สารสิ้นปีจากนายมันเฟรด นอยน์ ประธานสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป
สวัสดีเพื่อนชาวสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป
ปีที่ยิ่งใหญ่อีกปีหนึ่งของการใช้จักรยานกำลังจะสิ้นสุดลง และผมภูมิใจมากต่อความสำเร็จของ ECF และหุ้นส่วนทั้งหมดของเรา ปีนี้ชุมชนคนใช้จักรยานได้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสำคัญ ซึ่งความก้าวหน้าเช่นนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากการสนับสนุนและความมุ่งมั่นของพวกท่าน
ในยุโรป การมีเอกสารทางนโยบายที่เข้าข้างการใช้จักรยานที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดทำขึ้นเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกว่าเรื่องอื่นใดทั้งหมดในปีนี้ ปฏิญญาลักเซมเบอร์กเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป 28 ประเทศกับคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ลงนามไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นชัดเจนถึง “ความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการใช้จักรยานในฐานะที่เป็นวิธีการเดินทางขนส่งที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับภูมิอากาศ” คำปฏิญญาได้เรียกร้องเป็นครั้งแรกให้มียุทธศาสตร์การใช้จักรยานที่จะแสดงให้เห็นประโยชน์ของการใช้จักรยานในเชิงนโยบายที่ครอบคลุมทั่วยุโรป
ปฏิญญาฉบับนี้เป็นผลงานของการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ การทำงานของเรากับสถาบันต่างๆ ในยุโรปได้รับการสนับสนุนอย่างโดดเด่นจากสมาชิกและผู้สนับสนุนของเราจากเมืองต่างๆ ภาคอุตสาหกรรม และชุมชนวิชาการ เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกประเทศและทุกภาคส่วนในสหภาพยุโรปสนับสนุนปฏิญญานี้
ขอบคุณครับ หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล แต่เราอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว
ผมยังรู้สึกยินดียิ่งด้วยกับความก้าวหน้าของเราในการทำให้การใช้จักรยานเป็นปรากฏการณ์โลก การศึกษาล่าสุดของเรา “สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนไปใช้จักรยานอย่างมากทั่วโลก” แสดงให้เห็นว่าการใช้จักรยานสามารถประหยัดเงินค่าเดินทางขนส่งให้โลกได้มากถึง 25 ล้านล้านดอลลาร์ในทศวรรษข้างหน้าที่จะมาถึง เรายังทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การสหประชาชาติด้วยมาแสดงให้เห็นว่า การใช้จักรยานสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนถึง 11 เป้าหมายจากที่มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ซึ่งเป็นแผนที่เส้นทางไปสู่ปี 2030 ที่ 193 ประเทศเห็นชอบร่วมกันในการประชุมสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ด้วยหลักฐานนี้ สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปกับพันธมิตรการจักรยานโลกได้ประสานความพยายามของพวกเขาเข้าด้วยกันในการนำการใช้จักรยานเข้าไปอยู่ในข้อตกลงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สำคัญๆ ในระดับโลกเป็นส่วนใหญ่ นำเอาความมุ่งมั่นต่อจักรยานด้วยความสมัครใจไปการสู่การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 ที่กรุงปารีส และทำให้แน่ใจว่าการใช้จักรยานเข้าไปอยู่ในระเบียบวาระการประชุมว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การประชุมด้านที่อยู่อาศัย Habitat III และการประชุมต่างๆ ที่จะตามมาอย่างกว้างขวางหลังการบรรลุข้อตกลงในเรื่องสภาพภูมิอากาศโลกที่ปารีส
ในระดับส่วนตัว ผมอยากกล่าวขอบคุณเพื่อนร่วมงานของผมในเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์เพื่อการจักรยาน (Scientists for Cycling Network) เราได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกของเราชื่อ “อนาคตการจักรยาน จากการวิจัยสู่การปฏิบัติ” ซึ่งเป็นหลักหมายความก้าวหน้าที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของเครือข่ายทางวิชาการนี้
ขณะนี้ผมรู้สึกตื่นเต้นจริงๆ ที่ได้เห็นสิ่งที่เราจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ในปี 2016 การประชุมจักรยานนานาชาติในชุดยุโรป Velo-city Nantes 2016ที่เมืองน็องในประเทศฝรั่งเศสสร้างสถิติใหม่ในด้านจำนวนผู้เข้าร่วม คือมากกว่า 1,500 คน และเราไม่อาจจะตื่นเต้นกับเรื่องใดได้มากไปกว่าการจะมีการประชุมจักรยานนานาชาติในชุดการประชุมระดับโลกที่นครไทเปของไต้หวันในปี 2016 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ไม่อาจพลาดได้ในการได้ค้นพบแนวโน้มทางนโยบายเกี่ยวกับการใช้จักรยานจากทั่วโลก และยังได้ค้นพบอนาคตของการออกแบบและเทคโนโลยีเกี่ยวกับจักรยานที่งาน Taipei Cycle Show การนำทุกแง่มุมของการใช้จักรยานมาอยู่ด้วยกันทำให้เราเติบโตเข้มแข็งกว่าเดิมและมุ่งหน้าอย่างมุ่งมั่นที่จะบรรลุหลักหมายความก้าวหน้าใหม่ๆ เป้าหมายใหม่ๆ และความสำเร็จใหม่ๆ ต่อไป
สิ่งที่ท้าทายการผลักดันนโยบายของเราในปี 2016 คือ การทำให้แน่ใจว่าผู้กำหนดนโยบายทำในสิ่งที่พวกเขาตกปากรับคำไว้ และทำงานกับรัฐบาล เมือง ภาคอุตสาหกรรม และประชาสังคม ในการนำเอาการใช้จักรยานไปไว้เป็นหัวใจของการเดินทางแนวใหม่ที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางและยั่งยืนกว่าเดิม
การเปลี่ยนแปลงจะบรรลุเป็นจริงได้เมื่อมีความตั้งใจทางการเมืองที่จะทำเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นไปไม่ได้หากไม่มีชุมชนคนใช้จักรยานที่เข้มแข็งและมุ่งมั่นมาผลักดันให้เกิดขึ้น ขอบคุณสำหรับการทำงานอย่างยอดเยี่ยมของท่านและจิตใจของท่านที่จะทำให้โลกดีกว่าเดิม ปี 2016 สามารถจะเป็นปีแห่งความภาคภูมิใจได้อีกปีหนึ่งสำหรับท่านทุกคน ทั้งแต่ละคนและหลายคนร่วมกัน
ขออวยพรให้ท่านมีความสุขในเทศกาลปีใหม่นี้
มันเฟรด นอยน์
ประธานสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป
————————————————————————————————————————————————————
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 โดยเป็นสมาชิกองค์กรแรกในทวีปเอเชีย และยังร่วมกับ ECF เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA) ในปี 2557
แปลโดย กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย