Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / สช.สรุปการขับเคลื่อนมติการเดินการใช้จักรยาน

สช.สรุปการขับเคลื่อนมติการเดินการใช้จักรยาน

สช.สรุปการขับเคลื่อนมติการเดินการใช้จักรยาน

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8พ.ศ. 2558ผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 21-23ธันวาคม 2558ที่ผ่านมา  มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5พ.ศ. 2555 มติ 5.1การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันแม้จะไม่ได้เข้าไปอยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสมัชชาฯ  ไม่ได้มีการทบทวนหรือรายงานความก้าวหน้าในห้องประชุมใดของสมัชชาฯครั้งนี้ แต่ก็ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่องเล่า… บนขบวนรถไฟสายสุขภาพซึ่งเป็นเอกสารหลักประกอบการประชุมที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติใช้นำเสนอสรุปเรื่องราวการดำเนินงานและผลที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนมติต่างๆ ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา

การนำเสนอถึงมติ 5.1 การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ปรากฏอยู่ในหมวด “ระบบสุขภาพ การแพทย์ และสาธารณสุข และปัจจัยที่กำหนดสุขภาพ” ภายใต้หัวข้อ “ปัจจัยที่กำหนดสุขภาพ” จึงเก็บมาถ่ายทอดต่อให้ทราบในวงกว้างอย่างครบถ้วนดังนี้

การที่ประชาชนหันมาเดินและใช้จักรยานกันมากขึ้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นที่มาของการที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยที่ได้รณรงค์การใช้จักรยานมาอย่างต่อเนื่อง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้เสนอระเบียบวาระเรื่องการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จนได้รับการรับรองเป็นมติหนึ่งของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 และคณะรัฐมนตรีได้รับทราบมติฯ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556

หัวใจของมติฯนี้คือ การให้ประชาชนหันมาเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยการทำให้สภาพแวดล้อมต่างๆ ของสังคมไทยเอื้อต่อการเดินและใช้จักรยาน ทั้งด้านโครงสร้างทางกายภาพ กฎหมาย ระเบียบ ระบบการจราจร รวมทั้งการรณรงค์ให้คนเห็นประโยชน์และหันมาใช้จักรยานให้มากขึ้น

ในส่วนการขับเคลื่อนตามมติฯนี้นั้น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยมีชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเป็นแกนประสานหลัก ซึ่งคณะทำงานขับเคลื่อนฯ ได้ดำเนินการใน 2 เรื่องหลัก คือการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และการปรับแผนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

ผลการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ พบว่า หน่วยงานส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการกับมติสมัชชาสุขภาพฯ แต่การนำข้อมติไปปฏิบัติยังเกิดขึ้นเพียงบางส่วน ดังเช่นสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นว่าควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับนโยบายที่ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนาม เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานระหว่างหน่วยงาน  ขณะที่กระทรวงมหาดไทยมอบให้ (1) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ และบรรจุประเด็นการเดินและการใช้จักรยานในหลักสูตรอบรมผู้บริหารของสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น  (2) กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 ให้มีที่จอดจักรยานในอาคารและพื้นที่สาธารณะ   ส่วนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอเรื่องการจัดทำแผนเพื่อการพัฒนาระบบจักรยานในการเดินทางในชีวิตประจำวัน   นอกจากนี้ยังหารือเรื่องการจัดทำระบบเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ โดยเบื้องต้นอาจเริ่มดำเนินการที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์  กระทรวงอุตสาหกรรม  และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัดเป็นตัวอย่างในการใช้จักรยาน โดยการจัดช่องทางจักรยานในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุขและทางเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้า รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้จักรยานในโอกาสสำคัญๆ ต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น

เห็นได้ว่าภารกิจแรกของคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เรื่องการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ นั้น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี  ภารกิจสำคัญประการที่สองของคณะทำงานขับเคลื่อนฯ คือ การปรับแผนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ให้สอดคล้อง โดยร่วมกับองค์กร หน่วยงาน และภาคเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จนสามารถนำเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ และได้รับการรับรองแผนยุทธศาสตร์ฯ นี้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558

แผนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านนโยบายและการบริหารจัดการในการกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนเลือกการเดินและการใช้จักรยานเป็นวิธีการหนึ่งในการเดินทางในชีวิตประจำวัน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างและจัดการความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบฐานข้อมูล การพัฒนาองค์ความรู้และการนำไปใช้ การพัฒนาศักยภาพองค์กรและบุคคล รวมถึงการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการติดตามประเมินผล

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวางแผนปรับปรุงและพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้รองรับการเดินและการใช้จักรยานที่ได้มาตรฐานและมีความเหมาะสมกับบริบท สภาพแวดล้อม และพฤติกรรมของคนแต่ละพื้นที่ รวมถึงการปรับปรุงมาตรฐานชิ้นส่วนจักรยานให้เหมาะสมและปลอดภัย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสื่อสารสาธารณะเพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนัก ตื่นตัว รวมทั้งการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินและการใช้จักรยาน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างเครือข่ายทางสังคมให้เข้ามามีส่วนในการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ยังจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในการขับเคลื่อนและประสานการทำงานกับหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยเลขานุการ และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ทั้งนี้สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ จะเสนอแผนยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งแผนปฏิบัติการต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามยุทธศาสตร์ฯ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น