สี่องค์กรร่วมทำโครงการพัฒนาสู่เมืองคาร์บอนต่ำ เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ถึงเมษายน ๒๕๕๘ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (สสท.) ได้ดำเนินงานโครงการเทศบาลไทยมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๔ พรรษา ประสบความสำเร็จส่งผลให้เกิดกระแสการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำในระดับท้องถิ่นอย่างชัดเจน จึงได้คิดขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ต่อเนื่องเกิดผลกว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น และได้หารือกับภาคีอีกสามหน่วยงานได้แก่ (๑) โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (๒) สำนักงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disaster Risk Reduction – UNISDR) และ (๓) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มาร่วมกันทำโครงการสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ-เมืองจักรยาน-เมืองรู้สู้ภัยพิบัติ สู่ท้องถิ่นสุขภาวะที่น่าอยู่ยั่งยืนขึ้น มีระยะดำเนินงาน ๒๔ เดือน ระหว่างเดือนกันยายน ๒๕๕๘ ถึง สิงหาคม ๒๕๖๐ โดยมุ่งหวังจะพัฒนาเมืองต้นแบบอย่างน้อย ๑๕ เมือง และเมืองเครือข่ายที่จะมาถอดแบบอีกอย่างน้อย ๑๕ แห่ง
กิจกรรมแรกของโครงการคือ การประชุมคณะทำงานพัฒนากรอบแนวคิด เกณฑ์ชี้วัด แนวปฏิบัติ ในการพัฒนาสู่เมืองคาร์บอนต่ำ เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ ครั้งที่ ๑ ขึ้นที่โรงแรมอมารีดอนเมืองแอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วม ๒๐ คน ที่เป็นสมาชิกคณะทำงานฯ จากองค์กรภาคีทั้งสี่ (ซึ่งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้คุณกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ เป็นผู้แทน) ผู้แทนจากกองงานทั้งเจ็ดของเทศบาล(คือสำนักปลัดเทศบาล กองคลัง กองช่าง กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กองวิชาการและแผนงาน กองการศึกษา และกองสวัสดิการสังคม) และเจ้าหน้าที่โครงการ โดยมีนายวิจัย อมราลิขิต นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม ประธานคณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม สสท. เป็นประธาน
(ภาพซ้าย) สองคนซ้ายคือ นายวิจัย อัมราลิขิต กับนางธารี กาเมือง ประธานคณะทำงานและผู้จัดการโครงการ (ภาพขวา) บรรยากาศที่ประชุมคณะทำงาน
หลังการเปิดประชุมโดยประธานคณะทำงานแล้ว นางธารี กาเมือง ผู้จัดการโครงการได้สรุปการดำเนินงานของโครงการเทศบาลไทยสู่เมืองคาร์บอนต่ำฯ และชี้แจงแนวคิดการบูรณาการเมืองคาร์บอนต่ำ เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ เข้าสู่การพัฒนาเทศบาลทั้งระบบ (Whole Municipal Approach)คือเข้าสู่การทำงานของกองงานทั้งเจ็ดของเทศบาลแทนที่จะเป็นกองเดียวอย่างที่มักเป็นมา จากนั้น นส. วรากร น้อยพันธ์ นักวิจัยและผู้ประสานงานโครงการ ได้ชี้แจงรายละเอียดและแผนงานโครงการสร้างเมืองคาร์บอนต่ำฯ ให้ที่ประชุมทราบ และเปิดให้คณะทำงานร่วมกันวิพากษ์และให้ข้อคิดเห็นต่อโครงการฯ ในช่วงบ่าย คณะทำงานได้แบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามส่วนงานพูดคุยกันว่าจะบูรณาการแนวคิดของโครงการฯ เข้าไปในงานทั้งเจ็ดกลุ่มของเทศบาล ออกมาเป็นการปฏิบัติได้อย่างไรบ้าง ซึ่งได้ผลออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติ บางส่วนงานสามารถเสนอออกมีรายละเอียดน่าสนใจมาก
สำหรับขั้นต่อไปของโครงการฯ เป็นการประชาสัมพันธ์เชิญชวนไปยังเทศบาลที่มีศักยภาพ เช่น เทศบาลที่เคยเข้าร่วมโครงการรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint คือประเมินว่าในพื้นที่ของเทศบาลนั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร เท่าใด) เข้าร่วมโครงการและคัดเลือกเทศบาลนำร่องในช่วงวันที่ ๑๓-๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ จากนั้นก็จัดประชุมผู้บริหารและคณะทำงานเมืองต้นแบบเพื่อเปิดตัวโครงการ ลงนามบันทึกความร่วมมือ ชี้แจงรายละเอียดโครงการ แผนงาน และเป้าหมาย ในช่วงวันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคม, แต่งตั้ง จัดประชุม ฝึกอบรมทีมวิทยากรพี่เลี้ยงเพื่อพัฒนาศักยภาพของทีมวิทยากรพี่เลี้ยง และวางแผนร่วมกันในการขับเคลื่อนงานของเทศบาลนำร่อง ในช่วงเดียวกัน และในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ จะมีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานเมืองต้นแบบเป็นรายเทศบาล เพื่อสร้างศักยภาพและพัฒนาแผนงานตามแนวปฏิบัติและเป้าหมายที่ตั้งไว้
ความคืบหน้าของโครงการฯ ทางชมรมฯ จะนำมารายงานเป็นระยะๆ ต่อไป
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย