Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชมรมฯ เสนอเรื่องการส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานในการประชุมของ APEC

ชมรมฯ เสนอเรื่องการส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานในการประชุมของ APEC

ชมรมฯ เสนอเรื่องการส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานในการประชุมของ  APEC

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงานกับ Asia Pacific Energy Research Center (APERC ศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิก ตั้งอยู่ที่ญี่ปุ่น) ได้จัดการประชุม APEC Follow-up Peer Review on Energy Efficiency (PREE-Phase 5) “Realising Energy Efficiency Potentials in Thailand’s Transport Sector”หรือการประชุมทบทวนในเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงาน(ในประเทศไทย)ขั้นการติดตามขององค์การความความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ว่าด้วย “การตระหนักถึงศักยภาพในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคขนส่งของประเทศไทย” ขึ้นในระหว่างวันที่ 3-7สิงหาคม 2558ที่โรงแรมปทุมวันพรินเซส กรุงเทพฯ

การประชุมครั้งนี้ มรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมด้วยในฐานะวิทยากรไปบรรยายเป็นภาษาอังกฤษให้ความรู้ในเรื่อง “การส่งเสริมการใช้จักรยานและการเดินในประเทศไทย”(Cycling and Walking Promotion in Thailand)ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งราวครึ่งหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศหลายองค์กร อีกราวครึ่งหนึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยราชการไทย เช่น พพ. และ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน จากกระทรวงพลังงาน, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จากกระทรวงคมนาคม,  และกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 3 สิงหาคม

  

                 การประชุมในวันที่ 3 สิงหาคมที่โรงแรมปทุมวันพรินเซส                                     คุณกวิน ชุติมา ตัวแทนชมรมฯ ในการประชุม

ตัวแทนของชมรมฯ คือนายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ โดยคุณกวินได้เล่าความเป็นมาของชมรมฯ นับแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2534 การทำงานส่งเสริมการใช้จักรยานตลอด 24 ปีที่ผ่านมาซึ่งได้พัฒนามาเน้นการทำงานเชิงนโยบายและส่งเสริมการเดินด้วยในช่วงทศวรรษที่สาม ด้วยโครงการและกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินงานให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 ผ่านมติ “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นนโยบายสาธารณะ และขณะนี้ชมรมฯ กำลังเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนให้มีการนำมติสมัชชาสุขภาพนี้ไปปฏิบัติ ในขณะเดียวกันชมรมฯ ก็ได้ก้าวไปร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศในการทำงานส่งเสริมการใช้จักรยานและการเดินด้วย

ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม คุณกวินได้ไปร่วมประชุมในช่วงสุดท้ายที่ สำนักงาน พพ. ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ APERC เชิญมาร่วมกระบวนการทบทวนนี้ได้นำเสนอสรุปสิ่งที่ได้ค้นพบและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการนำเสนอในห้องประชุมสองวันและการดูงานในพื้นที่อีกสองวัน รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อนโยบายและมาตรการส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงานของไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรอบของการทำให้การใช้ยานยนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้นในด้านพลังงาน  

การประชุมที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 58

อย่างไรก็ตาม ดร.เจฟฟรีย์ เคนเวอร์ธี ศาสตราจารย์ด้านเมืองที่ยั่งยืน ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งนครแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ได้กล่าวว่า เมืองในไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีการเดินทางหนาแน่นมากอยู่แล้ว มีความต้องการระบบขนส่งสาธารณะสูง และมีศักยภาพที่จะใช้การเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorised Transport = NMT คือการเดินและการใช้จักรยาน) แต่จำเป็นต้องพัฒนาอีกมาก   เขาชี้ว่าการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เคยลดการใช้เชื้อเพลิงลงเลย เพราะเมื่อคนเห็นว่าเชื้อเพลิงราคาถูกลงก็จะใช้รถยนต์มากขึ้น ใช้เชื้อเพลิงมากขึ้น ซึ่งความเห็นนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ

คุณกวินได้ใช้โอกาสที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความเห็นหลังจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญนำเสนอเสร็จสิ้นกล่าวว่า  “ในความเป็นจริง การเดินและการใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงสุดด้านพลังงาน อีกทั้งการลงทุนจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก-ความปลอดภัย และระบบให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อ-ส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานเป็นการลงทุนที่ถูกที่สุด ให้ผลตอบแทนสูงสุดเมื่อเทียบกับการลงทุนสำหรับยานพาหนะอื่นๆ  รัฐบาลไทยจึงควรลงทุนในเรื่องนี้อย่างจริงจังให้การเดินและการใช้จักรยานเป็นทางเลือกหลักในการเดินทางระยะสั้น คือในระยะ 1 กิโลเมตรสำหรับการเดิน และ 5-10 กิโลเมตรสำหรับการใช้จักรยาน  คุณกวินได้ยกตัวอย่างว่าตนเองขี่จักรยานจากบ้านมาประชุมที่ พพ. ระยะทาง 8 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 30 นาที ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงใด และใช้เวลาน้อยกว่ายานยนต์แทบทุกชนิด”   

ความเห็นของคุณกวินได้รับสนับสนุนทันทีจากผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งคือนายเบิร์ต เฟเบียน เจ้าหน้าที่หน่วยขนส่ง ฝ่ายเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และเศรษฐศาสตร์ ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP)   คุณเบิร์ตอ้างถึงศาสตราจารย์บาร์นิสเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ที่กล่าวว่า ไม่มีทางที่การเดินทางขนส่งใดจะประหยัดพลังงานได้นอกจากการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์  เขาชี้ว่าการเดินทางในกรุงเทพฯอย่างน้อยร้อยละ 40 สามารถทำได้ด้วยการเดินและการใช้จักรยานเพราะเป็นการเดินทางน้อยกว่า 10 กิโลเมตร  ดังนั้นรัฐบาลไทยควรสร้าง “เส้นทาง” ที่เหมาะสมขึ้นมาส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน

เมื่อปิดการประชุม บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศต่างเข้าชื่นชมกับการแสดงความเห็นของคุณกวิน และให้กำลังใจให้ทำงานส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานต่อไป

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น