Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ECF จับมือกลุ่มขนส่งสาธารณะทำงานเพื่อการเดินทางที่ยั่งยืน

ECF จับมือกลุ่มขนส่งสาธารณะทำงานเพื่อการเดินทางที่ยั่งยืน

ECF จับมือกลุ่มขนส่งสาธารณะทำงานเพื่อการเดินทางที่ยั่งยืน

สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป(European Cyclists’ Federation – ECF) ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับสมาคมขนส่งสาธารณะนานาชาติ(International Association of Public Transport – UITP)เมื่อเช้าวันที่ 14 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ตกลงจะทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นและใกล้ชิดกันมากขึ้นไปผลักดันนโยบายให้มีการเดินทางขนส่งในเขตเมืองที่ยั่งยืนมากขึ้นในยุโรป โดยจะมีการร่วมกันพัฒนาเนื้อหาสาระเชิงนโยบายต่างๆ นำไปขับเคลื่อน เช่น ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการเดินทางที่ยั่งยืน และการเก็บข้อมูลการเดินทางในเมือง  และต่างฝ่ายต่างจะสนับสนุนอีกฝ่ายให้บรรลุเป้าหมายของตน คือการเพิ่มการใช้จักรยานเป็นสองเท่าหรือร้อยละ 15 ของเที่ยวการเดินทางทั้งหมดในยุโรปสำหรับ ECF  และการเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งสาธารณะในการเดินทางทั้งหมดขึ้นเป็นสองเท่าในอีกสิบปีข้างหน้าหรือในปี 2025 ของ UITP ทั้งสององค์กรเห็นตรงกันว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะทำให้เมืองน่าอยู่และมีคุณภาพมากขึ้น นำไปสู่การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ   การมาเป็นภาคีกันใกล้ชิดขึ้นนี้จะทำให้ทั้งสององค์กรมีสถานะที่เข้มแข็งขึ้นในการล็อบบี้และเจรจากับสถาบันต่างๆ ในยุโรปและกับองค์การสหประชาชาติ

ดร. เบิร์นฮาร์ด เอ็นซิงก์ เลขาธิการใหญ่ของ ECF (ซ้าย) กับ Alain Flausch เลขาธิการใหญ่ของ UITP(ขวา)

ดร. เบิร์นฮาร์ด เอ็นซิงก์ เลขาธิการใหญ่ของ ECF เปิดเผยว่า ในปี 2558 นี้ทั้งสององค์กรจะได้ทำงานด้วยกันในการผลักดันการประชุมรัฐภาคีครั้งที่ 21 ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้นำการส่งเสริมการใช้จักรยานและขนส่งสาธารณะเข้าไปอยู่ในกระบวนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDG)  ขณะที่นาย Alain Flausch เลขาธิการใหญ่ของ UITP บอกว่า การจัดให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มสัปดาห์รณรงค์การเดินทางในยุโรป หรือ European Mobility Week ในปี 2015 นี้นับเป็นเวลาที่เหมาะสมยิ่งในการเสริมให้ความผูกพันระหว่างประชาคมขนส่งสาธารณะกับประชาคมการใช้จักรยานเหนียวแน่นยิ่งขึ้นในการร่วมใจกันเรียกร้องให้มีทางเลือกในการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้นทั่วโลก

อนึ่งECF กับ UITP ได้ทำงานร่วมกันมาหลายปีแล้ว โดยทั้งสองเป็นสมาชิกของ SLoCaT (Sustainable Low Carbon Transport) Partnership หรือภาคีการเดินทางขนส่งคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน และ ECF ยังเป็นส่วนหนึ่งของ Combined Mobility Platform หรือเวทีการเดินทางหลายวิธีร่วมกันของ UITP ด้วย

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างการเดินและการใช้จักรยานกับระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะในบริบทของเมืองใหญ่อย่างเช่นกรุงเทพมหานครที่คนจำนวนมากจำต้องเดินทางไกลไม่ใช่น้อยไปทำงานหรือประกอบธุรกิจต่างๆ ไกลเกินระยะที่จะสะดวกสบายในการเดิน (ไม่เกินหนึ่งกิโลเมตร) และการใช้จักรยาน (5 กิโลเมตร)  ดังนั้นจึงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยอยู่แล้วที่ใช้วิธีเดินหรือขี่จักรยานไปต่อขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถประจำทาง และที่เพิ่มมากขึ้นคือรถไฟฟ้า จึงได้ผลักดันให้เป็นส่วนหนึ่งของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 มติ 5.1 การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ในข้อ 1.2 และได้กล่าวเน้นย้ำในประเด็นนี้มาตลอดสามปีที่ผ่านมา รวมทั้งการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือสำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง (สนข.) กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร   ล่าสุดนี้ ชมรมฯ ก็ได้ไปร่วมกับจังหวัดนนทบุรี จัดงาน “วันปลอดรถ” ประจำปี 2558 หรือ “Nonthaburi Car Free Day 2015” ที่มีแนวคิดและกิจกรรมหลักของงาน ไม่ว่าจะเป็นการขี่จักรยานรณรงค์และการจัดเสวนา เน้นไปที่การส่งเสริมการเดินและใช้จักรยานไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่กำลังจะเปิดดำเนินการเร็วๆนี้

หมายเหตุ  สมาคมขนส่งสาธารณะนานาชาติ (UITP) เป็นเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วโลกเพียงเครือข่ายเดียวที่นำเอาผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องขนส่งสาธารณะและวิธีการเดินทางที่ยั่งยืนทั้งหมดมาไว้ด้วยกัน  สมาชิกของ UITP มีมากมาย นอกจากบริษัทต่างๆ ราว 1,400 บริษัท แล้วยังมีหน่วยงานรัฐในด้านขนส่งสาธารณะ ผู้ดำเนินการกิจการขนส่งสาธารณะ ผู้กำหนดนโยบาย สถาบันวิจัย และอุตสาหกรรมที่สนับสนุนและให้บริการขนส่งสาธารณะ ทำให้เข้าถึงกลุ่มต่างๆกว่า 16,000 กลุ่มใน 96 ประเทศ  UITP สนับสนุนการเดินทางที่ยั่งยืนในเขตเมืองอย่างสุดกำลัง (เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ UITP ได้ที่ www.uitp.org)  ในขณะที่ ECF มีสมาชิกกว่า 80 องค์กรในประเทศต่างๆ กว่า 40 ประเทศในทุกทวีปของโลก   ECF ผนึกกำลังขององค์กรผู้ใช้จักรยานทั่วโลก และเป็นช่องทางให้ผู้ใช้จักรยานได้สะท้อนปัญหาและความต้องการของตนออกไปถึงในระดับนานาชาติ  ความมุ่งหมายของ ECF คือทำให้คนจำนวนมากขึ้นใช้จักรยานบ่อยครั้งเป็นประจำมากขึ้น ด้วยการมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐ ให้เอื้ออำนวยต่อการใช้จักรยาน

——————————————————————————————————————————————————————————————

เรียบเรียงจากใบแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 ของ ECF ชื่อ  Cycling and Public Transport lobby join forces for more sustainable and active mobility โดย กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (Thailand Cycling Club – TCC) เป็นสมาชิกองค์กรแรกในเอเชียของ ECF และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)  

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น