ชมรมฯ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ผลักดันนโยบายกับเพื่อนภาคี สสส. ภาค 2
บ่ายวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกิจกรรม วงแชร์สร้างสุขครั้งที่ 3 ไขเส้นทางหลากหลายสู่การพัฒนานโยบายระดับชาติ เป็นภาคที่ ๒ ต่อเนื่องกับภาค ๑ ที่จัดไปเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ตามที่ได้รายงานข่าวไปแล้ว (http://www.thaicyclingclub.org/article/detail/6941) สำหรับในครั้งนี้เป็นภาค2 การระดมสรรพกำลังเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนนโยบาย โดยจัดขึ้นที่เดิมคือ ห้อง 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ ให้ภาคี สสส. มาแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์และบทเรียนที่ตนเองได้รับจากการผลักดันให้เกิดนโยบายของรัฐและการบังคับใช้ให้เกิดผลตามเป้าหมายของนโยบายนั้น โดยในภาคที่ ๒ นี้เน้นไปที่การระดมกำลังมาขับเคลื่อนนโยบายและการใช้สื่อ ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นบุคลากรระดับบริหารและผู้ปฏิบัติการของภาคี ๑๒ องค์กรที่เข้าร่วมในภาค ๑ และเจ้าหน้าที่ สสส. รวมประมาณ ๓๐ คน ผู้ดำเนินรายการยังเป็นนายโอภาส เชษฐากุล ที่ปรึกษาโครงการสร้างสุข และวิทยากรนอกจาก ผศ. ดร. ลักขณา เติมศิริกุลชัย จากมูลนิธิสร้างสุขไทย แล้วยังมี ดร.กิตติ กันภัย นักวิชาการนิเทศศาสตร์อิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร และเภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการขับเคลื่อนเครือข่ายสังคม จากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สำหรับผู้เข้าร่วมจากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยคือนายกวิน ชุติมา กรรมการที่มีประสบการณ์ในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับในภาคแรก
จากซ้ายไปขวา: เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี, นายโอภาส เชษฐากุล, ผศ. ดร. ลักขณา เติมศิริกุล และ ดร. กิตติ กันภัย
กิจกรรมเริ่มด้วย ดร.ลักขณา ทบทวนสิ่งที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปในภาค ๑ โดยเฉพาะองค์ประกอบ ๔ ด้านของ “การจัดทัพ” ไปผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายและให้คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล จากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มาเล่าเรื่องการขับเคลื่อนกฎหมายลาคลอดเป็นกรณีศึกษาสำหรับการระดมสรรพกำลัง คุณจะเด็จถอดบทเรียนจากงานนโยบายครั้งนั้นว่า ต้องเอาประเด็นปัญหาเป็นตัวตั้งและเอาคนที่ประสบปัญหาโดยตรงมาเป็นแกนในการเคลื่อน โดยมีนักวิชาการ สื่อมวลชน และนักการเมืองที่เข้าใจปัญหาเป็นแนวร่วม และตั้งข้อสังเกตว่าจุดอ่อนของการเคลื่อนไหวในระยะหลังนี้คือการให้ความสนใจกับคนที่กุมนโยบายมากเกินไป ทำงานกับคนที่ประสบปัญหาโดยตรงน้อยไป จนถึงขั้นละเลยในบางกรณี ทำให้ขาดการมีส่วนร่วม-ความเป็นเจ้าของ เมื่อประสบความสำเร็จได้นโยบายหรือกฎหมายที่ผลักดันออกมา ก็จะมีปัญหาในการนำมาใช้ การทำงานกับผู้ประสบปัญหาซึ่งมักจะเป็น “คนรากหญ้า” อาจต้องเริ่มจากการที่พวกเขาทำอะไรไม่เป็นเลย ใช้ความอดทนสนับสนุน-พัฒนาเขาขึ้นมาจนขับเคลื่อนงานด้วยตนเองได้ ดังนั้นจึงต้องลงรายละเอียดในการทำงาน ไม่ใช่ใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือ แต่ไปทำให้พวกเขามีพลัง และเมื่อเกิดขบวนเคลื่อนไปแล้ว สำคัญมากที่ต้องรักษาขบวนไว้ให้ได้ การสนับสนุนพวกเขาในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องจึงสำคัญ
จากนั้นผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นเสริมจากประสบการณ์และบทเรียนของตนเองอย่างกว้างขวางและเจาะลึก ผู้เข้าร่วมเห็นพ้องว่าภาคี ต่างๆ ของ สสส. ควรมาทำงานด้วยกัน แบ่งงานกัน ช่วยกัน สสส.เองก็ควรปฏิรูปการทำงาน ทุกแผนงานต้องมีการระดมสรรพกำลังทางสังคม ผู้เข้าร่วมเห็นตรงกันว่างานข้อมูลเป็นพื้นฐานของการผลักดัน-ขับเคลื่อนนโยบายทุกด้าน โดยเฉพาะการทำงานสื่อ ซึ่งในเรื่องนี้ ดร.กิตติได้เพิ่มเติมถึงความสำคัญของทักษะการสื่อสาร อย่างคนที่จะเป็นล็อบบี้อิสท์ต้องมีทักษะนี้ในระดับเชี่ยวชาญ การจะใช้สื่อให้ได้ผล ฝ่ายประชาชนต้องหาทางเริ่มก่อนเพื่อให้เป็นผู้กำหนดประเด็นหรือวาทกรรม ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อมวลชน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ที่เกิดจากการถอดบทเรียนประสบการณ์ทำงานที่ลึกซึ้งต่อเนื่องยาวนานในหลายประเด็นของผู้เข้าร่วมหลายคน ซึ่งผู้เข้าร่วมเห็นตรงกันว่า สสส. ควรจัดสรุปออกมาและเผยแพร่ออกไปให้ภาคี สสส. ที่ไม่ได้มีโอกาสมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ และหลายองค์กรต้องทำงานเชิงนโยบายมากขึ้น ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้น
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนบทเรียนประสบการณ์อย่างคึกคัก
อนึ่งการแลกเปลี่ยนแบ่งปันบทเรียนประสบการณ์ของภาคี สสส. ในชุด “วงแชร์สร้างสุข” ครั้งต่อไปจะมุ่งไปที่เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม สสส. ยังจัดการอบรมให้ความรู้ในหัวข้ออื่นๆ ให้ภาคีอย่างต่อเนื่อง สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณวิยะดา เทศกาล หรือคุณปภัสรา ภูโปร่ง โทร. ๐๙๕ ๗๘๙ ๘๙๗๐
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย