Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / เมา + ขับ + ชน + คนตาย กฎหมายจะทำอะไรได้บ้าง

เมา + ขับ + ชน + คนตาย กฎหมายจะทำอะไรได้บ้าง

จากกรณีที่มีผู้ขับขี่จักรยานแล้วโดนรถยนต์ชนจนเสียชีวิตหลายคน หลายครั้ง หลายเหตุการณ์ ทำให้เกิดกระแสประชาชนคนนักปั่นออกมารณรงค์ให้ออกกฎหมายในลักษณะที่เมาแล้วขับแล้วชนคนตายให้ถือว่าเป็นการเจตนาฆ่าคนตาย ซึ่งตอนนั้นใช้คำรุนแรงถึงขนาดว่า “เมา + ขับ = ฆาตกร” แต่โชคดีที่มีผู้ท้วงติงต่อการใช้ภาษาที่รุนแรงแบบนั้น  ต่อมาจึงลดระดับลงมาเหลือเป็น “เมา + ขับ = จับ + ขัง”

ซึ่งก็มีคำตอบมาจากอีกฝ่ายว่า อุบัติเหตุมันเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครต้องการทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตหรอก ถ้าเอาคนดีที่บังเอิญขับรถไปชนคนเดินหรือคนขี่จักรยานตายไปเข้าคุก เขาก็หมดอนาคต ขาดโอกาสไปเหมือนกัน

เหรียญมันมีสองด้านเสมอ

ชมรมฯ จึงอยากหาทางออกสำหรับกรณีนี้ที่เป็นธรรมและทุกฝ่ายพอรับได้ กรรมการชมรมฯ (คุณกวิน ชุติมา) จึงได้ประสานกับผู้รู้ทางกฎหมาย จนได้มีโอกาสเข้าไปพบกับผู้บริหารคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) คือคุณสมชาย หอมลออ และคณะ ปรึกษาหารือกันว่าควรจะดำเนินการอย่างไร ต้องปรับแก้กฎหมายใดบ้าง หรือต้องออกกฎหมายใหม่อย่างใดหรือไม่

คุยกันเกือบครึ่งวันพอจะหาข้อสรุปได้ดังนี้

หนึ่ง อันตรายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของคนขี่จักรยานอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน รวมทั้งพระเณรที่ออกเดินบิณฑบาต คนขับขี่รถอีแต๋น คนขี่รถจักรยานยนต์ หรือแม้กระทั่งคนขับรถยนต์เอง ดังนั้นการแก้ปัญหานี้จะเป็นการแก้ปัญหาให้คนทั้งมวล

สอง อันตรายที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากเมาแล้วขับเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการขับรถเร็ว ขับรถโดยไม่เคารพกฎจราจร ขับรถโดยประมาท ฯลฯ ด้วย

สาม อันตรายหรือความไม่ปลอดภัย ส่วนใหญ่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการเดินหรือใช้จักรยาน แต่มาจากผู้ขับรถยนต์หรือผู้ขี่จักรยานยนต์

สี่ หากถามความเห็นศาล  โดยปกติศาลจะบอกว่าศาลเป็นขั้นตอนปลายทาง  มาตรการต่างๆ มีทั้งต้นทางและกลางทาง  ดังนั้นก่อนจะให้มาเป็นภาระถึงศาล (ซึ่งมีคดีรกศาลมากอยู่แล้ว การเอาคดีเข้าศาลก็อาจจะไม่ยุติธรรมไปอีกแบบ คือมันจะช้ามาก)  พวกเรารวมทั้งภาครัฐและภาคประชาชนนั้นได้ทำอะไรไปก่อนบ้าง  เช่น มีการทำถนนให้ปลอดภัย มีป้ายสัญญาณชัดเจน มีการให้ข้อมูลหรือการศึกษาแก่ประชาชน รวมทั้งคนเดินและคนขี่จักรยาน… มากพอแล้วหรือยัง ซึ่งหากยังไม่ได้ทำศาลก็มักสั่งให้ไปทำพวกนั้นให้ดีเสียก่อน เพราะหากทำได้ดี อาจไม่มีคดีมาถึงศาลเลยก็ได้

ห้า  แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่งชี้ว่า ปัญหามาจากพฤติกรรมของคนขับรถยนต์มากกว่าองค์ประกอบทางกายภาพ (ถนน ป้าย ไฟแสงสว่าง ฯลฯ) หรือการให้ข้อมูล (การรณรงค์ การสอนในโรงเรียน ฯลฯ) จึงควรต้องแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าการลงโทษอย่างจริงจังและรุนแรง เช่น จำคุก จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ขับขี่ยวดยานอย่างระมัดระวังขึ้น

หก การจำคุก หากไม่จำเป็นศาลจะหลีกเลี่ยงเพราะคุกไม่มีที่พอจะรับคนเพิ่มแล้ว นอกจากนั้นหากเป็นคดีขึ้นมาและมีโอกาสเข้าคุก ผู้ทำผิดอาจวิ่งคดีหรือค้าคดี อันทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบือน และคนจนที่ไม่มีปัญญาจ่ายเท่านั้นที่จะต้องเดินเข้าคุก รวมทั้งหากรู้ว่าต้องถูกดำเนินคดีแน่ๆ ผู้ทำผิดอาจจงใจและไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ผู้เสียหายก็ได้ ซึ่งผู้เสียหายโดยเฉพาะคนจนก็จะเสียประโยชน์ในกรณีนี้

เจ็ด  กรณีที่เรียกร้องไม่ให้ศาลรอลงอาญา ให้สั่งจำคุกทันทีนั้น มีข้อเสียหรือขีดจำกัดที่เล่าไว้ข้างต้น ดังนั้นหากจะคงมาตรการมีการรอลงอาญาได้ไว้(แบบเดิม) จะมีระเบียบกฎเกณฑ์ใดบ้างมาทำให้ผู้กระทำผิดขับรถชนคนตายเข็ดหลาบและเป็นตัวอย่างให้คนอื่นไม่กล้าทำตาม เช่น ไม่ให้ประกันตัวและให้กักขังไว้ที่โรงพัก 1-2วันหรือ 3-4 วัน ดังนี้เป็นต้น

แปด ระเบียบกฎเกณฑ์ (ตามข้อ 7) ที่ว่า ไม่ควรให้ใครคนหนึ่งหรือองค์กรหนึ่งคิดคนเดียว ควรช่วยกันระดมสมองและคิดหาทางออกร่วมกัน คปก.จึงจะจัดการเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกันในเร็วๆนี้ ใครสนใจผลคอยติดตามข่าวได้ที่ชมรมฯ

เก้า ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากประสบการณ์จริงในภาคสนาม พบว่า

ก. บางกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีแม้กระทั่งเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ บางกรณีมีเครื่องแต่ชำรุดหรือไม่ได้ปรับเทียบ บางกรณีมีและไม่ชำรุด แต่เจ้าหน้าที่ ตำรวจไม่ได้ใช้เครื่องตรวจหรือตรวจช้าเกินควรจนระดับแอลกอฮอล์ลดลงกว่าตอนช่วงที่เกิดเหตุ และทำให้เอาผิดกับผู้กระทำผิดไม่ได้ ส่วนกรณีที่ผู้ขับขี่รถยนต์ปฏิเสธการตรวจนั้น ในทางกฎหมายให้ถือว่า “เมา” ดังนั้นปฏิเสธหรือไม่ปฏิเสธไม่มีผลอย่างใดทั้งสิ้น

ข. หากไม่เมาก็ต้องพิสูจน์ว่าประมาทหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ทำได้ไม่ง่ายและใช้เวลาพอสมควร ผู้เสียหาย(ผู้ถูกชน)โดยเฉพาะคนจนจะเดือดร้อน ทำมาหากินไม่ได้ จึงมักยอมความให้เรื่องจบ โดยยอมรับค่าชดเชยต่ำกว่าที่ควรได้รับ

ค. ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ชอบที่จะใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยให้ยอมความ แต่มักทำให้ผู้เสียหาย(ผู้ถูกชน)เสียประโยชน์เป็นส่วนใหญ่

ง. ความไม่รู้กฎหมายของประชาชนทำให้ไม่รู้สิทธิของตน ทำให้ถูกชักจูงหรือหลอกให้เชื่อหรือหลงผิดได้ง่าย เช่น การที่ทนายฝ่ายจำเลย(คนที่ขับรถชนคนอื่น)ให้ผู้เสียหาย(ผู้ถูกชน)ลงนามในเอกสารบอกว่ายอมรับค่าชดเชยและจะไม่เอาความต่อไปนั้น จริงๆแล้ว การลงนามเช่นนั้นไม่มีผลหากเรื่องเข้าสู่
กระบวนการศาล กล่าวคือผู้ชนยังต้องรับผิดชอบอยู่เช่นเดิม

จ. จากการที่ประชาชนไม่รู้กฎหมาย บริษัทประกันจึงมักอาศัยความได้เปรียบนี้จ่ายค่าเสียหายต่ำกว่าวงเงินประกัน

ฉ.บทบาทของอัยการในเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน แต่อัยการควรแถลงต่อศาลให้ชัดเจนด้วยว่า ควรหรือไม่ควรให้ประกันตัวหรือรอลงอาญา เพราะไม่ควรให้ศาล
แบกภาระนี้แต่ผู้เดียว

๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น