การประชุมจักรยานโลกครั้งใหญ่ที่สุดตามมาทันทีด้วยงานแสดงจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก
พิธีเปิดงานแสดงจักรยานไทเปด้วยผู้นำในวงการอุตสาหกรรมจักรยานจากทั่วโลก ประธานาธิบดีไต้หวัน และประธานสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป
การประชุมจักรยานโลก 2016 (Velo-city Global 2016)เป็นเวลาสี่วันในนครไทเป ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ถึง 1 มีนาคม 2016 ปิดลงอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากเป็นการประชุมเกี่ยวกับการใช้จักรยานที่ใหญ่ที่สุดที่จัดขึ้นนอกทวีปยุโรปแล้ว (อ่านข่าวที่ http://www.thaicyclingclub.org/article/detail/11046) การประชุมครั้งนี้ยังมีอัตลักษณ์พิเศษด้วยการจัดขึ้นต่อเนื่องกับงานแสดงจักรยานไทเป (Taipei Cycle Show)ซึ่งเป็นงานแสดงของอุตสาหกรรมจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นเวลาสี่วันระหว่างวันที่ 2-5 มีนาคมอีกด้วย และเป็นครั้งแรกที่สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF) ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายที่ส่งเสริมการใช้จักรยานในเมืองที่เข้มแข็งที่สุดในโลก และพันธมิตรการจักรยานโลก (WCA) ได้มีบทบาทเข้าร่วมงานนี้อย่างชัดเจน โดยมีนายแมนเฟรด นอยน์ ประธานของ ECF และ WCA เป็นตัวแทนเข้าร่วมในพิธีเปิด เคียงข้างกับนายหม่าอิงเจียว ประธานาธิบดีไต้หวัน และผู้นำธุรกิจ-อุตสาหกรรมจักรยานจากทั่วโลก
นายปีเตอร์ ฮวง ประธานสภาพัฒนาการค้าต่างประเทศไต้หวัน(Taiwan External Trade Development Council – TAITRA) ชี้ว่า การประชุมจักรยานโลกและงานแสดงจักรยานไทเปแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการส่งเสริมการใช้จักรยานกับธุรกิจ-อุตสาหกรรมจักรยานอย่างชัดเจน เขาขอบคุณ ECF และรัฐบาลนครไทเปที่นำการประชุมจักรยานโลกมาจัดที่ไทเปจนประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการประชุมนี้ อีกทั้งเนื้อหาของการประชุมทำให้เห็นบทบาทในการส่งเสริมการใช้จักรยานของอุตสาหกรรมจักรยานได้อย่างชัดเจนจากตัวอย่างของอุตสาหกรรมจักรยานในไต้หวัน จากเดิมที่มักเข้าใจกันว่าบทบาทหลักในเรื่องนี้อยู่กับองค์กรในภาคประชาชนกับองค์กรภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลท้องถิ่น
นายแมนเฟรด นอยน์ สนทนาอย่างชื่นมื่นกับประธานาธิบดีหม่าอิงเจียว
ส่วนประธานาธิบดีหม่าอิงเจียวได้กล่าวถึงประโยชน์ของการใช้จักรยานที่ประชาชน เมือง และสังคม ได้รับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จักรยานเป็นประจำทำให้สุขภาพดี เมื่อประชาชนสุขภาพดี รัฐบาลก็ใช้เงินในการดูแลรักษาประชาชนน้อยลง เขาจึงสนับสนุนให้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยาน ประธานาธิบดีหม่าซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2016 ยังชี้ว่า ปัจจุบันระบบจักรยานเช่ายูไบค์ (YouBike) ในไต้หวัน ครองตำแหน่งเป็นเจ้าของสถิติโลก โดยมีผู้ใช้งานเดือนละมากกว่าหนึ่งล้านคน
ในวันแรกของงาน (2 มีนาคม 2016) มีการจัดเวทีให้ผู้นำในวงการอุตสาหกรรมจักรยานมาแสดงวิสัยทัศน์ของตน ไม่บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นซีอีโอของ BOSCH, GIANT, ACCELL, PON, KMC, CONEBI(กลุ่มจักรยานกีฬาและอุตสาหกรรมของยุโรป), สมาคมจักรยานไต้หวัน (TBA) และ People for Bikes จากสหรัฐอเมริกา จะมาอยู่บนเวทีเดียวกัน และต่างประสานเสียงเป็นหนึ่งเดียวว่า ตลาดจักรยานจะเติบโตได้ก็ด้วยการทำงานร่วมกับผู้บริหารเมืองต่างๆ รัฐบาล และผู้บริโภค(องค์กรของประชาชนผู้ใช้จักรยาน) พวกเขาจะช่วยกันผลักดันนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยาน โดยเฉพาะให้รัฐจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนขี่จักรยานได้อย่างปลอดภัย เวทีที่ TAITRA กับชมรมอุตสาหกรรมการใช้จักรยาน (Cycling Industry Club – CIC) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพนี้เป็นการขยายผลต่อเนื่องจากความสำเร็จของการประชุมจักรยานโลกที่นำนักวางแผนและผู้มีอำนาจตัดสินใจในภาครัฐ, ผู้ทำงานผลักดันการส่งเสริมการใช้จักรยาน และผู้นำในภาคอุตสาหกรรมจักรยาน มาอยู่ในการประชุมเดียวกันมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน และช่วยยกจิตสำนึกของภาคอุตสาหกรรมต่อบทบาทของตนในการส่งเสริมการใช้จักรยานในระดับโลก ตัวอย่างผู้ร่วมงานที่เป็นคนดังและมีบทบาทสูงก็มีนายรอบเบิร์ต เดอ ค็อค เลขาธิการใหญ่สหพันธ์โลกของอุตสาหกรรมสินค้ากีฬา (World Federation of Sporting Goods Industry), นายมาร์ค แวน รู ประธาน Shimano ยุโรป, นายมาซาฮิโกะ จิมโบะ ผู้อำนวยการด้านการตลาดของ SHIMANO, นายแฟรงค์ โบห์เล กรรมการผู้จัดการของ SCHWALBE และนายคิง ลิว ผู้ก่อตั้งและประธานของ GIANT
เวทีแสดงวิสัยทัศน์ผู้นำอุตสาหกรรมจักรยานในงาน Taipei Cycle Show
หลังจากที่นายเควิน เมน ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาและผู้จัดการ CIC ของ ECF กล่าวเปิดเวทีแล้ว ก็เป็นคราวของผู้นำอุตสาหกรรมจักรยานได้แสดงวิสัยทัศน์ของตน ซึ่งบ่งชี้ทิศทางในอนาคตของการใช้จักรยานอย่างสำคัญ
นายโรเบิร์ต วู แห่ง KMCบอกว่ามีปัญหาใหญ่สามประการที่ท้าทายโลกในปัจจุบัน นั่นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงเป็นเมือง และภาวะอ้วน และโชคดีที่จักรยานให้คำตอบต่อปัญหาเหล่านี้ได้ทั้งหมด ส่วนนายเรย์มอนด์ เกนส์ ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีอนาคตของ PON และประธานของ CIC กล่าวว่าอนาคตของอุตสาหกรรมจักรยานต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งระหว่างฝ่ายอุตสาหกรรมกับผู้บริหารเมือง นายเคลาส ฟลีชเชอร์ ซีอีโอของระบบจักรยานไฟฟ้าบอช, เรเน ทาเกนส์จาก ACCELL และCENOBI, นายสก็อต ริทส์ชอฟ จาก Cycling Sport Group & People for Bikes, และนายโทนี่ โล จาก GIANT เห็นด้วยกับความเห็นนี้และเสริมไปทำนองเดียวกันว่า การมีเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่พอ ยอดขายจักรยานจะสูงขึ้นได้ก็ต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน และโครงสร้างพื้นฐานนี้มาจากไหน ก็จากผู้บริหารเมืองและรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ นั่นเอง ดังนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมจักรยานก็ต้องหาทางไปกระตุ้น ไปทำงานกับนักการเมืองและผู้กำหนดนโยบาย ทำให้การใช้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดในการสร้างเมืองให้น่าอยู่และยั่งยืน ทำ ให้การใช้จักรยานทำได้ทุกหนแห่งและตลอดเวลา เป็นสวรรค์ของการใช้จักรยานอย่างเช่นที่ไต้หวันทำ
อีกทิศทางหนึ่งที่คนในแวดวงอุตสาหกรรมจักรยานเห็นตรงกันคือการใช้จักรยานไฟฟ้า (eBikes) จักรยานไฟฟ้าไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ใช้เดินทางได้ราบรื่นมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเดินทางได้ไกลขึ้นด้วย ทำให้การเปลี่ยนภาพของจักรยานที่ยังติดอยู่อย่างมากกับการเป็นเครื่องกีฬา อุปกรณ์ออกกำลังกาย และการใช้เพื่อท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ มาเป็นวิธีการเดินทางขนส่งในเมืองในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้การใช้จักรยานเป็นคำตอบของการเดินทางที่ยั่งยืนอย่างเต็มศักยภาพ เป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วยิ่งขึ้นขยายกลุ่มเป้าหมายในการขายของตลาดจักรยานออกไป ปัญหาของจักรยานไฟฟ้าที่ยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันคือการกำกับควบคุม มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายออกมากำกับให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วโลก (ปัจจุบัน แม้แต่นิยามหรือความหมายของ “จักรยานไฟฟ้า” ก็ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น อย่างที่เข้าใจในจีนและในยุโรปนั้นต่างกันมาก – ผู้เขียน) ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก็ต้องไปช่วยกันผลักดันให้ออกมา
คณะชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยที่งาน Taipei Cycle Show จากซ้าย:กวิน(กรรมการ), ศ.ธงชัย(ประธาน), สรัสวดี(เจ้าหน้าที่)
และดร.ประพัทธ์พงศ์ (กรรมการ)
บรรยากาศภายในงาน Taipei Cycle Show ที่ Nangang Exhibition Center ชานเมืองไทเป
คณะของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยที่ไปร่วมการประชุมจักรยานโลกได้ไปสังเกตการณ์งานแสดงจักรยานไทเปครั้งนี้ด้วยครึ่งวัน แต่ในเวลาอันสั้นนั้นก็ยังได้พบกับทั้งผู้ประกอบการและคนไทยทั่วไปจำนวนไม่น้อย แสดงให้เห็นถึงความสนใจการใช้จักรยานที่เติบโตขึ้นในไทย ชมรมฯ หวังว่า ทิศทางที่แวดวงธุรกิจและอุตสาหกรรมในระดับโลกกำลังก้าวไปในการส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางในเมืองในชีวิตประจำวัน รวมทั้งความร่วมมือของสามภาคส่วนคือ องค์กรส่งเสริมการใช้จักรยานในภาคประชาชน, องค์กรในภาครัฐโดยเฉพาะรัฐบาล-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอุตสาหกรรมจักรยาน จะเกิดขึ้นในเมืองไทยเช่นกันต่อไปในอนาคตอันใกล้
—————————————————————————–
เก็บความมาเขียนจากข่าว Taipei Cycle Show: Advocacy is the future of cycling according to industry leadersและ Strong ECF presence at the opening ceremony of the Taipei Cycle Showใน ECF Newsletter โดย กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์กรแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation –ECF) โดยเป็นมาตั้งแต่ปี 2556 และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA) ในปี 2557