Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ประชุมวิชาการเดินจักรยานครั้งที่ ๔ ยกระดับไปอีกขั้น

ประชุมวิชาการเดินจักรยานครั้งที่ ๔ ยกระดับไปอีกขั้น

ประชุมวิชาการเดินจักรยานครั้งที่ ๔ ยกระดับไปอีกขั้น

การประชุมวิชาการการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันครั้งที่ ๔ “เดินและจักรยาน… งานของทุกคน” (Bike and Walk for ALL) ผ่านไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ด้วยความสำเร็จเป็นอย่างดีเช่นเดียวกับสามปีแรก และมีการยกระดับการประชุมให้สูงขึ้นอีกขั้นหนึ่งอย่างชัดเจน โดยมีหลายสิ่งที่เป็น “ครั้งแรกในประเทศไทย”

องค์กรร่วมจัดการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 4

การประชุมครั้งนี้มีองค์กรร่วมจัด ๑๖ องค์กร มากที่สุดนับแต่มีการจัดงานมาสี่ปี อันได้แก่ กรุงเทพมหานคร, สำนักงานนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง, กรมทางหลวงชนบท, กรมควบคุมมลพิษ, กรมการขนส่งทางบก, กรมอนามัย, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน, ศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก, สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย   และมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมทั้งหมด ๑๗๒ คน แบ่งได้เป็นผู้เข้าร่วมจากองค์กรร่วมจัด ๒๕ คน, หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน นักวิชาการ นักศึกษา ๔๕ คน, ผู้นำเสนอ พิธีกร-ผู้ดำเนินรายการ และผู้เกี่ยวข้องในงานวิชาการ ๓๔ คน, กรรมการ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครของชมรมฯ ๑๗ คน, สื่อมวลชน ๑๒ คน และผู้สนใจทั่วไป ๓๙คน

กิจกรรมที่ทำให้การประชุมครั้งนี้โดดเด่นกว่าการประชุมวิชาการด้านการเดินการใช้จักรยานที่ผ่านมาคือ มีการเชิญผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากต่างประเทศมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนกับคนไทยในเรื่องการใช้จักรยานเป็นครั้งแรก เพิ่มเติมขึ้นไปจากการเสนอผลงานศึกษาวิจัยทางวิชาการของคนไทย และมีการประกาศผลการประกวดการออกแบบเครื่องแต่งกายเพื่อใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน พร้อมการเดินแบบ เป็นครั้งแรก  อีกทั้งการประชุมครั้งนี้ได้ย้ายจากเดิมที่จัดที่อาคารสร้างเสริมสุขภาพ สถานที่ตั้งของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ อันเป็นสถานที่ค่อนข้างปิดเข้าถึงไม่ง่าย มาจัดที่หอศิลป์ กทม. ตรงสี่แยกปทุมวัน อันเป็นสถานที่เปิดและย่านพาณิชย์ใจกลางเมืองที่มีผู้คนมากมายเดินทางผ่านอย่างจอแจ ทำให้ดึงดูดความสนใจจากประชาชนทั่วไปเข้ามาร่วมงานมากขึ้น

 

คุณภักดี กล่อมนาค ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร

 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส.

เมื่อคุณภักดี กล่อมนาค ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับ และดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวเปิดงาน เสร็จสิ้นแล้ว  การประชุมก็ได้เข้าสู่เนื้อหาทางวิชาการ เริ่มต้นด้วยการนำเสนอเรื่อง Cycling in Taipei: A Healthier, Greener and more Sustainable Living Style (การใช้จักรยานในไทเป: วิถีการใช้ชีวิตที่ดีกว่าต่อสุขภาพ ต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืนกว่าด้วย) โดย Cheng-sheng Pong  ผู้ตรวจการ สำนักโยธาธิการของรัฐบาลนครไทเป ไต้หวัน (ผู้ตรวจการ หรือ Commissioner เป็นตำแหน่งการเมือง แต่งตั้งโดยนายกเทศมนตรี อยู่เหนือผู้อำนวยการสำนักซึ่งเป็นข้าราชการประจำในการปฏิบัติงาน ตำแหน่งนี้อาจเทียบได้กับรองผู้ว่าราชการของกรุงเทพมหานคร – ผู้รายงาน) ผู้ตรวจการปงใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงเล่าถึงความเป็นมา พัฒนาการ และอนาคตของการส่งเสริมการใช้จักรยานของรัฐบาลนครไทเป โดยมีรายละเอียดมากมาย เฉพาะภาพประกอบที่นำมาฉายก็มีมากกว่า ๖๐ ภาพ 

Cheng-sheng Pong  ผู้ตรวจการ สำนักโยธาธิการของรัฐบาลนครไทเป ไต้หวัน

เขากล่าวสรุปปิดท้ายว่า การพัฒนาสภาพแวดล้อมการใช้จักรยานในไทเป(ซึ่งก็เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ – ผู้รายงาน)ขึ้นอยู่อย่างมากกับความหนาแน่นของประชากร สภาพการจราจร และเงื่อนไขทางสังคม และชี้ว่า วิธีการทำงานแบบบนลงล่างอย่างที่ใช้กันมาเดิมๆไม่สามารถรับมือกับความท้าทายที่รัฐบาลไทเปเผชิญในการสร้างเมืองจักรยานได้  เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการทำให้ไทเปเป็นเมืองจักรยานที่น่าอยู่และยั่งยืน รัฐบาลนครไทเปต้องร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งประชาชนในท้องถิ่นและผู้ประกอบการธุรกิจ ต้องได้รับการสนับสนุนจากสาขาวิชาต่างๆ  เขาย้ำดังที่กล่าวถึงหลายครั้งตลอดการนำเสนอว่า การมีส่วนร่วมของสาธารณะชนและการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนกันนั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้  นอกจากนั้นจำเป็นต้องมีการนำที่ดีและความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะทำงานอย่างอุทิศตัวในระยะยาว   และเมื่อมองไปรอบๆ จะพบว่า นครแต่ละแห่งเผชิญกับความท้าทายและโอกาสไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรเรียนรู้จากกันและกันในการที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการสร้างเมืองจักรยานที่น่าอยู่และยั่งยืน 

ในส่วนการนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยทางวิชาการของคนไทย เป็นการเสนอด้วยวาจา ๑๔ เรื่อง ซึ่งคณะกรรมการฝ่ายวิชาการได้จัดกลุ่มและแบ่งการนำเสนอออกเป็น ๖ กลุ่มใน ๖ ห้องย่อย ได้แก่ (๑) กฎหมายและนโยบาย (๒) ระบบโครงสร้างพื้นฐาน (๓) ระบบขนส่งและการเชื่อมต่อ (๔) ทัศนคติและพฤติกรรม (๕) สุขภาพและสังคม และ (๖) ท่องเที่ยว/ชุมชน/ภาคเครือข่าย  สามกลุ่มแรกนำเสนอในช่วงเช้าและสามกลุ่มหลังนำเสนอในช่วงบ่าย  นอกจากนั้นเช่นเดียวกับการประชุมวิชาการที่มีระดับทั้งหลาย ยังมีการนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์อีก ๕ เรื่องด้วย  ผลงานการศึกษาวิจัยเหล่านี้บางเรื่องสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ช่วยในการทำงานส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้ในทันที บางเรื่องจุดประกายว่าควรมีการขยายผลศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้มีองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้เพิ่มขึ้นในบริบทสังคมไทย  ตัวอย่างการศึกษาวิจัยที่น่าสนใจก็มีเช่น ยุทธศาสตร์การรณรงค์เพื่อให้เกิดการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, พฤติกรรมป้องกันอุบัติเหตุในการใช้จักรยานบริเวณเขตชุมชนเมืองกรุงเทพมหานคร, การนำมาตรการแบบอ่อนไปใช้ในการส่งเสริมการใช้จักรยาน และข้อเสนอแนะในการพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างการเดินทางโดยจักรยานกับระบบขนส่งสาธารณะเพื่อส่งเสริมให้คนกรุงเทพฯ หันมาใช้จักรยานเพื่อการคมนาคมในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

  

  

บรรยากาศการประชุมกลุ่มย่อย

การนำเสนอเรื่อง “การใช้จักรยานในไทเป” และการศึกษาวิจัยแต่ละเรื่องมีเนื้อหาที่น่าสนใจและรายละเอียดมากมาย ไม่อาจนำมาเสนอในรายงานข่าวนี้ได้ ท่านที่สนใจกรุณาติดต่อไปที่สำนักงานชมรมฯ โทร:๐๒ ๖๑๘ ๔๔๓๔, ๐๒ ๖๑๘ ๕๙๙๐ โทรสาร:๐๒ ๖๑๘ ๔๔๓๐  อีเมล: tcc@thaicyclingclub.org

เสร็จจากงานในส่วนวิชาการของการประชุมแล้ว ในช่วงเย็น บริเวณลานหน้าหอศิลป์ กทม. มีการประกาศผลการประกวดการออกแบบเครื่องแต่งกายเพื่อใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน พร้อมการเดินแบบ โดยรางวัลชนะเลิศได้แก่ผลงานที่ชื่อ “Urban Rider” ของคุณชัญญานุช บูรณ์เจริญ ที่ได้รับเงินรางวัลไป ๓๐,๐๐๐ บาท, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๑ เงินรางวัล ๒๐,๐๐๐ บาท ตกเป็นของ คุณอภิสิทธิ์ จ่าสะอาด เจ้าของผลงานชื่อ “หนุมาน” และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๒ เงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท เป็นของคุณธัญรัชต์ บรมวงศ์ไพศาล สำหรับผลงานชื่อ “รักษ์โลก ลดใช้พลังงาน”  นอกจากนั้นยังมีรางวัลชมเชย ๕,๐๐๐ บาทอีก ๒ รางวัล ได้แก่ผลงาน “ผ้าพื้นเมืองกับการออกแบบชุดจักรยาน” ของคุณคริษฐา จึงศรีรัตนสกุล และผลงานชื่อ “Flores Sense” ของคุณมานิตย์ เจกะบุตร

  

(ซ้าย)“Urban Rider” ของคุณชัญญานุช บูรณ์เจริญ  (ขวา)“หนุมาน” ของคุณอภิสิทธิ์ จ่าสะอาด

  

(ซ้าย)“รักษ์โลก ลดใช้พลังงาน” ของคุณธัญรัชต์ บรมวงศ์ไพศาล  (ขวา)“Flores Sense” ของคุณมานิตย์ เจกะบุตร 

“ผ้าพื้นเมืองกับการออกแบบชุดจักรยาน” ของคุณคริษฐา จึงศรีรัตนสกุล

นอกจากนั้นตลอดทั้งวันตั้งแต่ช่วงเช้า ยังมีนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้เข้าร่วมการประชุม คนทั่วไปที่เข้าไปใช้หอศิลป์ฯ และผู้ผ่านไปผ่านมาภายนอก ได้เยี่ยมชมพูดคุยซักถามแลกเปลี่ยนอีกมากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการขององค์กรร่วมจัด เช่น นิทรรศการการสร้างเมือง-ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะของชมรมฯ, โครงการผ้าป่าเพื่อหมาแมว  และกิจกรรมจักรยานกับงานอาสาเพื่อสังคมอื่นๆ, เดิน-จักรยาน กับการสร้างงานศิลปะ, การแสดงการขี่จักรยาน, การแสดงดนตรี ฯลฯ หรือแม้กระทั่งแค่ถ่ายภาพกับฉากที่ทำมาเป็นพิเศษอย่างสวยงาม  กิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปจนถึงช่วงหัวค่ำ

และดังที่เคยจัดมาเป็นประเพณีตั้งแต่ปีแรก ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศได้จัดกิจกรรมเดินและขี่จักรยานเที่ยวชมกรุงเทพฯในวันถัดจากวันจัดการประชุมให้ผู้ร่วมประชุมที่มาจากทั่วประเทศเข้าร่วมได้ตามความสมัครใจ ในปี ๒๕๕๙ นี้เป็นการปั่น-เดินไปเรียนรู้วิถีชุมชนคนไทยเชื้อสายจีน ย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ มีผู้เข้าร่วม ๒๐ คนรวมทั้งผู้พิการที่ใช้รถเข็นไฟฟ้า ๑ คน/คันด้วย  การเดินทางเริ่มต้นที่จัตุรัสจามจุรี สามย่าน ด้วยจักรยานสาธารณะปันปั่นไปที่สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ และออกเดินชมอาคารสถานที่ต่างๆ ในย่านตลาดน้อย ซึ่งคณะของเราได้รับการต้อนรับจากอบอุ่นจากผู้นำชุมชนตลาดน้อยที่ชมรมฯ ต้องขอกล่าวขอบพระคุณไว้อีกครั้งหนึ่งในที่นี้ ได้แก่คุณสุรีย์ ฤกษ์ศิริสุข, คุณรุ่งกัน เฉลิมวิริยะ, คุณแสงเทียน สุนันตา และคุณจุฤทธิ์ กังวานภูมิ ซึ่งท่านสุดท้ายนี้เป็นผู้นำทางและบรรยายให้ความรู้ต่างๆ มากมายแก่คณะของเรา (ส่วนสุภาพสตรีอีกสามท่านแยกย้ายไปนำทางและบรรยายให้กับคณะอื่นที่เข้ามาเยี่ยมชมย่านชุมชนอีกหลายคณะในเวลาเดียวกัน) การเดินนำคณะเราผ่านอาคารเก่ามากมาย โดยที่ได้เข้าไปชมภายในและรับฟังการบรรยายมากบ้างน้อยบ้างในเวลาอันจำกัดที่มีได้แก่ วัดอุภัยราชบำรุง (วัดญวณตลาดน้อย), วัดปทุมคงคารามราชวรวิหาร, บ้านเอ๊งฮอกต๋อง (บ้านสุขนิรันดร์ของตระกูลตันติเวชกุล), ศาลเจ้าโจวซือกง, ศาลเจ้าโรงเกือก, วัดแม่พระลูกประคำ (วัดกาลหว่าร์) และวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ซึ่งเราได้ชมพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร พระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่ที่สุดในโลกที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ พร้อมฟังคำบรรยายจากเจ้าหน้าที่ของวัดเกี่ยวกับองค์พระและประวัติศาสตร์ของชุมชนคนจีนย่านตลาดน้อยที่มีนิทรรศการจัดแสดงไว้อย่างน่าสนใจยิ่งอีกด้วย  กิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลาประมาณบ่ายสามโมง

รายงานโดย  กวิน ชุติมา  กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

หมายเหตุชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศเริ่มจัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนให้มีการสร้างและนำองค์ความรู้ที่เป็นวิชาการมาใช้ในการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในบริบทของสังคมไทยเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๕๖ และจัดต่อเนื่องเป็นประจำมาทุกปี ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย และโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน  ติดตามข่าวการจัดประชุมครั้งที่ ๕ ในปี ๒๕๖๐ ได้ในเว็บไซต์และเฟสบุ๊กของชมรมฯ (www.thaicyclingclub.org, www.facebook.com/thaicycling)    

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น