เส้นทางจักรยานถูกบรรจุในผังแม่บทโครงข่ายพื้นที่สีเขียวในเขตกรุงเทพฯ
เมื่อบ่ายวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการประชุมรับฟังความเห็นต่อร่างผังแม่บทโครงข่ายพื้นที่สีเขียวในเขตกรุงเทพมหานครขึ้นที่อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ และได้เชิญชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นด้วย โดยชมรมฯ ส่งนายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ เป็นตัวแทน การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ จากที่จะจัด ๑๐ ครั้ง เชิญองค์กรเอกชนและองค์กรวิชาชีพที่สนใจเข้าร่วม โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ ๒๐ คน นอกจากชมรมฯ แล้วก็มีกลุ่มเราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ กลุ่ม BIG TREE สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย สภาสถาปนิก องค์กรคนพิการ เป็นต้น และมีนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เข้าร่วมสังเกตการณ์อีกประมาณ ๓๐ คน
การจัดทำแผนแม่บทฯ นี้ทำขึ้นเพื่อให้นโยบายข้อ ๓ เกี่ยวกับพื้นที่สีเขียว จากนโยบายพัฒนากรุงเทพมหานคร(กทม.) ๖ ข้อของผู้ว่าฯ กทม. และแผนผังแสดงที่โล่งท้ายกฎกระทรวงให้บังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๖ ใช้ประโยชน์ได้จริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางแนวทางการพัฒนากายภาพของพื้นที่ริมคลองสำคัญในศูนย์กลางเมือง ริมถนนสายหลัก และสวนสาธารณะ ให้มีความเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่าย โดยใช้กรอบแนวคิด ๗ แนวทางอันได้แก่ การเชื่อมต่อ การใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม ความงามดึงดูดของเมือง ความเป็นไปได้ การอนุรักษ์วัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และได้พิจารณารวมการซ้อนทับของการคมนาคมระบบรางที่ กทม. หวังจะให้เป็นระบบขนส่งหลักที่ประชาชนใช้เดินทางประจำวันด้วยแล้ว
ผังแม่บทนี้ได้กำหนดวิสัยทัศน์ออกมาสามประการ โดยวิสัยทัศน์ที่ ๑ โครงข่ายพื้นที่สีเขียวเพื่อส่งเสริมการทำงานของระบบสัญจร มีเป้าหมายส่งเสริมระบบคมนาคมที่มีอยู่ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น เปิดเส้นทางการสัญจรทางจักรยาน และส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนและทางเดินเท้า โดยผังแม่บทฯเสนอแนวคิดการเชื่อมต่อของระบบนิเวศและการเชื่อมต่อระบบการสัญจรทางเท้าและทางจักรยานให้เป็นโครงข่ายครอบคลุมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งปรากฏในส่วนการพัฒนาพื้นที่โล่งประเภทถนนโครงข่ายสีเขียวที่ได้เสนอให้ทำให้ถนน ๓๗ สายที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองชั้นในสามารถเดินและใช้จักรยานได้มากขึ้น (คือมีทางจักรยาน) เช่น ถนนกำแพงเพชร ถนนนวมินทร์ ถนนจันทร์ เป็นต้น จากเดิมที่มีอยู่ ๓๘ สาย โดยจะมีการทำโครงการนำร่องบริเวณช่วงต้นของถนนสาธรเป็นระยะทาง ๑.๖ กิโลเมตร เป็นทางยกระดับเหนือคลองสาธรที่อยู่ตรงกลางระหว่างถนนสาธรเหนือกับถนนสาธรใต้ ให้เป็นทางเดินและขี่จักรยานเล่น มีหลังคา(ซึ่งอาจติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ด้วย) พร้อมสวนหย่อมและต้นไม้ ส่วนผู้ที่ใช้จักรยานในการเดินทางจริงจังให้ใช้ทางจักรยานเดิมที่มีอยู่แล้วบนถนนสาธร โดยจะมีการปรับปรุง กั้นหรือ/และยกระดับให้แยกจากผิวจราจรของรถยนต์อย่างชัดเจนเพื่อเพิ่มความปลอดภัย
แผนที่กรุงเทพมหานครแสดงโครงข่ายพื้นที่สีเขียวตาม(ร่าง)ผังแม่บท (พื้นที่สีเขียวคือสวนสาธารณะ เส้นสีเขียวคือถนน เส้นสีฟ้าคือคลอง)
ในช่วงแสดงความคิดเห็น ตัวแทนจากชมรมฯ ได้เน้นว่า การจัดทำผังแม่บทโครงข่ายพื้นที่สีเขียวนี้ต้องคำนึงถึงผู้ใช้ทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนพิการ และทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ และความสามารถในการเข้าถึงของพวกเขา เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จริงอย่างเป็นธรรม ในส่วนของการใช้จักรยานนั้นเชื่อว่าคงจะได้แนวคิดที่เหมาะสมไปมากแล้วจาก ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา กรรมการชมรมฯ อีกท่านหนึ่ง ซึ่งอยู่ในทีมที่ปรึกษาในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง และมาร่วมในการนำเสนอร่างผังแม่บทในครั้งนี้ด้วย
อนึ่งคณะที่ปรึกษาจากศูนย์บริการวิชาการ จุฬาฯ ได้ให้ข้อมูลว่า จากมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดว่าเมืองน่าอยู่ควรมีพื้นที่สีเขียว ๙ ตารางเมตรต่อประชากรหนึ่งคนนั้น กทม.มีนโยบายว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว(นับเฉพาะพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้)เป็น ๖ ตร.ม./คนภายในปี ๒๕๖๐ โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวแล้ว ๕.๙๗ ตร.ม./คน โดยคิดจากประชากรที่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ (คือประมาณ ๘ ล้านคน) การพัฒนาพื้นที่โล่งให้เป็นโครงข่ายพื้นที่สีเขียวในผังแม่บทนี้จึงมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพียง ๐.๓ ตร.ม./คน หรือประมาณ ๑,๘๐๐ ไร่
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย