รัฐมนตรีคมนาคมยุโรปมุ่งมั่นส่งเสริมการใช้จักรยาน
ที่ประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปว่าด้วยการใช้จักรยาน
การประชุมสภาอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรกของรัฐมนตรีคมนาคมขนส่งของประเทศในสหภาพยุโรปและสมาคมการค้าเสรียุโรปในเรื่องการใช้จักรยานเป็นการเฉพาะในฐานะที่การใช้จักรยานเป็นวิธีการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ จัดขึ้นแล้ว การประชุมซึ่งเรียกกันว่า “การประชุมสุดยอดการใช้จักรยานสหภาพยุโรป” ครั้งนี้มีผลออกมาเป็น “ปฏิญญาลักเซมเบิร์ก” (Declaration of Luxembourg) รับรองประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้จักรยาน และเรียกร้องให้สหภาพยุโรปพัฒนาเอกสารนโยบายระดับสหภาพยุโรปในเรื่องการใช้จักรยาน
สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF)ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 ที่กรุงลักเซมเบิร์ก ประเทศลักเซมเบิร์ก แสดงความยินดีต้อนรับการที่รัฐมนตรีคมนาคมขนส่งของสหภาพยุโรปแสดงความมุ่งมั่นต่อการส่งเสริมการใช้จักรยาน
ดร.เบิร์นฮาร์ด เอ็นซิงก์ เลขาธิการใหญ่ ECFบอกที่ประชุมสุดยอดครั้งนี้ในนามของ ECF และชุมชนผู้ใช้จักรยานในวงกว้างว่า “เราขอแสดงความยินดีต้อนรับข้อเสนอของที่ประชุมที่จะให้มียุทธศาสตร์สำหรับการใช้จักรยานของสหภาพยุโรป เราเห็นได้ว่าจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นเมื่อกรรมาธิการ 15 คนของคณะกรรมาธิการยุโรป (ซึ่งมีสถานะและบทบาทเทียบเท่า “คณะรัฐมนตรี” ของสหภาพยุโรป) ทำงานร่วมกับรัฐสมาชิกทั้ง 28 ประเทศ และประเทศสมาชิกสมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association [EFTA] มีสมาชิกสี่ประเทศได้แก่ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป) ECF กระตือรือร้นที่จะสนับสนุนความร่วมมือและการประสานงานกันทั้งในด้านนโยบายและทรัพยากรครั้งนี้เพื่อจะเพิ่มการใช้จักรยานในยุโรปเป็นสองเท่า”
การประชุมและปฏิญญาว่าด้วยการใช้จักรยานนี้เป็นความริเริ่มของประเทศลักเซมเบิร์กในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของสภายุโรป โดยมีนาย François Bauschรัฐมนตรีคมนาคมลักเซมเบิร์ก เป็นผู้นำ ที่ประชุมได้หารือกันว่าสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกจะกระตุ้นและส่งเสริมการเพิ่มสัดส่วนการใช้จักรยานในการขนส่งคนและสินค้าในการคมนาคมขนส่งทั้งหมดได้อย่างไร ลักเซมเบิร์กได้เน้นให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการใช้จักรยานในการขนส่ง และประโยชน์ของการใช้จักรยานทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในยุโรป
ขณะนี้พลเมืองยุโรป 200 ล้านคนใช้จักรยานอยู่และในจำนวนนี้ 50 ล้านคนใช้ทุกวัน ขณะนี้การใช้จักรยานสร้างงาน 650,000 ตำแหน่งและจะสร้างเพิ่มอีก 400,000
ปฏิญญานี้เรียกร้องให้พัฒนาเอกสารยุทธศาสตร์การใช้จักรยานในระดับสหภาพยุโรป ซึ่งจะระบุเป้าประสงค์ทั้งหมดที่ทำได้ด้วยความสามารถของสหภาพยุโรป ให้ยุโรปได้ประโยชน์จากการเพิ่มสัดส่วนการใช้จักรยานในการคมนาคมขนส่ง เอกสารนี้จะจำแนกแยกแยะว่า ขณะนี้สหภาพยุโรปมีนโยบาย ทุน และกลไกการให้ทุนอะไรบ้างที่ได้นำมาใช้แล้ว หรือควรจะนำมาใช้โดยการเพิ่มเรื่องการใช้จักรยานเข้าไปในนโยบาย ทุน และกลไกทุนเหล่านั้น เพื่อเพิ่มการใช้จักรยานและเสริมสร้างการจ้างงานที่เกี่ยวกับการใช้จักรยานในสหภาพยุโรป
