การประชุมจักรยานโลก 2016 ที่ไทเป ปิดลงแล้ว พร้อมชี้ทิศทางอนาคตของการใช้จักรยาน
การประชุมจักรยานโลก 2016 (Velo-city Global 2016) ที่นครไทเป ไต้หวันปิดลงแล้วในวันนี้ (1 มีนาคม 2559) ด้วยความสำเร็จยิ่งใหญ่ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คนจาก 43 ประเทศ นับเป็นสถิติใหม่สำหรับการประชุมชุด Velo-city ที่จัดนอกทวีปยุโรป ในพิธีปิดมีการมอบเครื่องหมายที่เป็นสัญลักษณ์ของการประชุมให้กับเจ้าภาพในปี 2017 นั่นคือเมืองไนเมเกน (Nijmegen) กับเมืองอาร์นเน็ม (Arnhem) ในประเทศเนเธอร์แลนด์
การประชุมจักรยานโลกคราวนี้มีทุกสิ่งทุกอย่าง จากผู้นำอุตสาหกรรมจักรยานอย่างนายจอห์น เบิร์ก ประธานของ TREK, นายโทนี่ โล ประธานสมาคมจักรยานไต้หวัน และนายอาร์มิน แลนด์กราฟ ผู้อำนวยการของ Pon Bicycle Groupจนถึงนักวางผังเมืองชื่อเสียงก้องโลกอย่างนายริคคาร์โด แอนเดรีย มารินี จาก Gehl Studio และจูเลีย เนบริยา จากธนาคารโลก วิทยากรกว่า 160 คนมานำเสนอเรื่องเกี่ยวกับจักรยานในหัวข้อที่ร้อนแรงทางด้านธุรกิจ การผลักดันนโยบาย และเทคโนโลยีการออกแบบที่เฉียบคม ส่วนผู้เข้าร่วมก็มาจากทุกมุมโลกตั้งแต่โคเปนเฮเกนถึงมะนิลา และจากจาการ์ตาถึงนิวยอร์ค ทำให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นเอกลักษณ์อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นายแมนเฟรด นอยน์ ประธานสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป(ECF) และพันธมิตรการจักรยานโลก(WCA)กล่าวปิดการประชุมว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เรามีทั้งรัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภค เข้ามาร่วมอย่างเข้มแข็ง ทำให้การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมสุดยอดของโลกในเรื่องการใช้จักรยานอย่างแท้จริง ผมขอขอบคุณนครไทเปที่จัดการประชุมได้อย่างยอดเยี่ยม… เราต้องการจำนวนมากๆ เป้าหมายใหญ่ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก และเราสามารถทำเช่นนั้นได้ด้วยกัน”
นายแมนเฟรด นอยน์ ประธาน ECF กล่าวปิดประชุม
นายเหวินเจอะโก นายกเทศมนตรีไทเป
ส่วนนายเหวินเจอะโก นายกเทศมนตรีนครไทเป กล่าวในพิธีปิดว่า “การใช้จักรยานสามารถนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตในเมืองด้วยพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สุขภาพของประชาชน และความตื่นตัวในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบของผมในฐานะนายกเทศมนตรีนครไทเปคือการเอาคุณภาพของการดำรงชีวิตไปคู่ขนานกับมาตรฐานสากล” เขาปิดท้ายด้วยถ้อยคำหนักแน่
การประชุมครั้งนี้ได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างอบอุ่นจากชาวไต้หวันด้วยการมีกิจกรรมข้างเคียงมากมายที่จัดโดย Cycling Life Style Foundation กับ Formosa Lohas Cycling Association.
ในพิธีปิดการประชุม มีการมอบสัญลักษณ์เครื่องหมายของการประชุมจากนายเหวินเจอะโกคืนกลับมาให้นายแมนเฟรด นอยน์ และส่งต่อไปให้เจ้าภาพร่วมในปีหน้า (2017) คือเมืองไนเมเกนกับเมืองอาร์นเน็มในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีนางแฮเรียต ทีมานส์ รองนายกเทศมนตรี และนายเฮอร์มาน ไกเซอร์ นายกเทศมนตรี เป็นผู้แทนมารับด้วยตนเองและประกาศว่า Velo-city 2017จะอยู่ในหัวข้อ “อิสรภาพของการใช้จักรยาน” (Freedom of Cycling) จากประสบการณ์ของชาวดัทช์
นายเฮอร์มาน ไกเซอร์ และนางแฮเรียต ทีมานส์ ชูสัญลักษณ์การประชุมเวโลซิตี้แสดงการเป็นเจ้าภาพร่วมกันในปี 2017
“เราประทับใจมากกับสิ่งที่ได้พบเห็นและได้รับประสบการณ์ที่ไทเปแห่งนี้ คุณได้สร้างสะพานเชื่อมโยงปิดช่องว่างระหว่างเทคโนโลยีกับมนุษย์ สะพานเป็นคำอุปมาอุปมัยสำหรับความร่วมมือและอิสรภาพ เหมือนกับเมืองทั้งสองของเราที่เจริญรุ่งเรืองด้วยการทำงานร่วมกัน หัวข้อของการประชุมจะเกี่ยวกับอิสรภาพของการใช้จักรยาน อิสรภาพที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกัน” เป็นคำกล่าวของนายเฮอร์มาน ไกเซอร์ นายกเทศมนตรีเมืองอาร์นเน็ม ในขณะที่นางแฮเรียต ทีมานส์ รองนายกเทศมนตรีเมืองไนเมเกน เสริมว่า “เมืองของเรา อาร์นเน็ม-ไนเมเกน รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพการประชุมจักรยานครั้งต่อไปในปี 2017 ในนามของประเทศเนเธอร์แลนด์”
หมายเหตุ: การประชุมในชุด Velo-cityเป็นการประชุมจักรยานนานาชาติอันดับหนึ่งของโลก จัดโดยสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปร่วมกับเมืองที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ การประชุมเวโลซิตี้ทำหน้าที่เป็นเวทีสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยตั้งเป้าไปมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจในการบริหารเมือง และปรับปรุงการวางแผนและการจัดโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในสภาพแวดล้อมเมือง การประชุมมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนของสมาคมและสถาบันต่างๆ ผู้กำหนดนโยบาย องค์กรทางสังคม มหาวิทยาลัย และบริษัทต่างๆ
——————————————————————————————————————————————————————————————-
กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย แปลจากใบแถลงข่าวของ ECF 1 มีนาคม 2016 ชื่อ Closing of Velo-city Conference 2016 in Taipei: The Future of Cycling is Here!
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกวิสามัญของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) มาตั้งแต่ปี 2556 โดยเป็นสมาชิกองค์กรแรกจากทวีปเอเชีย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)