โครงการสร้างเครือข่ายชุมชนเดินและใช้จักรยานในกรุงเทพฯ เดินหน้าแล้ว
จากการที่มูลนิธิโอกาสได้ดำเนินงาน “โครงการสร้างชุมชนจักรยานเพื่อกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” ด้วยการสนับสนุนของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในช่วงปี ๒๕๕๖-๒๕๕๘ กับชุมชนหลายรูปแบบ ๑๒ ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ พบว่าบางชุมชนได้ปลุกความสนใจสร้างกระแสให้ชุมชนรอบข้างหันมาส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชุมชนของตนขึ้นมาด้วย และทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกัน ทำให้มีพลังในการขับเคลื่อนงานมากขึ้น มูลนิธิสถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคม ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในเครือข่ายเดียวกันกับมูลนิธิโอกาส จึงได้เสนอขอการสนับสนุน “โครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือขับเคลื่อนการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ดำเนินการสร้างเครือข่ายชุมชนจักรยาน ๒ เครือข่ายในกรุงเทพมหานครขึ้นมาเป็นแบบอย่าง โดยเลือกทำสองพื้นที่ พื้นที่เมืองชั้นในเป็นเครือข่ายที่มีชุมชนวัดประชาระบือธรรม ๔ เป็นแกนกลางในเขตดุสิต และพื้นที่เมืองรอบนอกเป็นเครือข่ายที่มีชุมชนบ้านม้าเกาะล่างเป็นแกนกลางในเขตสะพานสูง
บ่ายวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ได้ลงพื้นที่ย่านวัดประชาระบือธรรมจัดประชุมแกนนำชุมชนทั้งหกที่เข้าร่วมโครงการชี้แจงแนวการดำเนินโครงการ และรับฟังสภาพ ปัญหา และความต้องการของชุมชน โดยทางด้านชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย มีนายกวิน ชุติมา กรรมการ และนายประจักษ์ สะมายา ผู้ประสานงานชุมชน-เครือข่ายจักรยาน ร่วมสังเกตการณ์การประชุมครั้งนี้ด้วย
นางประเทือง ช่วยเกลี้ยง ผู้จัดการโครงการฯ ได้ชี้แจงถึงความพิเศษของโครงการนี้ที่จะมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MoU) กับกรุงเทพมหานครด้วย โดยในบันทึกความร่วมมือนี้จะระบุถึงปัญหาและความต้องการของชุมชนในเรื่องที่เกี่ยวกับการเดินและการใช้จักรยานไว้ด้วย กระนั้นบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรนี้ก็อาจจะไร้ประโยชน์หากชุมชนไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ ไม่มีการเอาไปปฏิบัติอย่างจริงจัง และมีการติดตามอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด
ทางด้านแกนนำชุมชนได้เล่าสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น ถนนสายหลักที่ชาวบ้านใช้ขี่จักรยานในการไปประกอบกิจต่างๆ นอกชุมชน คือซอยวัดประชาระบือธรรมมาออกถนนพระราม ๕ และซอยองครักษ์ ๑๓ และถนนสามเสน ๒๘ มาออกถนนสามเสนนั้นมีรถยนต์จากภายนอกมาใช้เป็นทางลัด เพิ่มไปจากจักรยานยนต์ที่มีมากอยู่แล้ว, มีการจอดรถยนต์รถเข็นเกะกะกีดขวางทำให้ไม่แลอดภัยในการขี่จักรยาน ฯลฯ แกนนำชุมชนได้เสนอมาตรการหลายอย่างที่จะเอื้อให้ชาวชุมชนใช้จักรยานมากขึ้น เช่น เมื่อจะให้ถนนสายนี้เป็นเส้นทางจักรยานชุมชนก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบทั่วกัน จะเท่าแต่ทาสีเครื่องหมายจักรยานบนถนนและติดป้ายเท่านั้นไม่เพียงพอ, ต้องมีที่จอดที่สามารถล็อกจักรยานได้ ถ้าจะให้ดีควรมีกล้องวงจรปิดตรวจตราด้วย, ให้มีไฟส่องสว่างทั่วถึงตามเส้นทาง ปัจจุบันบางแห่งยังมืดอยู่, ให้จัดระเบียบรถที่จอดเกะกะขวางทาง ฯลฯ ที่สำคัญคือให้มีความปลอดภัยทั้งคนและจักรยาน นอกจากนั้นทางชุมชนได้ขอให้ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยจัดหาอาสาสมัครมาซ่อมจักรยานและสอนการซ่อมจักรยานให้ชาวชุมชนอีกครั้งหนึ่ง
ข้อเสนอของชาวชุมชนนี้สอดคล้องไปทางเดียวกับข้อเสนอของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้ทำ “โครงการปรับปรุงเส้นทางจักรยานชุมชนเพื่อสภาวะแวดล้อมที่ดีในเขตกรุงเทพมหานคร” ซึ่งได้เลือกถนนสายนี้เป็นเส้นทางจักรยานที่ให้ปรับปรุงในเขตดุสิต หากมีการปรับปรุงก็เชื่อได้ว่าจะมีคนใช้จักรยานมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้จักรยานไปจับจ่ายซื้อของ ซึ่งขณะนี้มีคนใช้อยู่บ้างแล้ว ตลาดใหญ่ที่ศรีย่านและบางกระบือก็อยู่ไม่ไกลเกินไปคือไม่ถึงสามกิโลเมตร
ทางด้านกรรมการชมรมฯได้เสนอให้สำรวจข้อมูลการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของทุกครัวเรือนในทุกชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ และสำรวจการใช้รถยนต์เข้ามาในถนนสายนี้ของทั้งคนภายในและภายนอกชุมชน ให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอมาวางแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องถูกต้องตรงกับปัญหา-ความต้องการ และได้แนะนำให้นำแผนที่มาใช้ในการเสนอข้อมูลด้วยจะทำให้เข้าใจได้ง่ายและชัดเจนขึ้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่โครงการฯ เห็นด้วยและรับนำไปหารือกับชาวชุมชนในการปฏิบัติ ส่วนการประชาสัมพันธ์ ควรใช้ทุกช่องทางที่มีเนื่องจากแกนนำชุมชนเปิดเผยว่าชุมชนในกลุ่มที่ทำโครงการนี้มี “ประชากรแอบแฝง” คือคนนอกที่มาเช่าอยู่พักอาศัยมาก บางชุมชนมากถึงร้อยละ ๘๐ ของประชากรในชุมชนนั้น และ “คนนอก” สนใจร่วมกิจกรรมของชุมชนน้อย
ความคืบหน้าของโครงการนี้ ชมรมฯ จะได้นำมาเสนอต่อไป
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย