อีกสี่ปี ไปไหนในใจกลางกรุงออสโลได้ด้วยการเดิน จักรยาน และขนส่งสาธารณะเท่านั้น
การปิดถนนในออสโล (Credit: VisitOslo.com)
จำข่าวเรื่องปารีสห้ามรถยนต์ส่วนตัวเข้าย่านใจกลางเมืองในการจัดงาน “วันปลอดรถ” ครั้งแรกของเมืองนี้ได้ไหมครับ ถ้าจำไม่ได้ กลับไปอ่านอีกครั้งก็ได้ที่ http://www.thaicyclingclub.org/article/detail/6973 ครั้งนั้นผลที่ออกมาดี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปตั้งร้อยละ 20-40 และชาวเมืองก็ชื่นชมกันมาก นายกเทศมนตรีหญิงก็เลยประกาศว่าปิดเมืองห้ามรถยนต์ส่วนตัวครั้งต่อไปจะขยายพื้นที่ออกไปอีก ทีนี้ก็มีข่าวว่าเมืองหลวงประเทศอื่นจะเอาอย่างบ้าง แล้วก็ไม่ใช่แค่วันเดียว แต่ห้ามแล้วห้ามเป็นการถาวรไปเลย
เมืองที่ว่านั้นคือ กรุงออสโล นครหลวงของประเทศนอร์เวย์ ผู้บริหารเมืองจากพรรคแรงงานที่ชนะการเลือกตั้งไปสดๆ ร้อนๆ ในเดือนเดียวกับที่ปารีสห้ามรถยนต์ส่วนตัวเข้าใจเมืองนั่นล่ะ จับมือกับพรรคกรีนและพรรคสังคมนิยม ออกแผนมาว่า ตั้งแต่ปี 2019 (พ.ศ. 2562) เป็นต้นไป จะห้ามรถยนต์ส่วนตัวเข้าในย่านใจกลางเมืองเป็นการถาวรตลอดไป พร้อมๆกับเพิ่มทางจักรยานอีก 60 กิโลเมตร และปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้นไปอีก จะมีรถยนต์บางประเภทที่ยังได้รับอนุญาตให้เข้าได้ เช่น รถรับส่งคนพิการ และรถที่ขนอาหารเข้าไปให้ร้านอาหารทำให้คนที่เข้าไปทำงานกิน และเหตุผลที่ทำเช่นนี้ก็เป็นเหตุผลเดียวกับปารีส นั่นคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และโดยผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการห้ามรถยนต์ส่วนตัวเข้าใจกลางออสโลจะมีส่วนช่วยให้นอร์เวย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ครึ่งหนึ่งของระดับการปล่อยในช่วงทศวรรษ 1990ในปี 2020 ตามเป้าที่ตั้งไว้
จักรยานสาธารณะในออสโล (Credit: VisitOslo.com)
มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ออสโลก็ทำได้ล่ะสิ เพราะย่านใจกลางเมืองมีคนอาศัยอยู่แค่ 1,000 คน แต่ต้องไม่ลืมว่ามีคนเดินทางเข้า-ออกไปทำงานในย่านนั้นกว่าวันละ 90,000 คน คนเหล่านี้ก็ต้องเดิน หรือขี่จักรยาน หรือใช้รถประจำทางหรือรถราง ส่วนคนที่ไม่อยากออกแรงขี่จักรยานหรือขึ้นรถประจำทางขึ้นรถราง รัฐบาลเมืองก็จะอุดหนุนคนที่อยากใช้จักรยานไฟฟ้าให้ซื้อได้ถูกลงด้วย
แม้จะมีความห่วงใยจากภาคเอกชนว่าธุรกิจของพวกเขาจะเสียหาย แต่ตัวแทนพรรคกรีนเชื่อว่า ผลจะออกมาในทางตรงข้ามเช่นเดียวกับเมืองในประเทศอื่นที่ได้ทำเช่นนี้ไปแล้ว นั่นคือ นอกจากจะเดินและใช้จักรยานได้ดีขึ้นแล้ว การค้าขายก็จะดีขึ้นเช่นกัน ในระยะยาว ออสโลตั้งเป้าว่าจะลดการใช้รถยนต์ทั้งเมืองลงร้อยละ 20 ในปี 2019 และลดให้ได้หนึ่งในสามภายใน 15 ปีหรือ พ.ศ. 2573 โดยรถยนต์ส่วนที่ยังเหลือมีคนใช้อยู่จะต้องไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกต่อไปด้วย
——————————————————————————————————————————————————————————————-
กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เรียบเรียงเขียนจากข้อมูลในข่าวจาก trueactivist.com วันที่ 25 ตุลาคม 2015 เรื่อง Norway’s Capital Is Banning Cars To Invest In A Greener Future เขียนโดย Amanda Froelich ที่ trueactivist.com นำมารายงาน