Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชี้ ‘ทางเดินเท้า’ ช่วยเพิ่มผู้ใช้รถไฟฟ้า

ชี้ ‘ทางเดินเท้า’ ช่วยเพิ่มผู้ใช้รถไฟฟ้า

ชี้ ‘ทางเดินเท้า’ ช่วยเพิ่มผู้ใช้รถไฟฟ้า

                    รศ.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับทุนวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติศึกษาเรื่อง “แนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบสถานีขนส่งมวลชนระบบรางที่เอื้อต่อการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน” เตรียมความพร้อมรองรับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ซึ่งในอนาคตจะมีส่วนต่อขยายไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และจะสิ้นสุดที่สถานีบ้านภาชี พระนครศรีอยุธยา

                    รศ.ภาวิณี กล่าวว่า ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองจะทำให้การเดินทางระหว่างพื้นที่เมืองกับชานเมืองมีความสะดวกสบาย สามารถกำหนดเวลาการเดินทางได้ มีผลทำให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัว ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

                    “หลายประเทศประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีเป็นศูนย์พานิชยกรรมสำคัญทั้งฮ่องกง สหรัฐ สิงคโปร์และญี่ปุ่น จึงเป็นบทเรียนให้กับประเทศไทย การออกแบบสถานีมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกแบบเส้นทางระบบขนส่งมวลชนประเภทต่างๆ ยกตัวอย่าง สถานีรถไฟฟ้าในเมืองแดนเวอร์ประเทศสหรัฐ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้า”

                    โดยเพิ่มกิจกรรมในเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งรวมทั้งถนน พื้นที่โล่ง บริเวณที่ว่างระหว่างอาคาร เพื่อดึงดูดผู้คนออกจากบ้านและใช้พื้นที่สาธารณะ ทั้งยังทำให้รู้สึกปลอดภัยในการเดินเท้าไปยังสถานี เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ต่างวางแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เหมาะสมกับการเข้าถึงด้วยการเดินเท้าหรือจักรยาน ซึ่งผลเป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ของระบบรางไม่ใช่คนขับรถยนต์ แต่เป็นคนเดินเท้าและขี่จักรยานมายังสถานี

                    “เพราะทุกคนไม่อยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้สะดวก จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ไกลเข้าถึงได้สะดวก จึงจะต้องมีการออกแบบชุมชนเมือง ผังเมือง ทางเดินเท้า ทางเดินจักรยาน รวมทั้งคำนึงถึงสัดส่วนอาการที่อยู่อาศัยและกลุ่มอาคารต่างๆ ต้องมีความหนาแน่นที่เหมาะสม ทำให้เกิดภาวะสบายที่จะอยู่ภายนอกอาคารอย่างแท้จริง” นักวิจัยกล่าวว่าในการศึกษาพบว่า ระยะทางในรัศมี 400-800 เมตร จากสถานีนั้นเป็นระยะทางที่ประชาชนสามารถเดินเท้าได้โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 5 นาที

                    ดังนั้น ในการออกแบบภูมิทัศน์จะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเดินเท้า เช่น ความปลอดภัยความกว้างของทางเดินที่เหมาะสม บรรยากาศความร่มรื่นสองข้างทาง ความมีพื้นที่โล่ง มีมุมขายเครื่องดื่มหรือสิ่งพิมพ์ ห้องน้ำ และมีไฟส่องสว่างที่เพียงพอ

                    ทั้งนี้ หากโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกันหมด จะส่งผลให้พฤติกรรมด้านที่อยู่อาศัยของหนุ่มสาวรุ่นใหม่เปลี่ยนไปโดยไม่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ ไม่ต้องอาศัยอยู่ในคอนโดย่านกลางใจเมือง พฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจะขยับออกมาอยู่ชานเมืองมากขึ้น และใช้บริการระบบรางในการเดินทาง

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2559

รูปภาพประกอบโดย ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น