ชมรมฯ ร่วมรณรงค์ เมา+ขับ = จับ+ขัง
เช้ามืดวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘ มีคนเมาขับรถชนขบวนจักรยานของชมรมเสือสันทราย จ.เชียงใหม่ ยังผลให้นายชัยรัตน์ ย่องลั่น, นายสมาน กันธา และนายพงษ์เทพ คำแก้ว เสียชีวิตทันที และมีนักจักรยานบาดเจ็บสาหัสอีก ๑ คน บาดเจ็บไม่สาหัสอีก ๑ คน และถัดมาเพียงวันเดียวในค่ำวันที่ ๔ พฤษภาคม ก็มีคนขับรถชนนักจักรยานที่ชานเมืองกรุงเทพฯ ยังผลให้ นส.ธัญยกร เด่นสิริมงคล เสียชีวิต, นายนิคม เช่นพิมาย บาดเจ็บสาหัส และนายอมรเทพ ชื่นใจเล็ก บาดเจ็บเล็กน้อย
เหตุการณ์ที่ป้องกันได้ทั้งสองที่เกิดขึ้นติดๆกันนี้ ไม่เพียงแต่ยังความโศกเศร้าให้แก่ครอบครัวของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังปลุกให้กลุ่มผู้ใช้จักรยานทั่วประเทศ เห็นว่าจะต้องไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปโดยที่ผู้เสียชีวิตต้องตายเปล่า ผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการเมาแล้วขับ การขับรถอันตราย และขับรถผิดกฎจราจรอื่นๆ ไม่ได้ถูกลงโทษอย่างเฉียบขาดจริงจัง ผลการพิพากษาของศาลออกมาเป็นเพียงการรอลงอาญาดังเช่นเหตุการณ์อื่นๆ แต่ครั้งนี้ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง จากการหารือกันหลายครั้งกับองค์กรภาคีต่างๆ ได้แก่มูลนิธิเมาไม่ขับ ที่เข้ามาเป็นกำลังสนับสนุนหลักและช่วยประสานงานกับฝ่ายราชการ, ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่สนับสนุนด้านวิชาการสถิติข้อมูล, ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ที่เข้ามาช่วยในการประสานงานด้านกฎหมาย, กลุ่ม-ชมรมจักรยานจากทั่วประเทศ และ สสส. ก็ได้ข้อตกลงว่าจะดำเนินการสามด้านหลักๆ คือ
(๑) การดำเนินคดีซึ่งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศรับไปติดต่อให้ทนายความที่มีประสบการณ์จากสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ามาว่าความ โดยประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทางครอบครัวผู้เสียหาย และแกนนำที่เชียงใหม่
(๒) การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการทางกฎหมายให้มีการบังคับใช้กฎหมายและลงโทษอย่างเฉียบขาดและเหมาะสมมากกว่าในปัจจุบัน ซึ่งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศรับไปติดต่อกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ให้จัดเสวนาทางวิชาการว่าจะแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายใดและแก้ไขอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ มีผลในการป้องปรามอย่างมีประสิทธิผล และ
(๓) การรณรงค์สร้างความตื่นตัวแก่สังคมให้สนับสนุนการเรียกร้องให้จับและคุมขังคนเมาที่ขับรถชนคนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสทันที ไม่รอลงอาญาเป็นคำขวัญ “เมา+ขับ = จับ+ขัง” ออกแบบฟอร์มให้คนทั่วประเทศลงนามสนับสนุน ตั้งเป้าไว้ที่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน และสร้างข่าวให้เกิดกระแสสังคมด้วยการจัดขบวนจักรยานรณรงค์ขี่จากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ และเข้าพบนายกรัฐมนตรีและประธานศาลฎีกา
ขบวนจักรยานรณรงค์ ๒๖ คนนี้มีกำลังหลักเป็นสมาชิกของชมรมเสือสันทราย นำโดยนายเอกชัย แก้วเกษ ประธานชมรม และมีสมาชิกของชมรมจักรยานลำพูนนำโดย ร.ต.สงบ ยอดอ่อน ประธานชมรม เข้าร่วม ๕ คน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยมีนายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ เข้าร่วม และยังมี นส.ก้องกานต์ และนางสาวนินนท์ ย่องลั่น บุตรีของนายชัยรัตน์ที่เข้าร่วมขี่ในช่วงออกจากเมืองและเข้าเมืองเป็นสัญลักษณ์ และเป็นตัวแทนของขบวนจักรยานในการพบกับทางราชการแต่ละจังหวัดที่มาต้อนรับหรือส่งขบวน และในการขอให้ประชาชนตามเส้นทางที่ผ่านร่วมลงนามสนับสนุนการรณรงค์ด้วย
(ซ้าย) กลุ่มนักจักรยานรณรงค์ก่อนเริ่มเดินทางหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ นครเชียงใหม่ (ขวา) รองผู้ว่าราชการเชียงใหม่ และ ผกก.จราจรเชียงใหม่ มาส่งขบวนจักรยาน
ขบวนจักรยานรณรงค์ออกเดินทางจากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ใจกลางนครเชียงใหม่เช้าวันที่ ๓ มิถุนายน โดยมีนายชนะ แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ พ.ต.อ. ปิยะ ภัทรพงศ์สินธุ์ ผกก.จราจรจังหวัดเชียงใหม่ นำคณะข้าราชการมาส่ง ขบวนจักรยานรณรงค์เดินทางถึงจุดหมายที่โรงแรมในกรุงเทพฯ อย่างปลอดภัยในบ่ายวันที่ ๘ มิถุนายน เมื่อผ่านหรือแวะพักค้างคืนที่จังหวัดใด (ยกเว้นสิงห์บุรี) ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากชมรมจักรยานในท้องถิ่นที่สมาชิกจะขี่จักรยานมารับก่อนถึงเมืองและขี่ไปส่งในตอนเช้าเมื่อออกเดินทางต่อ และจากหน่วยงานราชการในจังหวัดนั้น ๆ
พิธีต้อนรับและส่งขบวนจักรยานที่ลำพูน (ภาพซ้าย) นายอำเภอเมือง, รองนายก อบจ. และผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน (นั่งกลาง) (ภาพขวา) สมาชิกชมรมจักรยานลำพูน
ที่ลำพูน นอกจากชมรมจักรยานลำพูนที่ขี่มารับมาส่งและมีสมาชิก ๕ คนร่วมขบวนแล้ว ในส่วนราชการมี นายณรงค์ อ่อนสะอาด ผู้ว่าราชการจังหวัด, นายนรินทร์ สุวรรณ รองนายกเทศมนตรี อบจ.ลำพูน, นางดวงเดือน สดแสงจันทร์ ท่องเที่ยวและกีฬาลำพูน, นายณรงค์ โรจนโสทร นายอำเภอเมืองลำพูน, พ.ต.ท. พัทธพล สงบ สารวัตรจราจร สถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน นำคณะข้าราชการจำนวนมากมาต้อนรับ
(ซ้าย) นักจักรยานลำปางขี่ไปต้อนรับที่อำเภอห้างฉัตร (ขวา) ปลัดจังหวัดลำปาง (ชุดจักรยานฟ้าขาวตรงกลาง) นำข้าราชการและเหยื่อการเมาแล้วขับ มาส่งขบวนจักรยานรณรงค์
ที่ลำปาง นอกจากขี่ไปรับแล้ว ชมรมจักรยานลำปางนำโดยนายสุรพล ตันสุวรรณ ประธานชมรมฯ ยังจัดเลี้ยงอาหารค่ำให้ขบวนจักรยาน มีนายวีระเดช สมวรรณ ปลัดจังหวัด, นายกิติพันธ์ นวลจันทร์ฉาย ผู้พิพากษาสมทบ, นายคณิตย์ ชัยเพ็ชร กรรมการผู้ตัดสินสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) และนายภูวนัฐ อินทราชัย เจ้าของโรงแรมเอเชียลำปางที่ให้ราคาพิเศษกับขบวนจักรยานที่เข้าพัก ให้เกียรติมาร่วมงาน ส่วนในตอนเช้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้มอบให้ปลัดจังหวัดวีระเดชเป็นตัวแทน มาส่งขบวนจักรยาน พร้อมด้วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยลำปาง และท่องเที่ยวและกีฬาลำปาง กับข้าราชการจำนวนหนึ่ง โดยปลัดวีระเดชและนักจักรยานได้ขี่ไปส่งขบวนถึงอำเภอเกาะคา
(ซ้าย) กลุ่มข้าราชการทั้งพลเรือน ทหาร และตำรวจ ที่มาส่งขบวนจักรยานที่ศาลสมเด็จพระเจ้าตาก (ขวา) ร่วมลงนามไว้อาลัยนักจักรยานที่เสียชีวิตทั้งสี่คน
ที่ตาก นักจักรยานจากหลากหลายชมรม รวมทั้งทหารจากกองกำลังนเรศวรในตาก มาต้อนรับขบวนที่อำเภอบ้านตาก พาขี่ตามเส้นทางเลียบแม่น้ำปิงที่สวยงาม และในช่วงเช้า ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตาก พร้อมกับสาธารณสุขตาก และท่องเที่ยวและกีฬาตาก เป็นตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัด นำข้าราชการมาส่งขบวนที่ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
