, นางอรศรี และขวาสุด นายระพีพัฒน์

                โดยเมื่อวันที่ 20พฤษภาคม 2558ที่สำนักงานกองการท่องเที่ยว กทม. อาจารย์ฉันทฤทธิ์ วิโรจน์ศิริ และอาจารย์ฉัตรสิริ ธรรมารมย์ หัวหน้าทีมวิจัยของโครงการฯ และนายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ ได้พบหารือกับนางอรศรี ศิลปี หรือป้านิด ประธานประชาคมบางลำพู และนายระพีพัฒน์ เกษโกศล นักวิชาการท่องเที่ยวชำนาญการ กองการท่องเที่ยวฯ  ซึ่งทำงานกับชุมชนเก่าในกรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด ทีมวิจัยได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านย่านบางลำพูและสามแพร่งที่การห้ามจอดรถตลอดเวลาหลังมีการทำทางจักรยานที่มีหลักกั้นทำให้ค้าขายไม่ได้ เจ้าของกิจการจำนวนหนึ่งถึงกับจะขายร้านย้ายไปที่อื่น และขณะนี้มีชาวบ้านรวมลงชื่อขอให้แก้ไขปัญหาแล้วกว่า 700ราย  ทีมวิจัยได้ชี้แจงข้อเสนอที่เป็นผลจากการศึกษาที่ให้มีการปรับการสัญจรเป็นการเดินรถทางเดียวและให้จอดรถได้ จึงน่าจะช่วยแก้ปัญหา ได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย  ผู้เข้าร่วมการสนทนาเห็นพ้องกันว่าควรเสนอให้ กทม. นำข้อเสนอของโครงการไปทดลองใช้สักระยะ เช่น สามเดือน ว่าจะได้ผลเป็นอย่างไร

                ต่อมาในวันเดียวกัน อ.ฉันทฤทธิ์, อ.ฉัตรสิริ และนายกวิน เข้าพบนางสาวตรีดาว อภัยวงศ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการและโฆษก กทม. พร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร  หลังจากเสนอผลการศึกษาโดยสรุปแล้วก็ได้เล่าถึงการหารือกับแกนนำชุมชนบางลำพูและความเห็นร่วมกันให้ทดลองปรับใช้ระบบการเดินรถใหม่  ซึ่งคุณตรีดาวกล่าวว่า การสร้างทางจักรยานในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์นี้มีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง  อย่างไรก็ตาม กทม.จะรับข้อเสนอของโครงการฯไปทั้งหมด อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงต้องได้รับความเห็นชอบจากตำรวจจราจรในพื้นที่ จึงจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับทางตำรวจ 

ที่หัวโต๊ะ:(เสื้อตาหมากรุก) นายทวีศักดิ์, (เสื้อเหลือง) นส.ตรีดาว

อ.ฉันทฤทธิ์ (ที่สองจากซ้ายแถวขวา)  เสนอผลการศึกษาและฟังความเห็นจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ กทม.ที่เกี่ยวข้อง

                สองวันต่อมาในวันที่22พ.ค. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร  คุณตรีดาวได้ช่วยประสานงานเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจากสถานีตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ คือสถานีตำรวจนครบาล (สน.) พระราชวัง, สน. ชนะสงคราม และ สน.สำราญราษฎร์ มารับฟังและเสนอความคิดเห็นต่อข้อเสนอของโครงการฯ  ในส่วนงานของ กทม. นอกจากคุณตรีดาว แล้วก็มีนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์  ผอ. สจส., นายสุธน อาณากุล ผอ. สำนักงานวิศวกรรมจราจร, นายเจษฎา จันทรประภา แทน ผอ. สำนักการระบายน้ำ, นายสุประชา บวรโมทย์ แทน ผอ. สำนักการโยธา, นายวสันต์ บุญหมื่นไวย์ แทน ผอ. เขตพระนคร, นายประพาส เหลืองสิรินภา ผอ. กองนโยบายและแผนงาน, นายธีรวัจน์ หงส์แสนยาธรรม หัวหน้าฝ่ายวางแผนและออกแบบ สำนักวิศวกรรมจราจร และนายภานุ สุทธิมัย แทน ผอ. กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และนายรพีพัฒน์ กองการท่องเที่ยว ในส่วนโครงการฯ มี อ.ฉันทฤทธิ์, นายสุรพงษ์ แจ่มพนม นักศึกษาปริญญาโทการผังเมือง มหาวิทยาลัยศิลปากร และนายกวิน

