Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชมรมฯ ร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมร่วมกันสร้างกรุงเทพฯ เมืองปั่นปลอดภัย

ชมรมฯ ร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมร่วมกันสร้างกรุงเทพฯ เมืองปั่นปลอดภัย

ชมรมฯ ร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมร่วมกันสร้างกรุงเทพฯ เมืองปั่นปลอดภัย

              เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครด้จัดการประชุม “ร่วมกันสร้างกรุงเทพฯ เมืองปั่นปลอดภัย” ขึ้นที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมการเดินทางที่ยั่งยืน ที่มีสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เป็นแม่งาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความเห็นและร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้แทนภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการขี่จักรยาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนและสื่อมวลชน ในการเสนอแนวทางและกลไกในการช่วยส่งเสริมและนำไปสู่การใช้จักรยานได้อย่างปลอดภัยและเชื่อมต่อกับการเดินทางระบบอื่นไปช่วยแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน โดยในปี ๒๕๕๘ นี้ กทม.จะรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะและระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้น เพิ่มการเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์คือการเดินและการใช้จักรยาน

คุณทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผอ.สจส. เปิดการประชุม

               ในการเปิดประชุม นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการ สจส. ได้กล่าวถึงสิ่งที่ กทม.จะดำเนินการในปี ๒๕๕๘ เช่น การจัดปั่นจักรยาน ๙ ครั้ง, การจัดงาน Car Free Day ซึ่งมีแนวคิดจะปิดถนนสักสาย อาจเป็นบางเวลา, การทดลองเดินรถทางเดียวในถนนบางสายในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และการพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ในด้านความปลอดภัยหลังจากมีเหตุการณ์ที่นักจักรยานถูกรถชนเสียชีวิต เช่น จำกัดอายุคนที่ออกมาขี่จักรยานบนถนน  ผอ.สจส.แสดงความเชื่อมั่นว่าการเดินทางในกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนไปเมื่อรถไฟฟ้าทุกสายเสร็จเพราะประชาชนจะมีทางเลือกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และกล่าวย้ำปิดท้ายว่า หากอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นเหมือนเมืองโบโกต้า (เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบียที่ประชาชนสามารถเดินทางด้วยรถประจำทาง รถจักรยาน และการเดินเท้าอย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย) ก็ต้องช่วยกัน

                การเสวนาในช่วงต่อมามี ดร.จำรัส พิทักษ์ศฤงคาร อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้ดำเนินรายการ  ดร.จำรัสได้ฉายวิดิทัศน์เรื่องเมืองโบโกต้าและ Respect Everyone’s Journey (“เคารพการเดินทางของทุกคน” ซึ่งเป็นวิดิทัศน์สั้นๆ จากอังกฤษแสดงถึงการใช้ถนนร่วมกันอย่างเอาใจใส่และเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันระหว่างคนขับใช้กับผู้ขี่จักรยาน) และได้พูดถึงความสำคัญของการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในบริบททางการเมืองที่ให้ความเสมอภาคของการเดินทาง-ทุกคนสามารถเข้าถึงได้หมดในขณะที่มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถใช้รถยนต์ได้

คุณศิวะภาค เจียรวนาลี ผช.บก. A Day & Human Ride (ขวาสุด)

               จากนั้นเป็นการนำเสนอของวิทยากรสองคนที่ต่างเป็นคนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันและมีประสบการณ์ขี่จักรยานทั้งในและต่างประเทศ  คนแรกคือคุณศิวภาค เจียรวนาลี บรรณาธิการบทความที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยานและผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร A Day และ Human Rideด้มาแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในหัวข้อ “แลหน้า…ปั่นปลอดภัยในต่างประเทศ” และฉายภาพการใช้จักรยานในประเทศต่างๆ เช่น ไต้หวัน, สหรัฐอเมริกา (เมืองพอร์ตแลนด์) จากการที่ได้ไปบันทึกข้อมูลและถ่ายภาพมาทำหนังสือและรายการโทรทัศน์ ให้แง่คิดที่น่าสนใจหลายประการ

               วิทยากรคนที่สองคือ นายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ผู้ประกาศตนว่าเป็น Car Free Man เลิกใช้รถที่บ้าน หันมาใช้จักรยานในการเดินทางไปทุกหนแห่งในกรุงเทพฯ มาหลายปี มาแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในหัวข้อ เหลียวหลัง…ปั่นปลอดภัยในกรุงเทพฯคุณกวินได้ฉายภาพนำเสนอถึงการดำเนินงานของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศในการส่งเสริมการใช้จักรยานมา ๒๔ ปี โดยเน้นไปที่การผลักดันเชิงนโยบายตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ เป็นต้นมา และล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเพิ่งจัดการประชุมทางวิชาการ การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานครั้งที่ ๓ “ความปลอดภัยต่อการเดินและการใช้จักรยาน” 

                คุณกวินได้กล่าวถึงแง่มุมสำคัญต่างๆ ที่พบเจอจากการใช้จักรยานในกรุงเทพฯป็น ๓ หัวข้อใหญ่ๆ ได้แก่ (๑) สาเหตุและสภาพปัญหาความไม่ปลอดภัยของนักปั่นในปัจจุบัน เช่น ตะแกรงท่อระบายน้ำที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้จักรยานที่แม้จะแก้ไขไปหลายแห่งก็ยังมีอยู่ และการที่คนไทยขับรถเร็วมากทั้งขาดวินัยไม่เคารพกฎจราจร, (๒) แนวทางส่งเสริมการปั่นปลอดภัยในมิติต่างๆ ทั้งสิ่งที่ดำเนินการได้ทันที เช่น การจำกัดและควบคุมความเร็วที่ ๓๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง, การติดตั้งป้ายเตือนผู้ขับรถให้ระมัดระวังผู้ใช้จักรยาน, การสร้างทางจักรยานที่แยกจากทางรถ (Bike Track), การสร้างสะพานให้จักรยานข้ามถนน และการใช้ไฟกับวัสดุสะท้อนแสงเมื่อขี่จักรยานยามค่ำคืน และสิ่งที่ดำเนินการให้เกิดผลในระยะยาว เช่น การสอนการขี่จักรยานที่ปลอดภัยในโรงเรียนให้เด็กทุกคน และการปรับปรุงการสอนและการสอบเพื่อขอใบอนุญาตขับรถยนต์ให้มีผู้ขับรถเข้าใจและใส่ใจให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยาน และ (๓) การอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การที่ชมรมฯสนับสนุนให้นักผังเมืองทำโครงการศึกษาเพื่อจัดระบบการสัญจรในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีผลเบื้องต้นเป็นข้อเสนอหลายประการ เช่น การจำกัดความเร็ว และการปรับปรุงทางจักรยานให้กว้างขึ้นและขี่สวนทางได้, และการที่ชมรมฯ ร่วมกับกลุ่มจักรยานจากทั่วประเทศ มูลนิธิเมาไม่ขับ ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และ สสส. รณรงค์ ให้ดำเนินการกับคนเมาที่ขับรถชนผู้ใช้จักรยานและผู้ใช้ถนนอื่นๆ อย่างจริงจัง ทั้งในส่วนรัฐบาลที่ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและศาลที่ให้ลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเฉียบขาด ไม่รอลงอาญา

               ท้ายสุดได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักจักรยานจากชมรมจักรยานต่างๆ ในกรุงเทพฯ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีแง่คิดที่สำคัญและน่าสนใจหลายประการ เช่น ต้องปลูกฝังผู้ใช้ถนนทุกคนให้เคารพและสร้างความปลอดภัยให้ทั้งตนเองและผู้อื่น, นักจักรยานต้องไม่คิดว่าตนเองเป็นอภิสิทธิ์ชน, ชมรมจักรยานต่างๆ ต้องสอนและสร้างทักษะการขี่จักรยานให้ปลอดภัยแก่สมาชิกใหม่ทุกคน, ต้องให้คนที่สอบรับใบขับขี่รถยนต์เรียนรู้สัญญาณมือของคนใช้จักรยาน, ควรเน้นความปลอดภัยของคนเดินเท้าด้วย, ควรพัฒนา “ทางจักรยาน” ให้ปลอดภัยจริงๆ และขี่ได้สะดวก, ควรมีการจัดทำคู่มือการขี่จักรยานให้ปลอดภัยแจกจ่ายไปตามบ้าน และควรจัดให้ผู้ใช้ถนนทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกันจะได้เข้าใจกันมากขึ้น เพราะการประชุมวันนี้มีแต่คนใช้จักรยาน เป็นต้น

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น