Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ฝรั่งเศสจ่ายเงินให้ผู้ใช้จักรยานตามระยะทางที่ขี่ไปทำงาน

ฝรั่งเศสจ่ายเงินให้ผู้ใช้จักรยานตามระยะทางที่ขี่ไปทำงาน

ฝรั่งเศสจ่ายเงินให้ผู้ใช้จักรยานตามระยะทางที่ขี่ไปทำงาน

ผู้ใช้จักรยานในปารีส – เราจะได้เห็นภาพแบบนี้มากขึ้นในฝรั่งเศสหลังจากการจ่ายเงินคืนให้ผู้ใช้จักรยานไปทำงานตามระยะทางที่ขี่

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา นางเซโกลีน โรยาล รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมฝรั่งเศส ได้กล่าวยืนยันว่า ฝรั่งเศสจะนำโครงการจ่ายเงินคืนให้ลูกจ้างที่ขี่จักรยานไปทำงานตามความสมัครใจมาใช้ โดยจ่ายให้ 0.25 ยูโร (ประมาณ 10 บาท) ต่อกิโลเมตรที่ขี่  นอกจากนั้นเงินคืนจำนวนนี้ยังได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีรายได้และไม่ถูกหักเข้าประกันสังคมอีกด้วย

พัฒนาการครั้งนี้เป็นผลมาจากการผลักดันต่อเนื่องยาวนานขององค์กรที่ส่งเสริม-ผลักดันการใช้จักรยานในฝรั่งเศสนำโดยสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานฝรั่งเศส (FUB) ซึ่งเป็นสมาชิกของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF) ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกสภาทั้งสองในรัฐสภาฝรั่งเศสที่เป็นมิตรกับการใช้จักรยาน โดยพวกเขาช่วยล็อบบี้ให้เสียงข้างมากในรัฐสภาผ่านญัตติแก้ไขกฎหมายการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้ส่งเสริมการเดินทางที่ทำให้มีสุขภาพดีแข็งแรงมากขึ้นไปเมื่อต้นปีนี้  และการประสานงานกันอย่างแข็งขันนี้ยังทำให้รัฐบาลยอมรับและตั้งอัตราการจ่ายเงินคืนไว้ที่ 0.25 ยูโรต่อกิโลเมตรตามที่องค์กรส่งเสริม-ผลักดันการใช้จักรยานเสนอ แทนที่จะเป็นอัตราต่ำกว่าที่หลายกระทรวงแนะนำ

แต่ฝรั่งเศสมิใช่ชาติแรกที่นำโครงการนี้มาใช้ เบลเยี่ยมจ่ายเงินคืนให้ประชาชนที่ขี่จักรยานไปทำงานมาราวยี่สิบปีแล้ว โดยอัตราการจ่ายต่ำกว่าของฝรั่งเศสเล็กน้อยที่ 0.22 ยูโรต่อกิโลเมตร และทำให้เกิดผลดีอย่างชัดเจน   จำนวนลูกจ้างที่ได้ประโยชน์จากการจ่ายเงินคืนของรัฐบาลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ในช่วงเวลาเพียงสี่ปีจากปี 2552 ถึง 2556 ในขณะที่จำนวนชาวเบลเยี่ยมที่ขี่จักรยานไปทำงานได้เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด  ฝรั่งเศสเลยเอาอย่างมาทำโครงการนำร่องได้ข้อสรุปไปเมื่อปีที่แล้วว่าได้ผลดีเช่นกัน   นายปิแอร์ ตูลูส รองผู้ประสานงานโครงการนำร่อง เสนอผลสำเร็จอันน่าประทับใจนี้ในวันเปิดงานสัปดาห์การเคลื่อนไหวยุโรป (European Mobility Week) เมื่อวันที่ 16 กันยายนว่า ลูกจ้างฝรั่งเศส 10,000 คนที่เข้าร่วมโครงการนำร่องหันมาใช้จักรยานในการเดินทางไปทำงานเพิ่มถึงร้อยละ 50 แสดงว่ามาตรการทางการเงินใช้ได้ผลในการดึงดูดให้คนหันมาใช้จักรยานในการเดินทางในชีวิตประจำวัน

 

นายปิแอร์ ตูลูส นำเสนอความสำเร็จของโครงการนำร่องในฝรั่งเศสในงานสัปดาห์การเคลื่อนไหวยุโรป

ECF เองได้ตีพิมพ์ผลของการศึกษาวิเคราะห์การนำมาตรการทางการเงินที่เกี่ยวกับการเดินทางใน 11ประเทศในทวีปยุโรปออกมาในเดือนธันวาคม 2557  พบว่า ระบบภาษีส่วนมากก่อให้เกิดแรงกระตุ้นที่ทำให้คนเสียนิสัยมีพฤติกรรมการเดินทางที่ไม่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่นการอุดหนุนภาษีให้บริษัทที่จัดรถยนต์ให้ผู้บริหารและลูกจ้างใช้ หรือการอุดหนุนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งกรณีหลังนี้เกี่ยวข้องกับการที่บริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปปรับแต่งระบบวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลดังที่เป็นข่าวใหญ่โตไป  ในขณะเดียวกัน ECF พบว่ามีมาตรการแรงกระตุ้นทางภาษีที่ส่งเสริมรูปแบบการเดินทางที่มีผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างการเดินและการใช้จักรยานน้อยมาก   ECF จึงผลักดันให้แก้ไขความไม่สมดุลนี้ด้วยการแนะนำให้เพิ่มแรงกระตุ้นทางการเงินให้กับการใช้จักรยาน ซึ่งจะเกิดผลดีหลายด้านอย่างที่มีผลการศึกษาออกมามากขึ้นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า คนที่เดินทาง(ไปทำงาน)ด้วยจักรยานมีความสุขมากกว่าและสุขภาพดีกว่าคนที่ใช้รถยนต์ ซึ่งจะช่วยนายจ้างประหยัดรายจ่ายเพิ่มรายได้เนื่องจากลูกจ้างที่ใช้จักรยานเดินทางมาทำงาน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเจ็บป่วยน้อยลง  ระบบสาธารณะสุขของรัฐก็ลดค่าใช้จ่ายลงได้ด้วย  นอกจากนั้นการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางยังช่วยลดมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างงานอีกด้วย

การจ่ายเงินคืนให้ลูกจ้างที่ขี่จักรยานไปทำงานนี้ ประเทศใดก็ทำได้ รวมทั้งประเทศไทย  หากลูกจ้างสมัครใจ นายจ้างร่วมมือ และรัฐให้การสนับสนุน  เคยมีข้อเสนอเรื่องนี้เข้าในช่วงการร่างและการรับฟังความเห็นในเวทีต่างๆ ต่อร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน  และเข้ามาอีกในช่วงการรับฟังความเห็นต่อร่างแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน  ซึ่งแม้ว่าแผนยุทธศาสตร์ที่ผ่านสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นในเรื่องนี้ออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 จะไม่ระบุการสร้างแรงจูงใจด้วยมาตรการทางการเงินการคลังในรูปแบบนี้ไว้เป็นรูปธรรม  แต่ก็ไม่เกินคาดหวังว่าจะมีมาตรการนี้เกิดขึ้นสักวันหนึ่งในเมืองไทย หากพวกเราผู้ใช้จักรยาน ผู้รักสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อม จะช่วยกันผลักดันส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นเดียวกับในฝรั่งเศส


เรียบเรียงจากข่าว Good things come to those who advocate: Cycling reimbursement scheme finally adopted in France ที่เขียนโดย Holger Haubold ใน ECF News, 30 September 2015 โดย กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF) มาตั้งแต่ปี 2013 โดยเป็นสมาชิกองค์กรแรกในทวีปเอเชีย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น