(ซ้ายไปขวา) ปลัดจังหวัดกำแพงเพชรมาต้อนรับ, ขบวนจักรยานขี่รณรงค์ในตัวเมืองกำแพงเพชร และได้โอกาสเชิญชวนคนลงนามสนับสนุนการเรียกร้องที่ตลาดย้อนยุคนครชุม
ที่กำแพงเพชร ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้นายรุ่งชัย ไพรกว้าง ปลัดจังหวัด มาเป็นตัวแทน (ทั้งผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ติดราชการไม่อยู่ทั้งหมด) พร้อมกับป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำแพงเพชร, ประชาสัมพันธ์กำแพงเพชร และรองสารวัตรตำรวจทางหลวง มาต้อนรับขบวนและในช่วงเย็นนักจักรยานกำแพงเพชรพาขบวนขี่รณรงค์ในตัวเมืองและไปกินอาหารที่ตลาดย้อนยุคนครชุมที่ชาวบ้านพร้อมใจแต่งกายย้อนยุคมาขายของจนเริ่มมีชื่อเสียง และได้ใช้โอกาสนั้นประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ไปเที่ยวตลาดลงชื่อสนับสนุนการรณรงค์
(ซ้าย) รองผู้ว่าฯ นครสวรรค์มอบรายชื่อให้ตัวแทนขบวนจักรยาน มีปลัดดารณี (เสื้อขาว) อยู่ตรงกลาง (ขวา) รองผู้ว่าฯ นครสวรรค์ ปราศรัยก่อนส่งขบวนจักรยานเดินทางต่อ
ที่นครสวรรค์ นางดารณี กาญจนะ คุ้มสิน รองปลัดเทศบาลนครนครสวรรค์ นำคณะนักจักรยานมาต้อนรับ พาขี่จักรยานเที่ยวอุทยานสวรรค์ เขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา และถนนคนเดิน ส่วนในช่วงเช้า นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นำคณะข้าราชการมาส่งขบวนที่อุทยานสวรรค์ จากนั้นเพื่อนนักจักรยานหลายสิบคนได้ขี่จักรยานมาส่งขบวนรณรงค์ถึงอำเภอพยุหคีรี นับเป็นช่วงที่ขบวนรณรงค์มีนักจักรยานเข้าร่วมมากที่สุดประมาณ ๑๐๐ คน เป็นที่ประทับใจของผู้พบเห็นและเป็นกำลังใจอย่างยิ่งแก่นักจักรยานจากเชียงใหม่ ขบวนจักรยานรณรงค์ไปพักค้างคืนที่สิงห์บุรีเป็นคืนสุดท้ายก่อนเข้ากรุงเทพฯ
(ซ้าย) พิธีต้อนรับที่หน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี (ขวา) แถวหน้าจากขวาไปซ้าย: นส.ก้องกาญจน์, นายเอกชัย, นายพงศธร ผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานชมรมจักรยานปทุมธานี
ในช่วงสุดท้ายของการเดินทางจากสิงห์บุรีเข้ากรุงเทพฯ มีนักจักรยานจากขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และอุดรธานีอีก ๓๐ คนขี่จากจังหวัดของตนมาสมทบที่อยุธยา ที่ปทุมธานี นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นำคณะข้าราชการมาต้อนรับ มอบรายชื่อผู้สนับสนุนการรณรงค์ด้วยตนเอง และเลี้ยงอาหารกลางวันนักจักรยานที่ศาลากลางจังหวัด พร้อมกับสมาชิกชมรมจักรยานปทุมธานีที่ขี่มาส่งขบวนจนถึงเขตกรุงเทพมหานคร
(ภาพจาก NATION) นายกรัฐมนตรีรับมอบดอกไม้จากบุตรีของนักจักรยานที่เสียชีวิต (ซ้าย) และนักจักรยานที่ร่วมขี่รณรงค์ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก (ขวา)
เช้าตรู่วันที่ ๙ มิถุนายน ขบวนจักรยานรณรงค์ได้ขี่ไปพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดให้คณะทั้งหมด รวมทั้งคณะของมูลนิธิเมาไม่ขับ และบิดามารดาของนางสาวธัญยกร เด่นสิริมงคล นักจักรยานที่เสียชีวิตจากการถูกรถชนที่กรุงเทพฯ รวมกว่า ๗๐ คน ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเป็นการพิเศษเพียงคณะเดียว (ตามปรกติจะมีหลายคณะและจำกัดจำนวนคณะละราวสิบคนเท่านั้น) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกับ คสช. คณะนักจักรยานได้มอบดอกไม้ให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีที่ใส่ใจส่งเสริมการใช้จักรยาน โดยพลเอกประยุทธ์ได้สร้างความประทับใจด้วยการลงนามเป็นที่ระลึกบนหลังและแขนเสื้อของนักจักรยานหลายคน
เลขาธิการประธานศาลฎีกา ฟังรายงานจาก นพ.แท้จริง ศิริพาณิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ (ซ้าย) และรับมอบรายชื่อผู้สนับสนุนการรณรงค์ เมา+ขับ = จับ+ขัง (ขวา)
จากทำเนียบรัฐบาล ขบวนรณรงค์ได้ขี่จักรยานต่อไปยังสำนักงานศาลฎีกา ในบริเวณศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อมอบรายชื่อผู้สนับสนุนการรณรงค์ เมา+ขับ = จับ+ขัง กว่า ๑๑๐,๐๐๐ คนที่รวบรวมมาจากทั่วประเทศ ให้นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เพื่อขอร้องให้ประมุขสูงสุดของฝ่ายตุลาการมีบัญชาลงไปยังศาลต่างๆ ว่าในคดีคนเมาขับรถไปชนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส ให้ศาลพิพากษาจำคุกทันทีตามกำหนดโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย โดยไม่มีการรอลงอาญา ซึ่งจะมีผลในการป้องปรามการกระทำผิดอย่างมีประสิทธิผลดังที่เป็นไปในต่างประเทศและการศึกษาในไทยก็บ่งชี้ไปในทางเดียวกัน ในการนี้ ประธานศาลฎีกาได้มอบหมายให้นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการประธานศาลฎีกา ลงมาต้อนรับและรับรายชื่อจากคณะนักจักรยาน
(ภาพจากเว็บไซต์ของสภาทนายความ) จากซ้าย: ลงนามบนหลังเสื้อ, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ และบรรยากาศการหารือที่สำนักงานสภาทนายความ
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว นักจักรยานก็ได้แยกย้ายกันเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนด้วยรถตู้ที่เตรียมมา ส่วนบุตรสาวบุตรชายของนักจักรยานที่เสียชีวิตที่เชียงใหม่, บิดามารดาของนักจักรยานที่เสียชีวิตและนักจักรยานที่ถูกชนในเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ, นายกฤษดา กำแพงแก้ว ผู้ช่วยประสานงานการดำเนินงานต่างๆ ที่เชียงใหม่ กับนายกวิน ชุติมา และตัวแทนเครือข่ายชมรมจักรยานขอนแก่น ได้เดินทางต่อไปยังสำนักงานสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ถนนราชดำเนิน เข้าพบนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ หารือถึงแนวทางมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยานบนทางสาธารณะ รวมถึงแนวทางความเป็นไปได้ในความร่วมมือระหว่างสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยและกลุ่มผู้ใช้จักรยานทั่วประเทศในการที่จะอบรมเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ใช้จักรยานเพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชนในการใช้ถนนร่วมกันต่อไปในอนาคตต่อไป รวมทั้งการทำบันทึกความเข้าใจร่วมเช่นเดียวกับที่สภาทนายความได้ทำมาแล้วกับหลายองค์กรที่ทำงานปกป้องสิทธิของประชาชน การเข้าพบครั้งนี้มีนายธีรศักดิ์ วิชชุตานนท์ กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย และนายอุทัย ไสยสาลี หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ ร่วมให้การต้อนรับด้วย พร้อมกันนี้นักจักรยานที่เข้าพบได้ขอให้นายกสภาทนายความลงนามบนเสื้อเพื่อเป็นที่ระลึกเช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี อนึ่งการเข้าพบครั้งนี้เกิดขึ้นจากการประสานงานของทนายความที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยติดต่อให้มาว่าความให้ครอบครัวนักจักรยานที่เสียชีวิต
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ ชมรมฯ จะนำมารายงานให้ทราบต่อไป
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย