Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ECF ชี้ จะเป็นชาติจักรยานก็ต้องมียุทธศาสตร์จักรยานแห่งชาติ ไทยเราก็มีแล้ว

ECF ชี้ จะเป็นชาติจักรยานก็ต้องมียุทธศาสตร์จักรยานแห่งชาติ ไทยเราก็มีแล้ว

ECF ชี้ จะเป็นชาติจักรยานก็ต้องมียุทธศาสตร์จักรยานแห่งชาติ ไทยเราก็มีแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเสนอไปยังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อต้นปี 2555 ให้บรรจุ “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” เป็นระเบียบวาระหนึ่งของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 นั้น ชมรมฯ ยังไม่ได้เป็นสมาชิกของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) และ ECF เองก็ยังไม่ได้สรุปออกมาว่า การที่ชาติหรือประเทศหนึ่งๆ จะเป็น “ชาติ(ประเทศ)จักรยาน” อย่างที่พวกเราคนใช้จักรยานปรารถนานั้น ชาติ(ประเทศ)นั้นต้องมี “ยุทธศาสตร์จักรยานแห่งชาติ” และต้องมีรัฐบาลแห่งชาติที่ทำงานเชิงรุกในการส่งเสริมการใช้จักรยานด้วย  แต่มติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ของไทยออกมาในปีนั้นก็ได้กำหนดไว้แล้วว่าให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน

ในยุโรปนั้น เนเธอร์แลนด์นำหน้าไปเป็นชาติแรกโดยมีแผนแม่บทว่าด้วยจักรยานมาตั้งแต่ปี 1990 ถึงวันนี้ก็ 25 ปีมาแล้ว แต่ ECF เชื่อว่าการที่เยอรมนี ชาติที่ทรงพลังที่สุดในยุโรป เริ่มมียุทธศาสตร์การใช้จักรยานแห่งชาติฉบับแรกในปี 2002 ต่างหากที่ทำให้ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ ทำตามจนราวครึ่งหนึ่งมียุทธศาสตร์เช่นว่านี้แล้วในปัจจุบัน (ปี 2015)  โดยอังกฤษ สวีเดน และโครเอเชีย เป็นสามชาติล่าสุดที่กำลังลงรายละเอียดยุทธศาสตร์ของตน  และเมื่อแผนแม่บทยุโรปเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยาน (pan-European Master Plan for Cycling Promotion) ออกมาในอีกสี่ปีข้างหน้า ประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกสหภาพยุโรป ก็จะพัฒนายุทธศาสตร์การใช้จักรยานแห่งชาติของตนขึ้นมามากขึ้นๆ

อย่างไรก็ตาม ECF ยอมรับว่าเป็นการยากที่จะวัดผลกระทบโดยตรงของยุทธศาสตร์การใช้จักรยานแห่งชาติต่อระดับการใช้จักรยานในชาตินั้น เพราะการใช้จักรยานเพื่อการสัญจรในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น จึงมีเหตุผลเต็มๆ ที่เราจะตั้งคำถามว่า การที่ประชาชนขี่จักรยานไปทำงานหรือเด็กขี่จักรยานไปเรียนมากขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลส่งเสริมให้ใช้จักรยานมากขึ้นจริงหรือ?  เพราะไม่ว่าที่ไหนในโลก ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยของเราเอง ยุทธศาสตร์อะไรก็ตามของรัฐอาจมีอยู่จริงเป็นตัวอักษรหมึกบนกระดาษเท่านั้น แต่ไม่เคยมีการเอามาปฏิบัติกันอย่างจริงจัง  ยุทธศาสตร์การใช้จักรยานก็เช่นกัน มิได้เป็นข้อยกเว้น  และก็มีเหตุผลได้มากมายหลายแหล่ที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เช่น งบประมาณอาจไม่เพียงพอ(หรือพูดจริงๆ ก็คือไม่ได้จัดสรรงบประมาณมาให้เพียงพอ) หรืออาจจะเป็นการที่หน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ประสานงานกันเพียงพอ ทั้งระหว่างหน่วยงานต่างกระทรวงต่างกรม หรือหน่วยงานในกระทรวงหรือกรมเดียวกันในระดับต่างกัน  นอกจากนั้นก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่มีผลกระทบต่อการใช้จักรยาน เช่น ผังเมือง หรือสภาพทางเศรษฐกิจสังคม

การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในเยอรมนี

กระนั้น ECF ก็ยังเอาการมีอยู่ของยุทธศาสตร์การใช้จักรยานของประเทศต่างๆ ไปเทียบกับผลที่ได้ออกมาจากการจัดลำดับรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปในเรื่องการใช้จักรยานด้วยตัวชี้วัด 5 ตัว ซึ่ง ECF เรียกรวมว่า ECF Cycling Barometer  ตัวชี้วัดทั้งห้านี้ได้แก่ 1) ความปลอดภัยทางถนน 2) การใช้จักรยาน 3) การท่องเที่ยวด้วยจักรยาน 4) ขนาดของตลาดจักรยาน และ 5) การผลักดันนโยบายการใช้จักรยาน ซึ่งเมื่อเอาคะแนนทั้งห้าหมวดนี้มารวมกันแล้ว ในปี 2015 เดนมาร์กมาที่ 1 ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ และสวีเดน ดังตารางข้างล่างนี้  นอกจากนั้น ECF ยังเอาการวัดนี้ไปใช้กับเมืองหลวงด้วยในฐานะตัวชี้วัดความสัมพันธ์ระหว่างสภาพในระดับชาติกับระดับท้องถิ่น แล้วพบว่า ทุกประเทศที่มีนโยบายการใช้จักรยานแห่งชาติ (ชื่อประเทศอยู่ในสีเขียว) เป็นประเทศที่ทำคะแนนได้ดีกับ Cycling Barometerยกเว้นไอร์แลนด์ประเทศเดียว  สำหรับสามประเทศที่ชื่ออยู่ในสีเหลือง เนเธอร์แลนด์กับอังกฤษเคยมีนโยบายการใช้จักรยานแห่งชาติมาก่อน และเบลเยี่ยม ซึ่งแม้จะมียุทธศาสตร์ก็จริง แต่ก็ไม่เป็นทางการ เช่น มีแผนแม่บทที่รัฐบาลไม่เคยให้การยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่ก็ใช้ชี้นำการทำงานส่งเสริมการใช้จักรยาน  แต่ที่แน่ๆคือ ไม่มีประเทศใดเลยที่ไม่มียุทธศาสตร์การใช้จักรยานแห่งชาติ ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรือในอดีต (ประเทศที่ชื่ออยู่ในสีแดง) ได้คะแนนมากจนอยู่ในลำดับต้นๆ หรือแม้แต่ในครึ่งบนของตาราง

ทีนี้เมื่อมาดูที่เมืองหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลชาติและกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ยกเว้นเนเธอร์แลนด์ (ซึ่งรัฐบาลไปตั้งอยู่ที่เฮก ไม่ใช่อัมสเตอร์ดัม) เมืองหลวงของทุกประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ซึ่งสิ่งใหม่ๆ ของประเทศเกิดขึ้น จากนั้นก็กลายเป็น “กระแสหลัก” แผ่กระจายออกไปทั่วประเทศ  ECF พบว่าในทุกประเทศที่มียุทธศาสตร์การใช้จักรยานแห่งชาติอยู่ในปัจจุบัน เมืองหลวงของประเทศมีวัตถุประสงค์การเติบโตของการใช้จักรยานที่วัดได้  แม้จะไม่ดูว่าเมืองหลวงหรือระดับชาติอะไรมาก่อน ก็ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงจะสอดคล้องไปทางเดียวกับสิ่งที่เกิดในระดับประเทศ ยกเว้นการเติบโตที่เกิดขึ้นกับโรมและแมดริดกระโดดก้าวล้ำทิ้งสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับชาติของอิตาลีกับสเปนไปเลย

ลำดับของประเทศใน ECF               2015              2013          วิวัฒนาการ       เมืองหลวง              วัตถุประสงค์การเติบโต

Cycling Barometer                                                                                                                    (ปรับในช่วงเวลา 10 ปี)

Denmark                                        1                    1                      0                Copenhagen                      43%

Netherlands                                   2                    1                     -1                Amsterdam                          –

Sweden                                         3                    3                      0                Stockholm                        100%

Finland                                          4                    4                      0                Helsinki                             36%

Germany                                       5                    5                      0                Berlin                             38 – 54%

Belgium                                         6                    6                      0                Brussels                           186%

Slovenia                                        7                  12                      5                 Ljubljana                            67%

Hungary                                         8                    8                     0                Budapest                           400%

Austria                                           9                    7                    -2                Vienna                                67%

Slovakia                                        10                  9                    -1                 Bratislava                          400%

United Kingdom                            11                10                    -1                  London                             150%

France                                           12                11                   -1                  Paris                                  650%

Luxembourg                                  13                19                    6                  Luxembourg                     186%

Czech Republic                             14                13                   -1                  Prague                         400 – 600%

Lithuania                                        15                20                    5                  Vilnius                                   –

Croatia                                           16              n/a                    n/a               Zagreb                                   –

Italy                                                17              15                     -2                 Rome                                  567%

Spain                                              18              23                     5                 Madrid                                 200%

Estonia                                           19              15                    -4                 Tallinn                                    –

Poland                                            20              20                     0                 Warsaw                                  –

Bulgaria                                          21              25                     4                 Sofia                                      –

Ireland                                            21              14                    -7                 Dublin                                  216%

Latvia                                              21             17                     -4                Riga                                        –

Greece                                           24             17                     -7                Athens                                     –

Malta                                              24             27                      3                La Valetta                                –

Cyprus                                            26            22                     -4                Nicosia                                     –

Portugal                                          27            23                     -4                Lisbon                                      –

Romania                                        28             25                      -3               Bucarest                                  –

การค้นพบนี้นำไปสู่ข้อสรุปที่ ECF เพิ่งนำมาออกในเดือนสิงหาคม 2015 นี่เองว่า  ชาติ(ประเทศ)หนึ่งๆ จำเป็นต้องพัฒนาและดำเนินการยุทธศาสตร์การใช้จักรยานแห่งชาติ จึงจะเป็นชาติจักรยานขึ้นมาได้  ECF ยอมรับว่าไม่มีหลักฐานมายืนยันความเป็นเหตุเป็นผลของข้อสรูปนี้ แต่ตัวเลขในตารางข้างต้นบ่งบอกว่าดูเหมือนจะมีความเชื่อมโยงกันอย่างเหนียวแน่นในลักษณะเช่นนั้น

ส่วนแผนแม่บทยุโรปสำหรับการส่งเสริมการใช้จักรยานที่ขณะนี้กำลังพัฒนากันอยู่และมีกำหนดว่าจะนำมาใช้อย่างเร็วก็ในปี 2019 จะให้คำแนะนำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 56 ประเทศว่า รัฐบาลแห่งชาติของประเทศนั้นๆ จะสนับสนุนการใช้จักรยานอย่างไร ที่เร็วกว่าคือ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2015 รัฐมนตรีคมนาคมขนส่งของประเทศเหล่านี้จะมาประชุมกันที่ลักเซ็มเบอร์ก หารือกันเรื่องเดียวถึงการใช้จักรยานในฐานะที่เป็นวิธีการเดินทางขนส่ง

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเฉพาะประเด็นฯ ผ่านมติรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานระดับชาติของไทย 5สิงหาคม 2558

กลับมาที่ประเทศไทย  มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 มติ 5.1 การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ผลักดันให้มีการผ่านออกมานั้น ข้อ 2 ได้กำหนดให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการเดินและการใช้จักรยาน  ต่อมาเมื่อสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าไม่อาจปฏิบัติตามมติที่ให้เป็นผู้ดำเนินการได้เพราะไม่อยู่ในภารกิจของตน ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการเพราะมีกฎหมายรับรองอยู่แล้ว คณะกรรมการฯ จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพนี้ขึ้น โดยมีชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเป็นแกนกลางและกองเลขานุการ คณะทำงานได้จัดการประชุมรับฟังความเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวในระดับภาคและกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 5 ครั้ง นำความเห็นไปปรับปรุงร่างเอกสาร และจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเฉพาะประเด็นยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 และสมัชชาฯแห่งนั้นได้ลงมติผ่านยุทธศาสตร์ดังกล่าวออกมา  ทำให้ไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มียุทธศาสตร์การใช้จักรยานแห่งชาติ เป็นความก้าวหน้าเทียบได้ในระดับสากล และเป็นการปูพื้นฐานให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นชาติจักรยาน


กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย  เขียนจากข้อมูลในข่าว Want to become a cycling nation, get a national cycling strategy ใน ECF E-Newsletter, 28 August 2015

สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation) รับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกวิสามัญ (Associate Member) เมื่อเดือนมิถุนายน 2013 โดยเป็นสมาชิกของ ECF องค์กรแรกของทวีปเอเชีย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น