                อ.ฉันทฤทธิ์ได้นำเสนอผลการศึกษาแสดงข้อมูลที่นำมาพิจารณาวิเคราะห์และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงระบบการสัญจรทั้ง 9แนวทาง  จากนั้นทาง สจส.ก็ได้นำเสนอต่อว่า ย่านบางลำพูและแพร่งนราร้องเรียนเข้ามามากที่สุดว่าการค้าเสียหายเนื่องจากมีการห้ามจอดรถ ทั้งที่ กทม.ประสงค์จะส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เอื้อต่อการค้า  สจส.ได้นำผลการศึกษาไปวิเคราะห์และเห็นพ้องกับข้อเสนอของทีมวิจัย แต่การจัดเดินรถทางเดียวจะต้องพิจารณาให้มาก ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการจราจรนอกพื้นที่ด้วย  ส่วนคุณรพีพัฒน์กล่าวว่าระบบทางจักรยานที่ทำไปมีผลกระทบ ทั้งต่อผู้ประกอบการเป็นรายบุคคล ที่บางรายแทบจะดำเนินการไม่ได้ต่อไป กำลังจะย้ายออกไป และต่อทั้งย่านซึ่งมีหลายมิติ มีความหมายทางประวัติศาสตร์ อาจจะตายไปด้วย  งานชุมชนที่ กทม.ทำเองก็เสียหาย ความจริงทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวมีมานานแล้วและอยู่ร่วมกับชุมชน ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาคือคงทางจักรยานแบบที่สร้างใหม่ไว้ แต่พิจารณาปรับเลิกห้ามจอด หรือถนนบางสายบางพื้นที่ เอาทางจักรยานแบบที่สร้างไว้ออก จัดให้เป็นการใช้ถนนร่วมกันโดยมีการจำกัดควบคุมความเร็ว  อย่างไรก็ตาม ผอ.สจส. ยืนยันว่าจะคงทางจักรยานที่ทำแล้วไว้ต่อไป แม้จะยังมีคนใช้น้อย แต่ก็จะส่งเสริมให้ใช้จริงจัง  ถนนเหล่านี้ยาวแค่ 400-500 เมตร หากจัดให้เดินรถทางเดียวและควบคุมความเร็วจะไม่มีผลกระทบทางเสีย บางสายอาจจะทำเป็นถนนทางเดินได้ด้วยในอนาคต  ระยะยาวจะดีต่อการค้าขาย นักท่องเที่ยวจะอยู่ยาวขึ้น  ที่สำคัญคือต้องคุยกับชุมชนให้เกิดความเข้าใจ ความจริงถ้าไม่จอดยาวก็จะไม่มีปัญหา  ทาง กทม.จึงยินดีรับข้อเสนอของทีมวิจัยไปทดลองทำ

                   ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่เข้าร่วมประชุมได้ร่วมแสดงความเห็นว่า ความจริงทางจักรยานมีมาตั้งแต่ปี 2553มีนักจักรยานร้องเรียนปัญหาเข้ามาบ้างประปราย แต่เมื่อมีการประกาศข้อบังคับการใช้ มีการปักหลักและห้ามจอด ตำรวจก็ต้องทำตามกฎหมายให้ทางใช้ได้  ขณะนี้ก็ยังมีคนมาขี่จักรยานตามทางเหล่านี้น้อยมาก

                 ในขณะที่นายกวินได้ย้ำว่า ชมรมฯไม่ได้มองว่า “ทางจักรยาน” เป็นคำตอบเดียวในการสร้างความปลอดภัยและส่งเสริมการใช้จักรยาน  การจำกัดความเร็วที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอย่างเข้มงวดจริงจังก็สร้างความปลอดภัยให้ทุกคนที่ใช้ถนนได้สูงมาก และเป็นวิธีที่นิยมใช้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป ซึ่งตรงกับข้อเสนอของคณะที่ทำการศึกษาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์

                 สุดท้ายคุณตรีดาวได้สรุปว่าจะนำข้อเสนอและความเห็นทั้งหมดไปหารือกับเจ้าพนักงานจราจรและผู้บังคับบัญชาที่มีนัดหมายจะหารือกันวันที่ 25 พ.ค.

                 ต่อมาเมื่อวันที่ 25พ.ค. กทม.ได้นำผลการหารือเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ไปประชุมหารือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) สองท่านคือ พลตำรวจโท นิพนธ์ เจริญผล กับพลตำรวจตรี อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ เข้าร่วมรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจากสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ทั้งสาม ได้ข้อสรุปในการปรับปรุงการจราจรและข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์เป็นการนำร่อง ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2558ดังนี้

  

แผ่นพับของ กทม. ประชาสัมพันธ์การทดลองจัดระบบการสัญจรด้วยการเดินรถทางเดียว การอนุญาตจอดรถ และการควบคุมความเร็วที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

1. เรื่องการกำหนดทิศทางการเดินรถทางเดียว (One Way)

                1.1 ถนนพระสุเมรุกำหนดให้เดินรถทางเดียว จากแยกบางลำพู มุ่งหน้า ถึงแยกสิบสามห้าง

                1.2 ถนนตะนาว กำหนดให้เดินรถทางเดียว จากแยกคอกวัว มุ่งหน้า ถึงแยกสี่กั๊กเสาชิงช้า

2. เรื่องการอนุญาตจอดรถ

                2.1 ถนนพระสุเมรุ จากแยกบางลำพูถึงแยกสิบสามห้าง ห้ามจอดรถระหว่างเวลา 05.00-09.00 และ 15.00-20.00

                2.2 ถนนตะนาว จากแยกคอกวัวถึงแยกสี่กั๊กเสาชิงช้า ห้ามจอดรถทุกชนิดตั้งแต่เวลา 06.00 น.-20.00 น. เว้นวันอาทิตย์ (ตามข้อบังคับเดิม) และจากแยกคอกวัวถึงริมคลองวัดมหรรณพาราม ห้ามจอดรถทุกชนิดตลอดเวลา (ตามข้อบังคับเดิม)

3. เรื่องการควบคุมความเร็วยานพาหนะ ไม่เกิน 30 กม./ชม. ในถนนต่อไปนี้

                3.1 ถนนพระสุเมรุ จากแยกบางลำพูถึงแยกสิบสามห้าง

                3.2 ถนนตะนาว จากแยกคอกวัวถึงแยกสี่กั๊กเสาชิงช้า

                3.3 ถนนดินสอ จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงแยกถนนบำรุงเมือง

                3.4 ถนนบำรุงเมืองจากแยกถนนดินสอถึงแยกสำราญราษฎร์

4. เรื่องการอนุญาตให้จักรยานสามารถขับขี่สวนกันได้ในช่องทางที่จัดไว้สำหรับจักรยานในถนน (คือถนน 12 สายที่ประกาศข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานครไปเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557) ดังต่อไปนี้: ถนนพระอาทิตย์, ถนนพระสุเมรุ, ถนนตะนาว,  ถนนบำรุงเมือง, ถนนกัลยาณไมตรี, ถนนสนามไชย, ถนนท้ายวัง, ถนนมหาราช, ถนนหน้าพระลาน, ถนนหน้าพระธาตุ, ถนนราชินี และถนนมหาไชย

  

ซ้าย) อ.ฉันทฤทธิ์เสนอผลการศึกษา  และ (ขวา) นส.ตรีดาว โฆษก กทม. และ พล.ต.ต. ดร. อดุลย์ ณรงศักดิ์ รอง ผบช.น. ร่วมแสดงความเห็น ที่หอศิลปะฯ กทม.

               ในช่วงบ่ายวันที่ 28 พฤษภาคม คณะผู้ทำการศึกษาได้จัดประชุมเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอของโครงการอย่างเป็นทางการต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง-ผู้มีส่วนได้เสียที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คนโดยมีคุณตรีดาว อภัยวงศ์ และ พล.ต.ต.ดร.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ ที่รับผิดชอบด้านการจราจรในกรุงเทพฯ มาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย  

               คุณตรีดาวได้เปิดเผยว่า การทำทางจักรยานเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดูแลพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ลดพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ ต่อไปแทนที่จะเป็นรถเก๋งรถบัสจะมีรถเล็ก รถราง และเรือรับคนเข้าไปในพื้นที่ และการพัฒนาใดๆจะต้องคำนึงถึงชุมชนในพื้นที่  และเจตนาในการทำทางจักรยานส่วนหนึ่งคือเพื่อส่งเสริมการค้าขายของชุมชน ตามที่ชมรมฯ เผยแพร่ว่าเกิดขึ้นในหลายประเทศ 

               ส่วน พล.ต.ต.อดุลย์ ชี้แจงสิ่งที่ตำรวจร่วมมือทำกับ กทม.มา  เมื่อเกิดปัญหาที่ชาวบ้านเดือดร้อนจากทางจักรยานก็มาคุยกันหาทางให้ทั้งชุมชนและคนใช้จักรยานได้ประโยชน์ ได้ข้อสรุปว่า (1) ต้องมีทางจักรยานที่แท้จริง คือใช้ได้สะดวกปลอดภัย จึงอนุญาตให้ขี่สวนกันได้ และขยายความกว้างจากเดิม 1.2 เมตร เป็น 1.5 เมตร (2) ให้รถจอดนอกทางจักรยาน คนลงมาซื้อของได้ ขนถ่ายสินค้าได้ (3) จำกัดความเร็วรถบนถนน 4 สายไว้ที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ (4) ให้เดินรถทางเดียวถนนสองเส้น  ทั้งหมดนี้เริ่มทดลองใช้ 1 มิถุนายน ถ้าได้ผลดี อยู่เอาไปใช้ทั่วกรุงเทพฯ ได้  พล.ต.ต.อดุลย์ย้ำว่า กทม. กับกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีความจริงใจที่จะพัฒนาช่องทางเดินรถสำหรับจักรยาน หากเริ่มต้นทำที่นี่ได้ดีก็จะเอาเป็นแนวทางเป็นแบบอย่างให้ที่อื่นนำไปพัฒนาได้  พล.ต.ต. อดุลย์เสนอให้ทำการศึกษาทำนองนี้ทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ ให้แต่ละเขตมีหนึ่งพื้นที่ และเปิดเผยว่าขณะนี้มีแผนจะทำเส้นทางที่เชื่อมต่อกันเป็นวง (Loop) เส้นที่สองแล้วแถวย่านมักกะสัน-วังทองหลาง

               ในเรื่องที่ พล.ต.ต.อดุลย์ อยากให้มีการศึกษาทั้งห้าสิบเขตนั้น ศ.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมฯ ให้ความเห็นว่า จะศึกษาที่ใดต้องดูว่ามีความพร้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคม ชมรมฯอาจหาคนมาช่วยศึกษาได้ แต่คงไม่ได้ทั้งห้าสิบเขต  ส่วนเรื่องทางจักรยานชุดที่สองนั้น ทางจักรยานอาจเป็นแบบทางปิด ไม่ต้องเป็นวงก็ได้  

                อ.ฉันทฤทธิ์กล่าวว่า เมื่อมีการทดลองปฏิบัติตามข้อเสนอของคณะผู้ทำการศึกษาบางส่วนแล้ว ก็จะมีการเก็บข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะชาวบ้านร้านค้าริมถนน ในระหว่างที่มีการทดลองใช้ เพื่อหาข้อสรุปมาปรับปรุงโครงการเพื่อการพัฒนาต่อไป โดยกะจะจัดประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง-ได้เสียครั้งแรกในปลายเดือนมิถุนายนหลังจากทดลองไปได้ประมาณหนึ่งเดือน

                 ท้ายสุด นายภราเดช พยัฆวิเชียร นายกสมาคมสถาปนิกการผังเมืองไทย กล่าวปิดการประชุมว่า จักรยานเป็นวิถีในการเข้าถึง ไม่ต้องย้ายคน แต่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการสัญจร  อย่างไรก็ตาม หากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็ต้องให้สอดคล้องกับมิติอื่นๆในพื้นที่ จึงควรจะค่อยๆมอง ค่อยๆทำไป การเอามาตรฐานที่อื่นมาใช้ต้องศึกษาปรับให้เหมาะกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โครงการศึกษานี้เป็นตัวอย่างในแง่กระบวนการศึกษาที่สามารถปรับเอาไปใช้ที่อื่นได้

                 การประชุมนำเสนอผลการศึกษาครั้งนี้มีสื่อมวลชน ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็คโทรนิก มาติดตามทำข่าวหลายราย ได้แก่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เดลินิวส์ และ Bangkok Post, TV3 (ข่าวสามมิติ), Nation TV และเว็บไซต์ของ สสส.  

                 เมื่อมีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับโครงการนี้ ชมรมฯจะนำมาเสนอต่อไป

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น