ปฏิญญายังเสนอแนะด้วยว่า ให้สหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกทั้งหมดตั้งจุดประสานงานการใช้จักรยาน (cycling focal points) โดยจุดประสานงานระดับสหภาพยุโรปจะทำหน้าที่เป็นจุดบริการแบบม้วนเดียวจบ (one stop shop) ตอบคำถามใดๆที่จะมีในเรื่องการใช้จักรยาน เอื้ออำนวยให้มีการแบ่งปันแลกเปลี่ยนการดำเนินงานที่ดีระหว่างรัฐสมาชิก และติดตามการดำเนินงานและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์การใช้จักรยานของสหภาพยุโรป ส่วนจุดประสานงานระดับประเทศจะทำหน้ารวบรวมและเผยแพร่การปฏิบัติที่ดีในรัฐสมาชิกนั้นๆ และร่วมมือกับจุดประสานงานยุโรปเพื่อการดำเนินงานในเวทีและกลไกต่างๆ ของยุโรปและขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการคมนาคมขนส่ง สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้แน่ใจว่าโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการคมนาคมขนส่งในแต่ละประเทศได้พิจารณาและทำไปในทางที่เสริมสร้างเครือข่ายการใช้จักรยานตั้งแต่ระดับนานาชาติลงไปถึงระดับชาติ ระดับภาค และระดับท้องถิ่น ทั้งหมดนี้จะเป็นก้าวใหญ่ในการพัฒนานโยบายการใช้จักรยานทั่วสหภาพยุโรป
รัฐมนตรีที่ร่วมประชุมไปขี่จักรยาน(สาธารณะ)กันอย่างเป็นทางการ แถวหน้าซ้ายสุดจากลักเซมเบิร์กในฐานะประธาน และขวาสุด ดร.เอ็นซิงก์ เลขาธิการใหญ่ ECF
ECF ได้ให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปในการพัฒนาปฏิญญาฉบับนี้ และมีความสุขอย่างมากกับความสำเร็จครั้งนี้ซึ่งเป็นการก้าวไปข้างหน้าครั้งสำคัญของการใช้จักรยาน
ดร.เบิร์นฮาร์ด เอ็นซิงก์ กล่าวว่า “นี่เป็นก้าวใหญ่มากที่นำเราเข้าไปใกล้เป้าหมายที่ทะเยอทะยานจะให้นโยบายทั้งมวลของสหภาพยุโรปตระหนักยอมรับถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของการใช้จักรยานในฐานะที่วิธีการคมนาคมขนส่งแบบหนึ่ง เราขอแสดงความยินดีกับการเป็นประธานของลักเซ็มเบิร์กที่นำไปสู่ความสำเร็จครั้งนี้ และเรามองไปข้างหน้าแล้วที่จะทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรปให้ยุทธศาสตร์การใช้จักรยานของสหภาพยุโรปเสร็จสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้นี้”
ดาวน์โหลดและอ่านข้อความเต็มๆ ของ “ปฏิญญาลักเซมเบิร์ก” ได้ที่ http://www.ecf.com/wp-content/uploads/Declaration-of-Luxembourg-on-Cycling-as-a-climate-friendly-Transport-Mode.pdf
——————————————————————————————————————————————————————————————–
เรียบเรียงจากใบแถลงข่าวของ ECF ชื่อ ECF welcomes EU Transport Ministers commitment to cycling at the EU cycling summit และข่าวการประชุมจากเว็บไซต์ของรัฐบาลของ The Grand Duchy of Luxembourg (http://www.eu2015lu.eu/en/agenda/2015/10/07-info-transports/index.html)
โดย กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เป็นสมาชิกวิสามัญของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยเป็นสมาชิกองค์กรแรกจากทวีปเอเชีย