ชมรมฯ ร่วมแสดงความเห็นต่อร่างมาตรฐานกิจกรรมจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว
จากการดำเนินงานตามโครงการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยว มาตรฐานกิจกรรมจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว คณะทำงานโดยคณะการจัดการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่มี ดร.แสงแข บุญศิริ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา เป็นหัวหน้าคณะ ได้นำผลการศึกษามาทำร่างมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐาน เกณฑ์การตรวจประเมิน และดัชนีวัดผล และกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดการประชุมนำเสนอร่างมาตรฐานนี้เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ โดยมีนางพัชณีย์ ยงค์ยอด ผอ.สำนักพัฒนาบริการท่องเที่ยว เป็นประธานที่ประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมมี นางรัตนาวลัย ขันติจันฤาไชย หัวหน้ากลุ่มมาตรฐานการท่องเที่ยวกับคณะเจ้าหน้าที่กรมฯ, ตัวแทนผู้ประกอบการ นำโดย นายประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร จากสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย และมีผู้ใช้จักรยาน ๒ คน รวมทั้งนายกวิน ชุติมา กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
คุณรัตนาวลัย คุณพัชณีย์ และคุณประพันธ์
ร่างมาตรฐานนี้แบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ เกณฑ์คุณลักษณะพื้นฐานของกิจกรรมจักรยานที่จะเข้าสู่มาตรฐาน ที่ผู้ประกอบการที่จะขอรับรองมาตรฐานจะต้องผ่านการประเมินว่ามีคุณสมบัติและการดำเนินการได้ตามเกณฑ์ครบถ้วน กับเกณฑ์มาตรฐานกิจกรรมจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งมีองค์ประกอบ ๕ ประการคือ (๑) การจัดการเส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว (๒) การจัดการด้านบุคลากร (๓) การบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว (๔) การบริหารจัดการด้านอุปกรณ์และความปลอดภัย และ (๕) การบริหารจัดการด้านการมีส่วนร่วมกับชุมชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
หลังการนำเสนอร่างมาตรฐานก็ได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็น ทางผู้ประกอบการได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งการเป็นอาสาสมัครช่วยงานราชการ ซึ่งคุณกวินได้สนับสนุนความเห็นนี้และชี้ว่าการขาดการมีส่วนร่วมเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นกับเส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งแม้จะเป็นเจตนาดีของรัฐบาลและ กทม. แต่การขาดการมีส่วนร่วมทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเดือดร้อนและชุมชนออกมาคัดค้าน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยจึงได้สนับสนุนนักผังเมืองกลุ่มหนึ่งทำการศึกษาเพื่อหาทางแก้ปัญหาให้เส้นทางจักรยานชุดนี้ใช้ได้และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย
บรรยากาศในที่ประชุม
คุณกวินชี้ว่า เส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวเป็นการทำแนวเส้นทางที่แนะนำให้นักท่องเที่ยวขี่จักรยานไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็น “ทางจักรยาน” ทาสีตีเส้น โดยเฉพาะที่มีการประกาศโดยเจ้าพนักงานจราจรเป็น “ช่องทางเดินรถสำหรับรถจักรยาน” แต่หากจะทำทางจักรยานก็ควรทำให้ปลอดภัยจริงๆ แยกออกไปจากถนนหรือกั้นไม่ให้รถมาชนจักรยาน กรมการท่องเที่ยวควรเสนอให้ทางหลวงชั้นรอง(คือทางหลวงที่มีตัวเลข ๔, ๓ หรือ ๒ ตัว)ที่เล็กกว่าและมีรถน้อยกว่า รถแล่นช้ากว่า เป็นเส้นทางในการขี่จักรยานท่องเที่ยว ไม่ใช่ทางหลวงหลัก(มีเลขตัวเดียว)ซึ่งออกแบบไว้ให้รถแล่นเร็ว เส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานควรเป็นระบบ มีเครื่องหมายและป้ายที่บอกจุดหมาย ทิศทาง และระยะทางเช่นเดียวกับระบบป้ายสำหรับรถยนต์ ต้องมีการให้ข้อมูลและแผนที่ รวมทั้งที่ตั้งของสถานที่มีจักรยานให้ยืมหรือเช่า และให้บริการซ่อมแซม นอกจากนั้นสถานที่ท่องเที่ยวต้องมีที่จอดจักรยานให้นักท่องเที่ยวจอดจักรยานทิ้งไว้ได้อย่างปลอดภัยขณะเข้าไปชม
ทางคณะผู้ศึกษารับจะนำความเห็นทั้งหมดไปพิจารณาในการปรับปรุงร่างมาตรฐานกิจกรรมจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวต่อไป
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย