ชมรมฯ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ผลักดันนโยบายกับเพื่อนภาคี สสส.
บ่ายวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรม “วงแชร์สร้างสุขครั้งที่ 3 ไขเส้นทางหลากหลายสู่การพัฒนานโยบายระดับชาติ ภาค 1 การเผชิญหน้าและฝ่าแรงต้านในการขับเคลื่อนนโยบาย” ขึ้นที่ห้อง 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ เพื่อให้ภาคี(องค์กรที่ทำงานร่วมกับ สสส.) ได้มาแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์และบทเรียนที่ตนเองได้รับจากการผลักดันให้เกิดนโยบายของรัฐที่เป็นผลดีต่อประชาชน หรือที่เรียกว่า “ขาขึ้น” และการขับเคลื่อนให้เกิดการบังคับใช้ให้เกิดผลตามเป้าหมายของนโยบายนั้น หรือ “ขาลง” โดยผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นบุคลากรระดับบริหารของภาคี ๑๒ องค์กร จำนวน ๑๘ คน และผู้ปฏิบัติการขององค์กรเหล่านี้อีก ๑๒ คนที่ได้มาเรียนรู้เป็นการพัฒนาตนเองขึ้นมารับช่วงงานต่อไปโดยมีนายโอภาส เชษฐากุล ที่ปรึกษาโครงการสร้างสุข เป็นผู้ดำเนินรายการ และ ผศ. ดร. ลักขณา เติมศิริกุลชัย เป็นวิทยากรหลัก ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยส่งนายกวิน ชุติมา กรรมการที่มีประสบการณ์ในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเข้าร่วมกิจกรรม
นายโอภาส เชษฐากุล กับ ผศ. ดร. ลักขณา เติมศิริกุล
กิจกรรมเริ่มด้วยการบรรยายของ ดร.ลักขณา ให้เห็นแนวทาง “การจัดทัพ”ซึ่งจำเป็นไม่ว่าการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายจะทำในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นก็ตาม เริ่มต้นด้วยการมีข้อมูลทั้งจากพื้นที่และข้อมูลจากแหล่งอื่น รวมทั้งต่างประเทศ นำไปผลักดันนโยบายที่เราประสงค์ ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียให้ชัดเจน รู้ชัดว่าใครเป็นใครในขั้นตอนการออกนโยบายหรือกฎหมาย ทำออกมาเป็นแผนผังที่บอกถึงอำนาจการตัดสินใจและความสนใจหรือผลประโยชน์ของพวกเขาแต่ละกลุ่ม นำไปกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธี เพื่อให้ล็อบบี้ได้ถูกตัว ถูกเวลา ถูกวิธี, สามารถสร้างแรงกดดันจากกลุ่มผู้สนับสนุนอันกว้างขวาง ใช้ “หน้าต่างแห่งโอกาส” ให้เป็นประโยชน์เต็มที่ และจัดการกับการต่อต้านขัดขวางได้อย่างมีประสิทธิผล รวมทั้งหากจำเป็นก็ถอยได้โดยไม่ให้เสียงานและรักษาจุดยืนไว้ได้
จากนั้นผู้เข้าร่วมได้เล่าถึงประสบการณ์และบทเรียนของตนเองอย่างกว้างขวางและเจาะลึก ทั้งที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว และกำลังดำเนินการอยู่ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคที่เผชิญ รวมทั้งข้อควรระวัง โดยตัวแทนชมรมฯ ได้ร่วมแสดงความเห็นจากประสบการณ์ในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในเรื่องการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้วิธีการทำงานนโยบายมากมายที่เป็นไปได้ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมขณะนั้น โดยเฉพาะบริบททางการเมือง ไม่มีสูตรสำเร็จเดียวในการเคลื่อนไหว แม้แต่ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร แต่ก็มีข้อสังเกตถึงองค์ประกอบที่น่าสรุปได้ว่ามีความจำเป็นต้องมี เช่น การมีแกนนำชัดเจน มีการประเมินสถานการณ์สม่ำเสมอ มีพันธมิตรเครือข่ายที่กว้างขวางซึ่งต้องมีกระบวนการกลุ่ม โดยเฉพาะการทำงานกับราชการ ที่ต้องเกาะติดต่อเนื่อง มีการ “เสนอหน้า” ตลอดเวลา ไปร่วมประชุมของเขา เชิญเขามาร่วมงานกับเรา โดยเฉพาะกับนักวิชาการของหน่วยงานนั้นที่เราควรช่วยเขาด้วยเท่าที่จะทำได้ และเมื่อผู้บริหารเปลี่ยนเป็นคนใหม่ก็ต้องเข้าพบให้ประเด็นของเรายังคงอยู่ในความสนใจของเขา เป็นต้น การแลกเปลี่ยนแบ่งปันเป็นไปอย่างได้รสและประโยชน์จึงยาวไปกว่าเวลาที่ตั้งไว้ไปเลิกในเวลาเย็น
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนบทเรียนประสบการณ์อย่างคึกคัก
การแลกเปลี่ยนแบ่งปันบทเรียนประสบการณ์ของภาคี สสส. ครั้งต่อไปจะต่อเนื่องกับครั้งนี้ในหัวข้อการระดมสรรพกำลังขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งกิจกรรมจะจัดในวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๘
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย